รัชกาลที่ 6 กับพระราชกรณียกิจด้านกฎหมาย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

รัชกาลที่ 6 คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา ครองราชสมบัติรวม 15 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า” (พระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมปราชญ์) พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

พ.ศ.2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกอปรด้วยพระราชกรณียกิจหลายด้าน อาทิ ด้านการปกครอง โปรดให้จัดตั้งกระทรวงใหม่ คือ กระทรวง
มุรธาธิการ และกระทรวงพาณิชย์ ด้านการศึกษา โปรดให้ปฏิรูปการศึกษาต่อเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรมทรงพระราชนิพนธ์งานวรรณกรรมประเภทต่างๆ หลายเรื่อง

Advertisement

สำหรับด้านกฎหมาย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญในสองส่วน ได้แก่ การตรากฎหมายและการส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย

การตรากฎหมาย

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตรากฎหมายหลายฉบับที่สำคัญขอยกมา 3 ฉบับ ได้แก่

Advertisement

1.พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456

นับแต่โบราณมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) คนไทยเราไม่เคยมีนามสกุลใช้มาก่อน มีเพียงชื่อเรียกเดี่ยวๆ แถมแต่ละคนยังมีชื่อเรียกซ้ำกันอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456” ขึ้น โดยออกประกาศในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2455 ด้วยทรงดำริเห็นว่าคนไทยทุกคนควรจะมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อช่วยกำหนดตัวบุคคลให้แน่นอนกว่าการเรียกชื่อเพียงอย่างเดียว และทรงวางหลักสำคัญในการสืบสกุลไว้โดยถือเอาสายสัมพันธ์ทางบิดาผู้ให้กำเนิดแต่ฝ่ายเดียว นอกจากการจัดตั้งนามสกุลจะเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมตามโลกตะวันตกแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าของสกุลประพฤติแต่สิ่งดีงาม เพื่อรักษาเกียรติของสกุล ตลอดจนเป็นหลักของการสืบเชื้อสาย และก่อให้เกิดความเป็นหมู่คณะด้วย

กฎหมายฉบับนี้มีการประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2456 เป็นต้นไป แต่มีเหตุให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 2 คราว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานผู้ทำทะเบียนและผู้ที่เลือกจัดตั้งนามสกุล โดย “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ.2456” ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2458

เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุลแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงศึกษาถึงความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันของแต่ละสกุล โดยละเอียด หากทรงพบว่าบรรพบุรุษได้ทำคุณงามความดี มีวิทยฐานะและอาชีพใด ก็จะทรงแปลงคำมาจัดสรรให้ได้มงคลนามที่ไพเราะเหมาะสม

จากต้นกำเนิดกฎหมายนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้พัฒนาถึงพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อบุคคลไว้ดังนี้

(1) ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี
(2) ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการีหรือผู้สืบสันดาน
(3) ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทานของพระมหากษัตริย์ หรือสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
(4) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
(5) มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม
(6) ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า “ณ” นำหน้า ชื่อสกุล

2.พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464

กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2464 เพื่อวางระเบียบการจัดการประถมศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ครอบคลุมโรงเรียนประถมศึกษาทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนราษฎร์

คำว่า “โรงเรียนประถมศึกษา” หมายความทั้งโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนประชาบาล และโรงเรียนราษฎร์

คำว่า “โรงเรียนรัฐบาล” หมายความว่าโรงเรียนประถมศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งและดำรงอยู่ด้วยเงินในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการทั้งสิ้น

คำว่า “โรงเรียนประชาบาล” หมายความว่าโรงเรียนประถมศึกษาที่ประชาชนอำเภอหนึ่งหรือตำบลหนึ่งตั้งและดำรงอยู่ด้วยทุนทรัพย์ของประชาชนที่ว่านั้น อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการในหมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านเดียวกัน หรือตำบลหนึ่งตำบลเดียวกัน จะตั้งและดำรงโรงเรียนประชาบาลอยู่มากกว่าโรงเรียนหนึ่งก็ได้ ถ้าเป็นการจำเป็น

คำว่า “โรงเรียนราษฎร์” หมายความว่าโรงเรียนประถมศึกษาที่บุคคลคนเดียวหรือหลายคนรวมกันตั้งและดำรงอยู่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์

มาตรา 5 บัญญัติให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาจนอายุได้ 14 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นในบางพื้นที่

มาตรา 7 เมื่อเด็กคนใดอายุได้ 14 ปีบริบูรณ์ ยังอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้พอสมควร ให้ขยายการบังคับออกไปจนกว่าเด็กคนนั้นจะอ่านและเขียนภาษาไทยได้ ยกเว้นเด็กที่บกพร่องทางสมอง

มาตรา 5 และมาตรา 7 คือ การศึกษาภาคบังคับที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ 9 ปี นั่นเอง

3.กฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงพระทัยเกี่ยวกับเหตุยุ่งยากแก่งแย่งกันขึ้นในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อทางเจริญแห่งราชอาณาจักร ทั้งเป็นโอกาสให้ศัตรูทั้งภายนอกภายในได้ใจคิดประทุษร้ายต่อราชตระกูล และอิสรภาพแห่งประเทศสยาม นำความหายนะมาสู่ชาติไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงข้อความเหล่านี้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีนิติธรรมกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นไว้เพื่อจะได้ตัดความยุ่งยากแก่งแย่งกันภายในพระราชวงศ์ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทขึ้นไว้โดยแน่นอน ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนี้

อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามควรต้องทรงเป็นผู้ที่อาณาประชาชนมีความเคารพนับถือ และไว้วางใจได้โดยบริบูรณ์ทุกสถาน ฉะนั้น จึงทรงพระราชดำริว่า พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดมีข้อบกพร่องสำคัญบางอย่างในพระองค์แล้ว ก็ไม่ควรให้อยู่ในเกณฑ์สืบราชสันตติวงศ์ เพราะอาจจะเป็นเหตุให้บังเกิดความไม่เรียบร้อยหรือเดือดร้อนแก่อาณาประชาชนได้ หรืออาจถึงแก่นำความหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรได้

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ การตั้งและถอดถอนพระรัชทายาท การกำหนดลำดับชั้นผู้ควรสืบสันตติวงศ์ ผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบสันตติวงศ์ กรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ การแก้กฎมณเทียรบาล และผู้ทำหน้าที่รักษาการกฎมณเทียรบาล

อนึ่ง จากกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ที่กล่าวมานั้น มีข้อสังเกตเกี่ยวกับปีที่นำมาใช้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยกเลิกการใช้รัตนโกสินทร์ศักราช (ร.ศ.) มาเป็น พุทธศักราช และพระพุทธศักราช เพื่อให้สอดคล้องกับพระพุทธศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ

การส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย

คือการกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย อาทิ ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ตำรวจ และนักกฎหมายอื่นๆ ซึ่งมีองค์กรหลักในการส่งเสริมวิชาชีพกฎหมาย ได้แก่ เนติบัณฑิตยสภา

เนติบัณฑิตยสภามีกำเนิดสืบเนื่องมาจากโรงเรียนกฎหมาย เนื่องมาแต่พระบรมราโชบายแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสงค์ให้ราชการยุติธรรมเป็นไปด้วยดีตามความต้องการของประเทศ โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ร.ศ.110 (พ.ศ.2434) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์) เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์แรก ประมาณ 2 ปีต่อมาก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปราชการทางยุโรป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในปี ร.ศ.113 (พ.ศ. 2437) แต่พระองค์ประชวรบ่อยๆ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งหลังจากนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒน์ศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ร.ศ.114 (พ.ศ.2439) เมื่อจัดระเบียบงานศาลให้ดีขึ้นแล้ว พระองค์ได้สนองพระราชประสงค์ของพระราชบิดา โดยทรงจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเมื่อ ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) และมีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกในปีเดียวกันนั้นเอง

ประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร เป็นผู้กำกับดูแลราชการในศาลหลวงและกระทรวงยุติธรรม แต่ทรงกำกับดูแลได้เพียง 2 หรือ 3 เดือน ก็มีเหตุโศกเศร้าอันยิ่งใหญ่แก่ชาติไทย เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรพระโรคธาตุพิการมาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ร.ศ.129 ถึงวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม ร.ศ.129 เวลา 2 ยาว 45 นาที เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ผู้เป็นรัชทายาท สืบพระบรมราชสันตติวงศ์ดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์ต้องปลดราชการศาลและกระทรวงยุติธรรมไปรับหน้าที่ราชภาระ ต้องพรากจากผู้พิพากษาตุลาการไปในเวลากำลังจะได้ทอดสนิทและคิดจัดวางการลงเป็นหลักฐาน เวลาที่ได้รับราชการนั้นน้อยเดือน และยังผูกใจเป็นห่วงใยอยู่เนืองๆ ด้วยเห็นว่าราชการยุติธรรมเป็นพนักงานสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งจะบำรุงรักษาบ้านเมืองให้รุ่งเรืองสมบูรณ์

เมื่อโรงเรียนกฎหมายเปิดสอนมาได้ 17 ปี มีเนติบัณฑิตมากขึ้น และแยกย้ายประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย คือ ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริจัดการตั้งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อประสงค์บำรุงการศึกษาวิชากฎหมาย ทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม ให้สาธารณชนได้อาศัยทนายความซึ่งมีความสามารถและสมควรจะเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากการส่งเสริมวิชาชีพกฎหมายด้วยการกำกับดูแลความประพฤติของกฎหมายแล้ว ยังมีมาตรการสร้างความรู้ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาและพนักงานอัยการต้องสอบได้เป็นเนติบัณฑิตทางกฎหมาย ซึ่งได้พัฒนาการจากการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตรุ่นแรกมาสู่รุ่นปัจจุบัน

สรุปภาพรวม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงมีคุณูปการต่อวงการกฎหมายไทย อย่างอเนกอนันต์ จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณไว้หลายแห่ง ทั่วประเทศ เช่น สวนลุมพินี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา เป็นต้น โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดให้ใช้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวัน ร่วมรำลึก แต่มีหลักฐานปรากฏการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 6 คือ 1.45 นาฬิกา ของวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468

ในการนี้เนติบัณฑิตยสภาขอเชิญนักกฎหมายร่วมรำลึก วางพวงมาลาหน้าพระรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ที่ทำการเนติบัณฑิตยสภา เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา 07.00-15.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 พร้อมกันนี้ขอเชิญชมนิทรรศการที่ชั้น 1 ของอาคารเนติบัณฑิตยสภาด้วย

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image