รัฐธรรมนูญ คืออำนาจอธิปไตยของปวงชน โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การแก้ไขกฎหมายที่สูงสุดของประเทศเช่นรัฐธรรมนูญมักไม่มีทางเป็นไปได้ ยิ่งต้องยกร่างใหม่ หรือเขียนขึ้นใหม่ ยิ่งไม่สมควร

แต่ประเทศไทยเป็นประเทศพิเศษ มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างนักการเมืองกับผู้กุมอำนาจรัฐด้วยกระบอกปืนมักขัดแย้งกันตลอดเวลา นับตั้งแต่ยึดอำนาจการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จากกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งผู้ยึดอำนาจขณะนั้นประกอบด้วยกำลังทหารและพลเรือน โดยยินยอมให้พลเรือนใช้แนวทางความคิดเป็นหลัก แล้วทหารเป็นฝ่ายใช้กำลังเข้ายึด

แต่แล้วเพียงปีเดียว ฝ่ายทหารกลับมีความคิดว่าฝ่ายพลเรือนจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ที่แม้มิได้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ยังยึดเอาระบอบนั้นมาเป็นแนวทางในการปกครองแผ่นดิน

จากแนวทางระบบเศรษฐกิจของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่คิดว่าฝ่ายพลเรือนจะนำมาใช้ในการบริหารปกครองประเทศ เป็นแนวทางความคิดที่จะล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้สิ้นไปจากประเทศไทย

Advertisement

กลุ่มทหารที่เป็นกำลังสำคัญขณะนั้นจึงหันไปสมคบคิดกับกลุ่มเสรีนิยมมีสหรัฐอเมริกาซึ่งต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์เป็นสำคัญ ทั้งรับความช่วยเหลือทางด้านการเงินและกำลังอาวุธเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งเริ่มแผ่ขยายอิทธิพลมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอินโดจีนเป็นสำคัญ

อาจเป็นเพราะความต้องการอำนวจ ทำให้ฝ่ายทหารลืมไปว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับประเทศจีนมากน้อยเพียงใด นับตั้งแต่ในอดีตที่มีคนจีนเข้ามาอาศัยในประเทศไทยนานกระทั่งวันนี้จนเป็นคนไทยไปแล้ว

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะผู้ปกครองประเทศหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเดินตามการเมืองการปกครองฟากตะวันตกมากเกินควร จึงทำให้ลืมดูการเมืองการปกครองฟากตะวันออกไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่รัสเซีย ซึ่งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงผูกสัมพันธไมตรีด้วย

Advertisement

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ฝ่ายเปลี่ยนแปลงจึงเพ่งไปที่การมีรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ อาจลืมคิดไปว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญนั้นมั่นคงสถาพร ยากแก่การล้มล้าง หรือแก้ไขพร่ำเพรื่อ กระทั่งต้องปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มิได้เป็นประโยชน์กับประชาชนที่ฝ่ายปกครองอ้างว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

เช่นเดียวกับการปฏิวัติล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งหลังสุด เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแล้ว มีการพูดถึงการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตั้งแต่เริ่มประชุมรัฐสภา

วันนี้ เพิ่งจะเข้าสู่ความคิดแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นว่า ประธานคณะกรรมาธิการ ควรจะเป็นใคร ควรมาจากสมาชิกพรรคการเมือง หรือมาจากฝ่ายไหนดี ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ในที่สุดมีความคิดว่าประธานน่าจะเป็นคนกลาง คือไม่สังกัดพรรคหรือฝ่ายน่าจะดีที่สุด

เพราะเชื่อว่าผู้เป็นประธานที่มาจาก “คนนอก” น่าจะดำเนินการความเป็นกลางได้ดีไม่เอนเอียง ทั้งที่แท้จริงแล้ว ประธานร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่เป็นกลางเท่านั้น ยังต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่นานาอารยประเทศให้ความเชื่อถือมากกว่า และต้องเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์กับประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง

ลองพิจารณาให้ดีว่ารัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีเพียงไม่กี่มาตรา เป็นกฎหมายที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ขัดหรือแย้งทั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักประกันสำคัญ ไม่ขัดหรือแย้งต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า มิใช่เพื่อประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ที่สำคัญ เป็นอำนาจของประชาชนในการยับยั้งการปฏิวัติรัฐประหารได้แท้จริง โดยให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้ทำการปฏิวัติรัฐประหารไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image