บริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดความเสี่ยงของคนไทย โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, สมบัติ เหสกุล, พิชิต รัชตพิบุลภพ

ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2551 ความจริงก่อนหน้านั้นมีบริการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดยมูลนิธิปอเต็กตึ๊งและมูลนิธิอื่นๆ ซึ่งกระจายตามหัวเมืองใหญ่ ต่อมากระทรวงสาธารณสุขและกลุ่มแพทย์อาสาสมัครริเริ่มตั้งศูนย์นเรนทร สังกัดโรงพยาบาลราชวิถี เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อน แต่การจัดการในขณะนั้นถือว่าไม่เป็นทางการหรือไม่เป็นระบบ เพราะว่าให้บริการในวงจำกัดมาก ไม่กว้างขวางหรือไม่ทั่วถึงในทุกจังหวัดดังเช่นในปัจจุบัน จากปี 25551 ถึงปัจจุบัน นับว่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ems = emergency medical services) ก้าวหน้าไปมาก เป็นระบบจัดการขนาดใหญ่ ที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล โดยความร่วมมือของภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชนมูลนิธิสมาคมหรือชมรมต่างๆ เกือบหนึ่งหมื่นองค์กร (ตามสถิติจดทะเบียนรถกู้ชีพในปี 2560 มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของรถกู้ชีพ 9,455 รายกระจายอยูในทุกจังหวัด จำนวนรถกู้ชีพที่จดทะเบียนรวมกัน 24,156 คัน)

ในโอกาสนี้ขอนำผลงานวิจัยว่าด้วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินมาเล่าสู่กันฟัง เป็นผลงานวิจัยในมิติเศรษฐศาสตร์และการจัดการ ดังกล่าวตอนต้นว่าระบบ ems ใช้ทรัพยากรของประเทศจำนวนมหาศาล เป็นค่าลงทุนในรถกู้ชีพ อุปกรณ์ ระบบสื่อสาร สำนักงานศูนย์กู้ชีพ ฯลฯ ประเมินขั้นต่ำๆ มากกว่า 50,000 ล้านบาท ยังมีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่จดทะเบียน (ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่าง) จำนวน 1.6 แสนคน รวมทั้งแพทย์ พยาบาล คนทำงานที่ผ่านการอบรม อาสาสมัคร ฯลฯ ค่าใช้จ่ายประจำปีและค่าตอบแทนบุคลากรในแต่ละปีรวมกันเป็นหลักหมื่นล้านบาทอย่างแน่นอน ระบบการจัดการและประสานงานเมื่อเกิดเหตุขนาดใหญ่ การส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนหนึ่งคือ อบจ. เทศบาล และ อบต. เข้าร่วมโครงการ ems หรือให้เงินอุดหนุน

งานวิจัยของเราใช้วิธีการเชิงปริมาณในส่วนแรก โดยอิงข้อมูลขนาดใหญ่ (บันทึกการปฏิบัติการทุกราย ประมวลโดยสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ตามสถิติในปี 2560 บันทึกว่า มีผู้รับบริการมากกว่า 1.4 ล้านราย ผู้เขียนประเมินว่าตัวเลขการให้บริการปัจจุบันน่าจะอยู่ประมาณ 2 ล้านราย) นอกจากนี้นักวิจัยใช้ฐานข้อมูลอื่นๆ ประกอบ เช่น อุบัติเหตุจราจร ประมวลเป็นข้อมูลรายจังหวัดรายปี บันทึกจำนวนครั้งของอุบัติการณ์ ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต แยกตามพื้นที่ (จังหวัด) นักวิจัยในทีมเราให้ความสนใจ ความเสี่ยงของคนไทยอันเนื่องจากเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุจราจร และวัดผลการเปรียบเทียบการทำงานระหว่างพื้นที่ (จังหวัด) ตัวชี้วัดหนึ่งที่นำมาวิเคราะห์ คือ ระยะเวลาที่ใช้ (response time) ซึ่งสะท้อนประสิทธิผลของการทำงาน ตามเกณฑ์ระดับชาติระบุว่า ทีมกู้ชีพควรจะเข้าถึงผู้ป่วย/ประสบเหตุภายในเวลา 8 นาทีภายหลังจากรับแจ้งเหตุ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับ มีหลายกรณีที่การปฏิบัติงานใช้เวลาเกินกว่า 8 นาที เนื่องจากข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่างๆ เช่น ระยะเดินทางไกล การจราจรติดขัด หรือความซับซ้อนของแต่ละอุบัติการณ์

อีกมิติหนึ่งที่สนใจคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ (จังหวัด) ปัญหาด้านหนึ่งมาจากด้านอุปสงค์ (ความต้องการ) เนื่องจากโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจรในแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน หรือบางจังหวัดมีผู้สูงอายุผู้ป่วยเรื้อรังสูงดังนั้นต้องใช้บริการ ems สูงกว่าจังหวัดอื่น และปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน (ระบบการจัดการ) กล่าวคือบางจังหวัดมีความพร้อมของระบบบริการ ems สูง ลงทุนด้านเทคโนโลยีในศูนย์กู้ชีพ เตรียมความพร้อมของบุคลากร หรือผ่านประสบการณ์ที่ยาวนาน แต่ในจังหวัดอื่นๆ อาจจะไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร หรือลงทุนน้อยเกินไป ตามหลักอุดมคติเราอยากเห็นว่า ทุกจังหวัดลงทุนในระบบ ems อย่างพอเพียงเพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุจราจร

Advertisement

ทีมวิจัยนำสถิติอุบัติเหตุจราจรมาวิเคราะห์ประกอบ วัดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุจราจรเป็นรายจังหวัด เช่น จำนวนอุบัติการณ์ จำนวนผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต แสดงตารางข้างล่างนี้ สะท้อนความเสี่ยงของการเสียชีวิต ในตารางข้างล่าง แสดงรายชื่อ 10 จังหวัดที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงสุด (คำนวณเป็นสัดส่วนต่อประชากรหมื่นคน สถิติในปี 2560)

ลำดับต่อมานักวิจัยใช้วิธีการเชิงคุณภาพ โดยลงพื้นที่จังหวัดจัดประชุมกลุ่มย่อย สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ปฏิบัติงานโดยเลือกกรณีตัวอย่าง จังหวัดชลบุรีถูกเลือกเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจเพราะว่าความเสี่ยงอุบัติเหตุจราจรสูงมาก (ลำดับที่สอง) ได้ข้อคิดและผลสรุปดีๆ จากการลงพื้นที่ ในโอกาสนี้ขอสรุปผลเป็นประเด็นๆ ดังต่อไปนี้ ก) หน่วยให้บริการ ems อธิบายว่าสาเหตุของอุบัติเหตุส่วนสำคัญเกิดจากความย่อหย่อนวินัยของผู้ขับขี่ยานพาหนะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มอเตอร์ไซค์และรถบรรทุก ข) สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดชลบุรีมีอาณาเขตกว้างขวาง มีทั้งทะเลและภูเขา สภาพถนนดี ทางตรง ยานพาหนะสามารถใช้ความเร็วสูง จึงยอมรับว่า ความเสี่ยงการเกิดอุบัติจึงสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ค) ชุมชนหรือโรงงานกระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัด รวมทั้งพื้นที่ชายขอบติดกับจังหวัดระยอง ในขณะที่สถานพยาบาลส่วนใหญ่ตั้งอยู่แถบพื้นที่ชายทะเล ด้วยเหตุนี้หน่วยปฏิบัติการกู้ชีพของจังหวัดชลบุรี จึงต้องเดินทางไกลเพื่อผู้ป่วย/ประสบเหตุเข้าถึงสถานพยาบาล ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะทำให้ระยะเวลาที่ใช้ (response time) อยู่ภายในกรอบเวลา 8 นาที ง) มีแรงงานอพยพและนักท่องเที่ยวมาพำนักในชลบุรี ศรีราชา พัทยา จำนวนมาก ส่งผลต่อความต้องการเดินทาง และการใช้ยานพาหนะ จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุจราจร
จ) องค์กรปกครองท้องถิ่นที่เข้าร่วมให้บริการ ems ในจังหวัดชลบุรี น้อยเกินไป หมายเหตุ 6 แห่งจากจำนวนเต็ม 97 แห่ง ฉ) ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นว่า ควรสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นซึ่งมีงบประมาณมากพอเพียง พร้อมกับขยายความว่าการที่เทศบาล หรือ อบต. เข้าร่วมให้บริการ ems น้อยเกินไปเนื่องจากเกรงจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มักอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ อปท. ความจริงผู้บริหารท้องถิ่นล้วนตระหนักถึงความสำคัญของระบบ ems อยากเข้าร่วม หากแก้ไขวิธีการตรวจสอบให้ผ่อนคลายและยึดถือ “เป้าหมายช่วยเหลือประชาชน” จะมี อปท. อีกจำนวนมากเสนอตัวร่วมลงทุนในระบบ ems ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความไม่พอเพียงของบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีสำคัญ

นับจากปี 2551-ปัจจุบัน ระบบ ems ของไทยอยู่ในขั้นการเปลี่ยนผ่านและมีความก้าวหน้ามาก แต่ถึงอย่างไรคงต้องยอมรับว่า ก) มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ (จังหวัด) จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินสามารถนำมาวัดประสิทธิผลการทำงานของจังหวัด วัดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุจราจร ข) ปัญหาระบบจัดการ ems ในบางพื้นที่ที่สรุปได้ว่า “ไม่พอเพียง” ผู้ปฏิบัติงานในบางพื้นที่รับภาระหนักเกินไป ค) ควรหามาตรการสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ ems โดยกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสม จะช่วยขจัดปัญหาความไม่พอเพียงได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image