ที่เห็นและเป็นไป : เหตุเกิดที่ไปรษณีย์ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

มีข่าวข่าวหนึ่งที่อ่านแล้วรู้สึกแปลกๆ

บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) ถึงวาระที่ต้องสรรหา “กรรมการผู้จัดการใหญ่” คนใหม่

โดยขั้นตอนคือตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้น แล้วเปิดรับสมัคร ให้ผู้สมัครส่งประวัติการทำงาน และคุณสมบัติเข้ามา เพื่อคัดเลือกในเบื้องต้นว่าใครมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ที่วางไว้บ้าง เพื่อคณะกรรมการสรรหาจะได้เรียกบุคคลที่ผ่านเกณฑ์มาพูดคุย สอบสัมภาษณ์ หรือให้แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะทำงานในตำแหน่งที่สมัครอย่างไร

แล้วตัดสินว่าจะเลือกใครให้เข้ามาทำหน้าที่

Advertisement

นั่นเป็นหลักการที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้บริหารบริษัทที่เป็นของราชการ หรือพัฒนามาจากรัฐวิสาหกิจจะต้องทำ

เรื่องที่เกิดกับบริษัทไปรษณีย์ฯ ที่ทำให้สะดุดความคิดคือ

เปิดรับสมัครคนที่ประสงค์จะเข้าทดสอบแข่งขัน ในตำแหน่งนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 1-18 ตุลาคมที่ผ่านมา

Advertisement

มีผู้ส่งชื่อสมัครเรียบร้อยทั้งหมด 5 คน

จู่ๆ กรรมการประกาศ เปิดรับสมัครเพิ่มในช่วง 11-22 พ.ย. ขยายเวลารับใบสมัครขึ้นมาอีก

เหตุผลที่เล่าๆ ให้กันฟังคือผู้สมัคร 5 คน ยังไม่เพียงพอที่จะคัดเลือก จึงต้องเปิดรับสมัครเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถคัดเลือกได้หลากหลาย

มีการพูดอย่างหนักแน่นว่า “หากไม่มีผู้มาสมัครเพิ่ม อาจจะต้องขยายเวลาไปจนกว่าบุคคลที่คณะกรรมการไปเจรจาให้มาสมัครจะตัดสินใจมาสมัคร และหากไม่มาสมัครจะมีการตั้งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นมารักษาการแทน”

หากเรื่องราวเป็นไปอย่างที่เล่ากันมานี้จริงย่อมเป็นวิธีการจัดการที่น่าคิดว่าถูกต้องกับเจตนารมณ์ของการสรรหาหรือไม่

การให้ผู้ประสงค์จะมาดำรงตำแหน่งมายื่นใบสมัครก็เพราะต้องการผู้ที่เต็มใจที่จะเข้ามาทำงานโดยการเสนอตัวเข้ามาให้คัดเลือก

น่าจะเป็นเจตนารมณ์ที่ไม่ต้องการให้คณะกรรมการนึกอยากจะแต่งตั้งใครก็ได้ ซึ่งเป็นที่มาของระบบเส้นสาย หรืออาจจะเลยไปถึงการซื้อขายตำแหน่ง

การให้เข้ามาสมัครเองโดยเต็มใจจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้การที่คณะกรรมการใช้วิธีทาบทามบางคนให้มาสมัครในตำแหน่งเช่นนี้ เป็นประเพณีที่ทำต่อกันมา จนกลายเป็นความถูกต้องเหมาะควรไปแล้ว

ทั้งที่การไปทาบทามเอาเข้าจริงแล้วไม่ต่างอะไรกับการแต่งตั้งโดยไม่ต้องสรรหา

เพราะเมื่อไปทาบทามมา ย่อมเป็นธรรมดาที่คณะกรรมการจะมีความโน้มเอียงที่จะให้บุคคลผู้นั้นผ่านการคัดเลือก

ทำให้คนที่ได้รับการทาบทามสามารถยื่นเงื่อนไขได้ ซึ่งเป็นการได้เปรียบผู้สมัครคนอื่น

อีกทั้งในกระบวนการทาบทาม ยากที่จะตรวจสอบได้ว่ามีการยื่นเงื่อนไขอะไรกัน มีเรื่องราวของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

เป็นการเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของการให้มาสมัครอย่างเต็มใจ เพื่อคัดเลือกอย่างโปร่งใส

แต่ทั้งที่เป็นการสรรหาที่ดูแล้วน่าจะเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่กลายเป็นว่าในทางปฏิบัติของหน่วยงานในลักษณะนี้ ทำกันแบบนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติ

อยากได้ใครก็ไปจิ้มให้มาสมัคร

ส่วนคนที่กระตือรือร้นมาสมัครอย่างเต็มใจ กลับกลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าอะไร หากยังทาบทามไม่ได้ก็ขยายเวลาไปเรื่อยๆ โดยตั้งรักษาการเพื่อยื้อเวลาไป

คำถามคือว่าถ้าจะแต่งตั้งกันด้วยพฤติกรรมแบบนี้ เจตนารมณ์ของการสรรหาจะมีคุณค่าอะไร เพราะในที่สุดแล้วเป็นการจิ้มตัว ที่เสี่ยงกับการแต่งตั้งโดยแลกเปลี่ยนเงื่อนไข เป็นระบบเส้นสาย “ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร” ไม่ได้ขึ้นกับความรู้ความสามารถอยู่ดี

แล้วจะมีระบบสรรหาไว้ทำอะไร เพราะถึงที่สุดแล้วไม่ใช่การคัดกรองที่ความรู้ความสามารถอยู่ดี

การใช้อำนาจตามใจ ทำให้การเบี่ยงเบนกลายเป็นความปกติ

แต่ถึงวันนี้ เมื่อการบริหารประเทศมีกลไกที่โยงกับประชาชน คือ “สภาผู้แทนราษฎร” เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ

บทบาทของ “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ควรอย่างยิ่งที่จะมาตรวจสอบให้การสรรหาเป็นระบบไม่เบี่ยงเบนไปเป็นการใช้อำนาจแต่งตั้งตามอำเภอใจ

คณะกรรมาธิการการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ควรจะนำเรื่องวิธีการสรรหาผู้บริหารไปตรวจสอบว่า การเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ดังที่ว่า ซุกซ่อนความไม่ชอบมาพากลอะไรอยู่หรือไม่

เรื่องแบบนี้หากมองว่าธรรมดาย่อมเห็นเป็นธรรมดาของอำนาจ

แต่หากมองด้วยสายตาของผู้รักความถูกต้อง ย่อมเห็นความไม่ปกติ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image