เหรียญสองด้านของภาษีทรัพย์สิน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ในที่สุดใครก็ตามที่คัดค้านต่อต้านการออกกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อเสียงเรียกร้องและแรงกดดันของสังคม ยอมรับความจริงที่คณะรัฐมนตรีลงมติให้ความเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังทบทวน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ภายหลังกลุ่มนักธุรกิจเสนอในการประชุมร่วม ที่บ้านเกษโกมลว่ายังไม่ควรออกกฎหมายฉบับนี้

ต่อมาเกิดความเปลี่ยนแปลงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามมาด้วยเสียงวิจารณ์ตามหลังว่า เหตุเพราะดำเนินแนวทางทำให้คนรวยจนลง

การไม่อาจปฏิเสธ หรือถ่วงรั้งภาษีนี้ได้อีกต่อไป เหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะในคำแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันที่ 12 กันยายน 2557 เขียนเป็นสัญญาประชาคมไว้ชัดเจนว่า ขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจากทรัพย์สิน เช่น ภาษีมรดก ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ

Advertisement

ทีมเศรษฐกิจใหม่ทำงานมาถึงวันที่ 4 มกราคม 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งแผนงานปฏิรูปภาษีรวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องได้รับข้อสรุปภายในปี 2559

เดินหน้าผลักดันจนถึงระดับผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรีชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยลงมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่เกิดเหตุยุบสภาเสียก่อนทำให้กฎหมายตกไป

ครั้งนี้หากเข็นออกมาเป็นกฎหมายได้สำเร็จ เท่ากับสร้างประวัติศาสตร์ ปิดฉากตำนานภาษีอาถรรพ์ลงได้ทีเดียว

Advertisement

ไม่ว่าผลการจัดเก็บช่วงเริ่มต้นจะได้เงินมากหรือน้อยก็ตาม หลักการหัวใจของกฎหมายนี้เพื่อกระจายความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคม ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน กรุงเทพฯกับต่างจังหวัด เมืองกับชนบท

และเพื่อลดการกอบโกย สะสม ถือครองเกินความจำเป็น ทำให้เกิดการกระจายและใช้ประโยชน์มากขึ้น

ขณะที่องค์กรท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น นำมาทำโครงการพัฒนา จัดบริการสาธารณะต่างๆ ให้กับส่วนรวม ผู้มีรายได้น้อยและรายได้มากได้ประโยชน์ร่วมกัน

การเข็นกฎหมายมาได้ถึงระดับนี้อีกครั้งด้วยเหตุปัจจัยทางการเมืองมีส่วนกดดันเรื่อยมา อย่างน้อยก็เพื่อเป็น 1 ในตัวชี้วัดการปฏิวัติไม่เสียของ นำร่องไปสู่การปฏิรูประบบภาษีตัวอื่นๆ ต่อไป

ถึงวันนี้ กฎหมายนี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงต้องติดตามกันว่าจะมีท่าที สนับสนุน หรือคัดค้าน จนผลออกมาอย่างไร

ฉะนั้นอย่าเพิ่งวางใจ 100% เพราะยังมีข้อโต้แย้งในเนื้อหาแนวทางปฏิบัติดังอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจ นอกจากกระทบต่อคนมีทรัพย์สินมากแล้ว ส่งผลถึงผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้เช่าทรัพย์สินด้วยเช่นกัน

เจ้าของทรัพย์สินจะปรับราคาค่าเช่าหรือไม่ก็เพิ่มราคาสินค้าและบริการ เพื่อชดเชยภาษีที่เสียเพิ่มขึ้น เป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค

ประเด็นนี้ถ้าพิจารณาหลักการแข่งขันในระบบตลาด หากผู้ขายเรียกราคาสูงเกินไป ผู้ซื้อมีทางเลือกไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ถูกกว่า ผู้ขายหรือผู้ให้เช่าขาดรายได้ ก็ต้องปรับราคาลงมาในระดับที่รับได้ทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตามหลังภาษีมีผลบังคับปี 2560 เป็นต้นไป เตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ได้เลย เพราะมีข้อดี ก็มีข้อน่าเป็นห่วงและระมัดระวัง เป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเพื่อก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง

รอติดตามผลพวงของกฎหมายฉบับนี้ ว่าจะเป็นตัวกระตุ้นหรือฉุดรั้งเศรษฐกิจ เมื่อราคาสินค้าและบริการ ค่าครองชีพพุ่งตามมา เพราะต้นทุน ราคาทรัพย์สิน ที่ดิน ค่าเช่าต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น

ผลต่อไปจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเปลี่ยนไป เช่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งระดับค่าครองชีพ ราคาสินค้าและบริการแพงระยับ

ความสะดวกสบายภายใต้ความเครียด ความกดดันจากบรรยากาศการแข่งขัน ความรีบเร่ง การมุ่งกำไร เอาเป็นเอาตาย เพราะต้นทุนรายจ่ายพุ่งสูงขึ้น รายรับตามไม่ทัน

คนมีกิน ไม่มีกิน เราทุกคนพร้อมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อประเทศต้องก้าวไปสู่จุดนั้นแล้วใช่ไหม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image