เรื่องไม่เป็นเรื่อง โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกวันนี้รัฐบาลทหารที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจจากประชาชน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อยุติการปะทะกันอันเกิดจากความคิดเห็นที่แตกแยก ระหว่างฝ่ายที่ไม่เอาพรรคเพื่อไทยฝ่ายหนึ่งกับฝ่ายที่จะเอาพรรคเพื่อไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ โดยธรรมชาติก็เป็นฝ่ายที่ไม่เอาพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว และมีแนวโน้มจะเอาด้วยกับฝ่ายทหารที่ทำการรัฐประหารโค่นล้ม “ขบวนการทักษิณ” คำว่าขบวนการทักษิณนั้นเป็นวาทะของพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อกองทัพทำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยหวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2552 เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่ผิดคาดมาก เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำไม่สำเร็จ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมากขึ้นกว่าเดิม

สถานการณ์พัฒนามาเป็นการแบ่งแยกฝ่ายการเมืองเป็น 2 ขั้วตามเดิมคือ ฝ่ายทหารกับประชาธิปัตย์ฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายพรรคเพื่อไทยอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายทหารกับพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังสาละวนอยู่กับขบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าต้องผ่านการทำประชามติเป็นเรื่องหนึ่ง กับเมื่อผ่านประชามติแล้วก็ต้องมีเลือกตั้งอีกเรื่องหนึ่ง ทำอย่างไรจะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้ง แล้วพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยกับพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆ ที่จะจับมือกันหลังการเลือกตั้งร่วมกับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีบทเฉพาะกาลให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อย่างน้อยก็ 2 ครั้งก่อนหมดวาระ 5 ปีแรกไป ลงมติตั้งนายกรัฐมนตรีได้ถึง 2 สมัย

เรื่องแรกก็คือทำอย่างไรจึงจะผ่านประชามติไปได้เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญที่มีบทเฉพาะกาลที่อนุญาตให้จัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร กับ นายอานันท์ ปันยารชุน ได้

Advertisement

ฝ่ายพรรคเพื่อไทยนั้น แน่นอนก็ต้องคัดค้านเต็มที่ โดยจะระดมคนมาลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเป็นแนวร่วมกับ “คนเสื้อแดง” ส่วนพันธมิตรกับฝ่ายเสื้อเหลืองและพรรคประชาธิปัตย์ยังสงวนท่าทีอยู่ แม้ว่าอยากจะร่วมกับพรรคเพื่อไทยคัดค้านแต่ก็ยังไม่ทำอย่างหนักแน่น โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังหวังจะเป็นพันธมิตรกับกองทัพ เพื่อให้ตนได้เข้าร่วมรัฐบาลแม้ว่าตนจะแพ้การเลือกตั้งก็ตาม การกำหนดจุดยืนหรือการเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ที่คัดค้านการลงประชามติเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงยังไม่ชัดเจนนัก

การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและกรรมการการเลือกตั้งออกมาเต้นแร้งเต้นกา ไม่ให้ผู้ใดพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญที่มีความโน้มเอียงว่าจะชักจูงหรือสร้างกระแส ไม่ให้ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะเป็นเรื่อง “ผิดธรรมชาติ” ของขบวนการทางการเมือง แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยเพราะรัฐบาลทหารจะไม่สามารถอ้างได้ว่าประชาชนโง่ ถูกพรรคเพื่อไทยหลอกหรือถูกซื้อเสียง เพราะเท่าที่มีการสำรวจ ผลออกมาตรงกันข้ามกับ “ดุสิตโพล” และ “นิด้าโพล” รวมทั้ง “มหาวิทยาลัยกรุงเทพโพล” ซึ่งไม่มีใครเชื่อเสียแล้ว เพราะคนตอบคำถามพอรู้ว่าเป็นการสำรวจของคนพวกนี้ก็แกล้งตอบไปอย่างนั้นเอง คนไทยนั้นฉลาด รู้จักเอาตัวรอดได้เก่ง เราจึงรอดเป็นเอกราชมาจนทุกวันนี้

การสำรวจผลการเลือกตั้งจากผู้ที่ออกจากคูหาเลือกตั้งมาใหม่ๆ ที่ประเทศใดๆ ก็จะได้ผลค่อนข้างแม่นยำ แต่เมื่อนำมาใช้กับประเทศไทยปรากฏว่าไม่ได้ผล เพราะการสำรวจผลการเลือกตั้งจากผู้ที่ออกมาจากคูหาหย่อนบัตร อย่างที่เรียกว่า exit poll กลับใช้ไม่ได้สำหรับประเทศไทย อาจจะเป็นลักษณะพิเศษของคนไทยที่ชอบแกล้งพูดหรือแกล้งตอบ แต่ถ้าจะซุบซิบพูดจากันเป็นการภายในเพื่อนฝูงพรรคพวกก็จะพูดความจริงมากกว่า

Advertisement

ดังนั้น การทำนายผลการลงคะแนนเสียงประชามติโดยการทำการสำรวจหรือการทำ poll โดยเลือก “สุ่มตัวอย่าง” หรือ “random samples” เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะสามารถหาตัวอย่างที่สามารถใช้แทนประชากรหรือ “population” ทั้งหมดได้

สําหรับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม ที่กำลังจะมาถึงนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ตัดสินใจแล้วว่าตนจะลงคะแนนเสียงอย่างไร “รับ” หรือ “ไม่รับ” โดยไม่มีใครสนใจอ่านเนื้อหาข้างในว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2559 หรือปี 2560 นี้ จะมีเนื้อหาอย่างไร

การรณรงค์ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนต้องรับสนองนโยบายของรัฐบาลเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติของประชาชน เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ผลทางการเมืองที่ยังไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าจะออกมาในรูปใด เพราะรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบกับผลของการลงประชามติ จะกล่าวว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบ เห็นจะเป็นคำกล่าวอ้างที่เป็นไปไม่ได้

ที่สำคัญรัฐบาลจะดำเนินการกับตัวเองอย่างไร หากร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเป็นเจ้าของไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.สำคัญไม่ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจะไปหยิบเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ยอมรับมาใช้เรื่องก็คงจะไปกันใหญ่ จะอธิบายประชาชนอย่างไร จะใช้เหตุผลง่ายๆ ที่ตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว หยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาแก้ไขแล้วประกาศใช้แทน ดูจะเป็นตรรกะที่ง่ายเกินกว่าที่สังคมไทยในศตวรรษที่ 21 จะยอมรับได้ แม้ว่าระยะนี้ยังเป็นระยะที่คนไทยในกรุงเทพฯที่ต้องการทำลาย “ขบวนการทักษิณ” โดยไม่สนใจหลักการหรือความถูกต้องก็ตาม แต่เมื่อสังคมไทยตั้งสติได้ เหตุการณ์ก็จะพลิกกลับเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้

ระยะนี้ แทนที่เราจะได้ยินการถกเถียงกันว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ส่วนใดที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนสนับสนุน ส่วนใดประชาชนหรือสื่อมวลชนไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ แต่กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้ต้องนั่งฟังข่าวทางการว่าจะจับใคร จะเอาใครเข้าคุกเข้าตะราง เพราะไปให้ความเห็นคัดค้าน บิดเบือน ก้าวร้าวหยาบคายในเรื่องรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการห้ามความเป็นธรรมชาติของการเมือง ธรรมชาติของผู้คนที่ต้องการการมีส่วนร่วม ไม่ว่าในเชิงสนับสนุนหรือในเชิงคัดค้าน ผู้คนก็เลยเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบ “แปลกๆ” เช่น สวมเสื้อผ้าที่มีถ้อยคำ “รับ” “ไม่รับ” ขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงเกรี้ยวกราดจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง บรรยากาศก็เลยเป็นการต่อสู้ระหว่างกรรมการการเลือกตั้ง ที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการรับรองจากประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติ กับฝ่ายต่อต้านที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม ก็คงจะจืดชืดไร้ชีวิตชีวา

ถ้าหากกรรมการการเลือกตั้งทำตัวเป็นกลาง ขณะเดียวกันรัฐบาลซึ่งรับผิดชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ ทำการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ โดยปล่อยให้พรรคเพื่อไทยทำการรณรงค์คัดค้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ บรรยากาศการเมืองคงจะคึกคักกว่านี้ เพราะการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมเป็นการวัดความชอบธรรมของคณะรัฐประหารไปในตัว ถ้าคณะรัฐประหารซึ่งขณะนี้จะยังไม่สลายตัวมีความมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสนับสนุนก็ไม่น่าจะหวั่นไหว

การที่ฝ่ายเสื้อแดงตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติก็เป็นเกมการเมืองธรรมดา ฝ่ายคณะรัฐประหารไม่ควรจะตื่นเต้นหรือมีปฏิกิริยาอะไร ความจริงควรจะสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนสังเกตการณ์ เพราะกองทัพระหว่างประเทศเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงให้กับคณะรัฐประหารได้เป็นอย่างดี ถ้าคณะรัฐประหารมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ

การบริหารบ้านเมืองขณะนี้แม้จะอยู่ในภาวะ “รัฐประหาร” มี “รัฐบาลทหาร” แต่บรรยากาศก็เหมือนเด็กเล่นขายของหรือเล่นซ่อนหา เล่นขี่ม้าส่งเมืองหรือมอญซ่อนผ้า ดูไม่ค่อยจะมีใครเกรงใจใคร บางครั้งก็เหมือนเล่นจำอวดแข่งกับรายการสามน้า จะพูดอย่างไรก็ไม่มีใครถือสาหาความ ไม่เหมือนยามปกติ ส่วนผลงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะมีการพัฒนาไปข้างหน้าหรือถอยหลังเข้าคลองก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะคนชั้นสูงในกรุงเทพฯพอใจ คนชั้นล่างก็ไม่ว่าอะไร ห่วงแต่เรื่องปากเรื่องท้อง ก็หมดเวลาแล้ว

ทุกวันนี้จึงได้ยินแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image