พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน‘เริ่มอบรมภิกษุสามเณร’ (ตอนที่ 12) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 28 เริ่มอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเด็ดเดี่ยวจริงจัง ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ อ.ผือ จ.อุดรธานี พ.ศ.2462 : ท่านจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านค้อ อำเภอผือ เป็นปีที่เริ่มแนะนำข้อปฏิบัติแก่พระภิกษุเป็นส่วนมาก ซึ่งปรากฏว่าท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม ท่านอาจารย์แหวน สุจิณฺโณ ท่านอาจารย์หนูใหญ่ ได้ติดตามมาปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ท่านได้แนะนำเพื่อความก้าวหน้าแห่งการดำเนินจิตเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากท่านทุกองค์เหล่านี้ ได้บำเพ็ญได้ผลในทางปฏิบัติกันมาแล้ว เพียงเพื่อจะอบรมให้เกิดความแก่กล้าขึ้นเท่านั้น ท่านได้แนะนำถึงข้อสำคัญในเรื่องความหลงในฌานว่า ผู้ต้องการพ้นทุกข์จริงๆ แล้วต้องไม่หลงในความเป็นเหล่านั้น ท่านได้อธิบายว่า ญาณ คือ ความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างความสงบ เป็นต้นว่า ญาณระลึกชาติหลังได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต รู้จักวาระจิตความนึกคิดของบุคคลอื่น เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาที่น่าอัศจรรย์มากทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้ว จะทำให้เกิดการเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม แต่ญาณเหล่านี้เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ ในอันที่จะดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจหรือการทรมานบุคคลบางคน แต่ว่าจะต้องรู้ว่ามันเป็นญาณ อย่ายินดีหรือติดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะเท่ากับว่ามันเป็นผลพลอยได้ เกิดจากการบำเพ็ญจิตเข้าสู่อริยสัจนั่นเอง ถ้าหากว่าเราไปยินดีหรือไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ แม้แต่พระเทวทัตในสมัยพุทธกาล ก็สำเร็จญาณถึง 5 ประการ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้สมกับความประสงค์ แต่หลงอยู่ในความรู้ญาณของตน เกิดทิฐิมานะว่าตนเก่งตนดีถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว

แต่ที่ไหนได้ ในที่สุดโดยอาศัยความหลงญาณ กลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง ไม่พ้นทุกข์ ไม่เข้าถึงอริยสัจ แต่กลับตกนรกไปเลย ท่านอาจารย์มั่นท่านเน้นว่า ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริงๆ เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็นทั้งสว่างผ่องใส ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีตอนาคต ตามความประสงค์ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริงที่ไปติด ณ ที่นี้ เราจะสังเกตเห็นได้ตรงที่เกิดทิฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ การถือตัวว่าดีกว่าใครๆ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นครูบาอาจารย์หรือเพื่อนสหธรรมมิกหรือศิษย์ หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้ ทิฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ตัวของตัวเองไม่รู้ตัวเอง

ซึ่งท่านอาจารย์มั่นท่านเปรียบว่ามีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกินอยู่ในท้องทะเล มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ไหน เมื่อมันไม่รู้ มันเห็นหางของมัน มันก็กินหางของมัน กินไปๆ จนเหลือแต่หัว เลยหม่ำซ้ำหมดเลย และท่านก็อธิบายว่าการหลงตัวด้วยญาณนี้มันละเอียดนัก เราจะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือการขาดจากความรอบคอบบางสิ่งบางประการ

Advertisement

เพราะเหตุแห่งการถือตัว เช่น การกล่าวคำดูถูกดูหมิ่นต่อเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน หรือต่อครูบาอาจารย์ของตน หรือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งตนไม่เห็นด้วยการดำเนินญาณทุกญาณ ท่านอาจารย์มั่นกล่าวว่า มันต้องเสื่อม มันจะคงตัวอยู่ได้ตลอดไป หาได้ไม่แม้จะใช้ความพยายามสักเท่าใดก็ตาม คือว่าครั้งแรกๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริงได้ แต่ต่อไปก็เลือนเข้าๆ กลับกลายเป็นความนึกคิด โดยอาศัยสัญญาเก่านี้คือ ความเสื่อมแห่งญาณ ลูกศิษย์ก็มีหลายองค์ ที่ต้องเสื่อมลงจากญาณเหล่านี้อย่างเสียดาย

ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสื่อม จึงต้องรีบดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจเสียเลย เพราะความที่จิตเข้าสู่อริยสัจได้แล้ว มันก็ห่างจากความเสื่อมไปทุกทีๆ

ท่านยกตัวอย่างว่า ท่านหนูใหญ่อายุคราวเดียวกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไม่พยายามดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจ แต่ว่ามีวิญญาณแหลมคมดี เอาแต่ญาณภายนอกอย่างเดียว จึงเสื่อมไปได้ คือ ท่านอาจารย์หนูใหญ่นั้นปรากฏว่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วเกิดญาณรู้ความจริงบางอย่างได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นที่ปรึกษาแก่สหธรรมิกด้วยกันได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความรู้พิเศษเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก เมื่อหมู่คณะที่อยู่รวมสำนักกับท่าน ประพฤติผิดธรรมวินัยในข้อวัตรปฏิบัติ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ท่านสามารถรู้ได้ด้วยญาณของท่าน ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นแต่ประการใด เช่น ครั้งหนึ่งเวลาตอนบ่าย สามเณรทั้งหลายได้จัดน้ำปานะ (อัฏฐบาล) ถวายพระเวลาที่พระทั้งหลายกำลังดื่มอยู่นั้น ขณะนั้นท่านอาจารย์หนูใหญ่กำลังทำสมาธิอยู่ในความสงบ ได้ปรากฏเห็นพระเหล่านั้นในญาณของท่านว่า กำลังฉันอาหารกันอยู่ท่านจึงไปที่ท่ามกลางหมู่คณะนั้นจึงกล่าวว่า พวกเรากำลังฉันสิ่งของที่เจือด้วยอนามิสแน่ เพราะมันไม่บริสุทธิ์ ซึ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายกำลังฉันน้ำปานะกันอยู่ พากันสงสัย และสามเณรผู้ทำก็ยืนยันว่าบริสุทธิ์ไม่มีอะไร เพราะทำมากับมือ แต่อาจารย์หนูใหญ่ก็ยืนยันว่าไม่บริสุทธิ์แน่ จึงได้มีการตรวจค้นกันขึ้น ได้พบเมล็ดข้าวสุกติดอยู่ที่ก้นภาชนะนั้นจริงๆ เพราะเหตุนั้น หมู่คณะทั้งหลายจึงเกรงขามท่านมาก เพราะเมื่ออยู่ใกล้ๆ กับท่านแล้วต้องระวัง ระวังความนึกคิด เป็นเหตุให้เกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาก แต่นั่นแหละเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อท่านอาจารย์หนูใหญ่ได้ออกไปไกลจากอาจารย์มั่น ไม่ค่อยจะได้เข้าไปศึกษาบ่อยๆ เมื่อภายหลังได้เกิดญาณเสื่อมจากคุณธรรมส่วนยิ่ง โดยไม่รู้สึกตัว ต่อสู้กับกิเลสมากต่อไปไม่ได้ จึงลาสิกขาไปอยู่ในฆราวาสวิสัย ยอมอยู่ใต้อำนาจของกิเลสต่อไป

Advertisement

ท่านอาจารย์มั่นหลักจากเล่าความเป็นไปของท่านอาจารย์หนูใหญ่ให้เป็นตัวอย่างแล้ว ท่านก็เน้นลงไปอีกว่า บุคคลผู้ได้ญาณนี้แล้วถ้าเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว เพราะเท่ากับคนได้สมบัติมหาศาลแล้ว รักษาสมบัติไม่ได้ หรือใช้สมบัติไม่เป็น ไม่ได้ประโยชน์จากสมบัตินั้น ผู้ที่ได้ญาณก็เหมือนกันกว่าจะทำมันขึ้นมาได้แสนยากลำบากนัก แต่เมื่อได้มาแล้วไม่รู้จักรักษา และไม่รู้จักทำให้มันเป็นประโยชน์ จึงเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลายควรสังวรเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับเรื่องญาณหรือความสงบ ถ้าหากไปหลงมันเข้า ปล่อยให้เกิดแต่ความสงบอย่างเดียว ย่อมไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะได้ เพราะสถานที่นั้นเป็นที่สบายอย่างยิ่งและน่าอยู่ มันทำให้เกิดความสุขอย่างน่าพิศวง และเป็นสถานที่น่าคิดอยู่ของหมู่โยคาวจรทั้งหลายจริงๆ มิหนำซ้ำบางทีท่านก็หลงไป ถึงกับว่าที่นี่เองเป็นที่หมดไปจากกิเลส อันที่จริงแล้ว ที่นี่เองจำเป็นต้องแก้ไขตัวของตัวเองอย่างหนักเหมือนกันกับคนที่กำลังนอนสบาย และจะให้ทำงานหนัก ก็จำเป็นต้องทั้งบังคับทั้งปลอบ ท่านอาจารย์มั่นท่านชี้ตัวอย่าง ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี (พระนิโรธรงฺสี) ว่า ท่านเทสก์นี้ได้ติดอยู่ในญาณนี้นานยิ่งกว่าใครๆ ในระยะที่ท่านเทสก์หลงอยู่ในญาณนั้น เราได้พยายามแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้คลายจากความเป็นเช่นนั้น กว่าจะได้ผลต้องใช้เวลาถึง 12 ปี เพราะท่านอาจารย์เทสก์ได้ติดอยู่ในญาณถึง 12 ปี

ครั้นเมื่อท่านอาจารย์เทสก์แก้ไขตัวของท่านได้แล้วถึงกับอุทานว่า เราหลงไปถึง 12 ปี ถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิแก้ไขเราแล้ว ก็จะต้องติดไปจนตาย

ท่านอาจารย์มั่นได้เน้นหนักว่า การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี เพราะไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี หาทางแก้ไขได้ง่าย ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่ แก้ไขยาก ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง เพราะขั้นนี้มันเป็นปัญญา เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้น มีพร้อมทั้งเหตุและผล จนทำให้เชื่อเอาจนได้ จะไปว่าอะไรแต่อย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจอยู่แล้ว แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ ก็กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้ การเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือ โอภาโส แสงสว่าง ไม่มีประมาณ แสงสว่างที่เกิดจากจิตที่สงบยิ่งเกิดแสงสว่างขึ้น เป็นแสงสว่าที่จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก ผู้บำเพ็ญจิตเบื้องต้น พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิตเห็นแสงสว่างเท่านั้นไม่จัดเข้าในวิปัสสนูปกิเลส เพราะแสงสว่างที่จัดเข้าในวิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ แม้การเห็นเป็นธรรมชาติเป็นของจริงก็ตาม การที่จะถือเอาของจริงแม้นั้นก็ผิด เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับพิจารณาด้วยญาณต่างหาก ไม่ใช่จะให้ติดข้องพัวพัน ถ้าติดข้องก็เกิดเป็นกิเลส ก็เลยยึดเข้าไปหาว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้ เลยยิ่งเหลวไปใหญ่ แสงสว่างที่เห็นของจริงนี้ ท่านจึงจัดเป็นวิปัสสนูปกิเลส เพราะไปหลงเข้าแล้วหาว่าดี แม้เพียงเท่านี้ ความจริงมันเป็นเพียงเครื่องมือพิจารณาต่อไป ท่านจึงห้ามติด เช่น

โอภาส แสงสว่างไม่มีประมาณ เกิดขึ้นในขณะจิตสงบลึกซึ้ง มองเห็นชัดเจนเป็นแสงสว่าง จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก เหมือนบรรลุทิพจักขุญาณ เป็นต้น ญาณะ ความรู้ไม่มีประมาณ ความรู้ที่เกิดในขั้นต้น เป็นต้นว่า รู้ว่าจิตสงบหรือรู้เฉพาะหน้าบ้าง อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้ ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือ ความรู้ที่หยั่งรู้ว่าจิตเรานี้ว่ามีความสว่างจริง เช่น เห็นธาตุว่าเป็นธาตุจริงชนิดนี้ เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน แน่ล่ะ ถ้าจะเป็นของจริงเลยเข้าใจว่า รู้นี้เป็นธรรมแท้จึงเป็นกิเลส เป็นเหตุให้ถือตัว แต่ความจริงแล้ว ท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น มิใช่ให้ถือเอาความรู้ ก็เท่ากับถือเอาเครื่องมือว่าเป็นของจริ ปีติ ความอิ่มใจอันแรงกล้า ความอิ่มใจซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น ไม่จัดเข้าในชั้นนี้ ปีติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น คือ ความเยือกเย็น อันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเป็น เช่นเห็นว่าธาตุทั้งหลาย สักแต่ว่าธาตุเป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริงๆ ความปีติเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบ ก็จะได้พบ

เมื่อพบเข้า เลยเกิดความอิ่มใจอย่างแรกกล้า เข้าใจว่าเป็นของจริง ทำให้ติดเกิดกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือว่า เป็นธรรมพิเศษหรืออมตธรรม ก็เลยเป็นหนทางให้ยึด แล้วก็ทำให้เนิ่นช้า ท่านจึงห้ามติด ปัสสัทธิ ความสงบยิ่งการทำจิตสงบชั่วครั้งชั่วคราวของผู้เริ่มความเพียรไม่นับเข้าในชั้นนี้ ปัสสัทธิที่จัดเป็นวิปัสสนูป
กิเลสนั้น คือ ความสงบที่มีกำลัง อันอาจจะจำแนกธาตุออกไปได้ว่าธาตุนั้นเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นต้น เพราะสงบจริงจึงจะเห็นธาตุเป็นธาตุจริง

ซึ่งสามารถจะให้จิตหลง เพราะความสงบนี้เยือกเย็นมากขึ้นเป็นกำลัง แม้จะทำให้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ถ้าไปติดเพียงเท่านี้แล้ว ก็เข้าใจว่าเป็นของจริง กลับกลายเป็นกิเลส ท่านจึงห้ามติด สุขะ ความสุขอันลึกซึ้ง ความสุขเกิดแก่จิตของผู้ฝึกหัดใหม่นั้น แม้ครั้งสองครั้งหรือชั่วครั้งชั่วคราว ไม่จัดเข้าในชั้นนี้ สุขะที่จัดเป็นวิปัสสูปกิเลสนั้นเป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นลำดับความสุขนี้ จะมีชั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ ถ้าติดก็เป็นกิเลสเป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นั้น จะไม่ก้าวหน้าต่อไป ท่านจึงห้ามติด อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อของจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นฐิติธรรม อาศัยอวิชชาเป็นเครื่องปิดบังจึงไม่สามารถจะเข้าถึงได้ แต่เมื่อพอแก่ความต้องการแล้ว ก็เป็นอันว่าถึงได้แน่นอน เมื่อทำไม่พอแก่ความต้องการแล้วก็ถึงไม่ได้ เหมือนกับคนทั้งหลายจะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดสู่ “กรุงเทพฯ” เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่ แต่กรุงเทพฯ นั้นมีจริง พอเขาเดินทางมาถึงลำปาง เขาก็พากันน้อมใจ เชื่อว่าลำปางนี่แหละคือ กรุงเทพฯ เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟ โดยถือเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ

เมื่อน้อมใจเชื่อเช่นนี้ เป็นอันถึงกรุงเทพฯ ไม่ได้ กรุงเทพฯ มีจริงแต่ต้องขึ้นรถไฟ รถยนต์ จากเชียงใหม่ไปให้พอแก่ความต้องการ ก็จะต้องถึงจนได้ อันการบำเพ็ญจิตยิ่งบำเพ็ญยิ่งละเอียดขึ้นเป็นลำดับ น่าทึ่งน่าอัศจรรย์มากมายเหลือจะนับจะประมาณ มีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียว จึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมชั้นสูง โดยเหมือนกับธรรมผุดขึ้นมาบอกว่าถึงธรรมชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง ได้เห็นอริยสัจบ้าง ได้เห็นจะบรรลุบ้างอะไรมากมายที่จะเกิดขึ้น น้อมใจเชื่อมันแล้ว เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดี
ที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย ปัคคาหะความเพียรอาจหาญ การบำเพ็ญจิตจนเกิดความดี ความงามความที่ละเอียดอ่อน โดยอาศัยพลังงานแห่งจิต โดยที่ต้องการให้ถึงเร็ว เป็นการเร่งเกินแก่ความพอดี อุปัฏฐาน สติกล้า สตินี้ไม่น่าจะเป็นอุปกิเลส เพราะสตินี้เองสามารถดำเนินจิตให้ตั้งเที่ยงอยู่ได้

แต่ว่าไม่ว่าอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีสักเท่าไรก็ตาม ถ้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้ แม้สติกำหนดเพ่งกันเกินไป กำหนดอยู่ในกายานุปัสสานา ไม่รู้จักพักผ่อนเกินแก่ความต้องการ ไม่ช้าก็ต้องเลอะเลือน ธรรมดาการใช้สติกำหนด ต้องรู้จักพักตามสมควร เพราะถ้าไม่รู้จักพักแล้ว เมื่อมันเกิดความเลอะเลือนขึ้น ความสงสัยก็ตามมา ก็จะกลับกลายเป็นเป็นอุปกิเลสไป อุเบกขา ความวางเฉย การจัดอุเบกขาเป็นวิปัสสนูปกิเลส นั้นคือ การไปเข้าใจเอาเองว่า นี่เป็นวิมุตติธรรม หรือความละเอียดแห่งจิต เท่านี้ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูง เลยวางเฉย ถือว่าเป็นสิ่งแน่นอน ยังไม่ถึงอริยสัจเต็มที่ มาวางเฉยเสียก่อน เป็นการคำนึงเองหรือเป็นการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ท่านจึงจัดว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษในข้อนี้ อย่าไปวางเฉยเอาง่ายๆ ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน นิกันติ ความพอใจ ความพอใจแม้จะเป็นธรรมชั้นละเอียดก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการพอใจอยู่เพียงหนทาง ไม่เชื่อว่าพอใจในสถานที่ต้องการ เพราะการถึงสถานที่ที่ต้องการนั้น มิใช่เป็นความพอใจ แต่เป็นความจริง และของจริงนั้น เมื่อเป็นขึ้นย่อมเป็นสิ่งล่วงพ้นจากความพอใจที่จะพึงกำหนดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ถ้าทำความพอใจในธรรมละเอียดไม่ดี จะกลายเป็นอัตตวาทุปทานไปเสีย จะเสียงานใหญ่ ในการที่จะบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไป

พระอาจารย์มั่นท่านได้เน้นหนักลงไปถึง “ฌาน” และ “ญาณ” เน้นหนักมากในพรรษานี้ เพื่อให้ศิษย์ทั้งหลายได้สำเหนียกเพื่อความก้าวหน้าของตน (ติดตามตอนที่ 29 ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image