โขนพระราชทาน ‘สืบมรรคา’ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

หนุมานแปลงกายใหญ่ให้กองทัพลิงข้ามแม่น้ำ

โขน เดิมคือมหรสพหลวง ใช้แสดงในงานพระราชพิธีสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และ จะแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น รามเกียรติ์มีที่มาจากมหากาพย์ของพราหมณ์เรื่อง รามายณะ ซึ่งสันนิษฐานว่าสืบทอดมาแต่สมัยต้นพุทธกาล และเผยแพร่ไปทั่วเอเชีย พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นไว้หลายฉบับ ที่แพร่หลายมากคือฉบับพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

โขนเป็นการแสดงชั้นสูง ประกอบด้วยศิลปะหลากหลายแขนงที่ต้องใช้ศิลปินจำนวนมาก อาทิ ผู้แสดงที่ฝึกหัดท่ารำและท่าเดินลักษณะพิเศษมาเป็นอย่างดี วงดนตรีปี่พาทย์ที่ครบชุด ผู้พากย์และเจรจาตามแบบฉบับโบราณ เครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามลักษณะโขน อีกทั้งยังต้องสร้างเวทีและฉากให้เหมาะสมแก่เนื้อเรื่องและผู้แสดงนับร้อยอีกด้วย ทำให้การจัดแสดงโขนเป็นเรื่องยาก เยาวชนรุ่นใหม่จึงแทบไม่รู้จักโขน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยว่า โขนซึ่งเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทยจะเสื่อมสูญไป ทั้งที่โขนเคยใช้เป็นการแสดงพระราชทานแก่พระราชอาคันตุกะของบ้านเมือง และเป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่งเสมอมา จึงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูโขนให้กลับคืนสู่ความนิยมของคนไทย โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่อย่างประณีต ทั้งศิราภรณ์ และพัสตราภรณ์ ให้ศึกษาวิธีการแต่งหน้าโขนที่เปิดหน้าให้สวยงามเหมาะสมแก่การแสดงบนเวทีสมัยใหม่ และให้ส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาผู้ใฝ่ใจในการแสดงโขนให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น พระราชเสาวนีย์นี้จึงก่อให้เกิดช่างฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งช่างทำหัวโขน ช่างทอผ้า ช่างปัก สดึงกรึงไหม ช่างเงินช่างทอง ช่างแกะสลัก ช่างเขียน และช่างแต่งหน้าโขน ผู้มีความเข้าใจในศิลปะและจารีตนิยมของโขนอย่างถ่องแท้

หนุมานเผากรุงลงกา

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ดำเนินการรับสนองพระราชเสาวนีย์ดังกล่าวจนลุล่วง และจัดการแสดงโขนถวายเป็นปฐมทัศน์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา เมื่อพุทธศักราช 2550 ในชุด พรหมาศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนต้องจัดแสดงซ้ำ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการแสดงโขนให้ประชาชนเป็นประจำทุกปี โดยทรงเลือกตอนต่างๆ ที่จะจัดแสดงด้วยพระองค์เอง ประชาชนจึงเรียกโขนที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯจัดแสดงในครั้งต่อๆ มาว่า โขนพระราชทาน

Advertisement

โขนพระราชทานได้สร้างความผูกพันอันใกล้ชิดขึ้นในครอบครัวไทย คือลูกหลานได้พาปู่ย่าตายายไปชมโขนอย่างเนืองแน่น นับเป็นการแสดงที่มีผู้ชมทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง บัตรชมโขนขายหมดอย่างรวดเร็วทุกครั้ง และมีเสียงเรียกร้องให้จัดการแสดงโขนพระราชทานสืบเนื่องต่อไปอย่างไม่ขาดสาย

ปรากฏการณ์เหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า โขนได้กลับคืนสู่ความนิยมของคนไทยแล้วสมดังพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และศิลปะการแสดงโขนพร้อมทั้งช่างฝีมือโขนทุกประเภท จักได้รับการสืบทอดให้ยืนยงคงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันงดงามของชนชาติไทยไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

นกสัมพาทีบินพาหนุมานมาใกล้ถึงกรุงลงกา
หนุมานรบนางอังกาศตไล

โขนพระราชทานได้จัดแสดงมาแล้วหลายชุด ได้แก่ ชุดพรหมาศ จัดแสดงสองครั้งเมื่อ พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2552 ชุดนางลอย จัดแสดงเมื่อ พ.ศ.2553 ชุดศึกมัยราพณ์ จัดแสดงเมื่อ พ.ศ.2554 ชุดจองถนน จัดแสดงเมื่อ พ.ศ.2555 จากนั้นการแสดงโขนพระราชทานได้เว้นระยะไป จนถึง พ.ศ.2561 ได้จัดเป็นวาระพิเศษฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษของโขนพระราชทาน คือชุดพิเภกสวามิภักดิ์

และปีนี้ พ.ศ.2562 จัดแสดงชุดสืบมรรคา ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องตอนต้นของรามเกียรติ์ โดยเริ่มจากมูลเหตุแห่งการลักพา นางสีดาของทศกัณฐ์ จากนั้นพระรามก็ได้พบกับหนุมาน จนได้นำสุครีพมาเฝ้าและขอให้สังหารพาลี ที่ผิดคำสาบานหลังจากปลงศพพาลีแล้ว สุครีพท้าวมหาชมพูต่างเกณฑ์ไพร่พลเมืองขีดขีนและชมพูถวายตัวต่อพระราม พระรามได้ใช้ให้หนุมานชมพูพาน องคต พร้อมพลวานรไป “สืบมรรคา” สำรวจเส้นทางที่จะยกทัพไปกรุงลงกา และส่งข่าวให้นางศรีดาว่าพระรามยกทัพติดตามมา พร้อมมอบแหวานและผ้าสไบให้หนุมานนำไปถวาย และเมื่อกลับมาถึงพลับพลาเวลาใด เครื่องทรงที่พระรามทรงอยู่ขณะนั้นจะถอดประทานให้

เนื้อเรื่องและตัวโขนสำคัญ จัดลำดับได้ดังนี้

พระราม คือ พระนารายณ์อวตารเป็นมนุษย์เพื่อมาปราบอสูร (ยักษ์) นับเป็นตัวเอกหรือพระเอกของเรื่องรามเกียรติ์ มีน้องชื่อพระลักษมณ์ และมเหสีชื่อนางสีดาซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำศึกระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์

ขบวนทศกัณฐ์ไปพบสีดาในอุทยาน

นางสีดา คือพระลักษมีอวตาร เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ตอนถือกำเนิดโหรของกรุงลงกา (พิเภก) ทำนายว่าจะนำภัยมาให้ ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ใส่ผอบลอยน้ำไป ฤๅษีตนหนึ่งเก็บไปเลี้ยงดู ต่อมาได้เป็นธิดาแห่งกรุงมิถิลา และอภิเษกเป็นมเหสีของพระราม

ทศกัณฐ์ เจ้ากรุงลงกาเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ทั้งปวง ในหน้าปกติจะเป็นสีเขียว แต่ในโขนชุดนี้มีหน้าสีทองที่แสดงอารมณ์ดีมีความสุข หรือมีความรัก เป็นตอนที่ไปเกี้ยวนางสีดาที่ลักพามาจากพระราม จึงทำให้เกิดคำว่า “เจ้าชู้ยักษ์”

หนุมาน กายสีขาวบุตรพระพาย มีฤทธิ์มาก นับเป็นทหารเอกตัวสำคัญของกองทัพวานร เป็นตัวเดินเรื่องในการสืบหาทางไปทวงคืนทางสีดา โดยพระรามมอบแหวนและผ้าสไบของนางสีดาไปถวายเพื่อบอกแก่นางสีดาว่า พระรามกำลังติดตามมา

โขนชุดสืบมรรคานี้มีกระบวนท่า “หนุมานเล่นปลิง” ที่ประดิษฐ์ท่ารำโดยครูกวี วรศะริน ศิลปินแห่งชาติ และสืบทอดมาถึงครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติในปัจจุบัน

ยักษ์ปักหลั่น ยักษ์ร่างกายใหญ่โต ชึ่งพระอินทร์สาปให้เฝ้าสระโบกขรณี เป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่ารูปร่างสูงใหญ่เหมือน “ยักษ์ปักหลั่น” ยักษ์ตนนี้มีส่วนบอกทางให้หนุมานสืบหาหนทางไปถึง นางสีดาได้

ยักษ์ปักหลั่นผู้เฝ้าสระบัวใหญ่

นางบุษมาลี เป็นนางฟ้าที่พระอินทร์สาปให้มาเกิดในเมืองมายัน มีส่วนบอกทางให้หนุมานสืบมรรคาได้สำเร็จและตกเป็นเมียคนแรกของหนุมาน

พญาสัมพาที พี่ชายของนกสดายุที่เข้าช่วยนางสีดาที่ทศกัณฐ์ลักพาไปในตอนเริ่มเรื่องรามเกียรติ์ พญาสัมพาทีได้ถูกพระอาทิตย์สาป เพราะไปขวางทางพระอาทิตย์เพื่อปกป้องสดายุผู้เป็นน้องที่เข้าไปจิกดวงอาทิตย์ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลไม้สุก พญาสัมพาทีชี้ทางให้หนุมานไปกรุงลงกา โดยให้สังเกตภูเขาใหญ่ชื่อ นิลกาลา

นางผีเสื้อยักษ์ ทำหน้าที่เฝ้าด่านสมุทรไท มิให้ศัตรูผู้ใดเข้าไปในกรุงลงกา เมื่อพบหนุมานก็ตรงเข้าจะฆ่าให้ตาย ด้วยการอ้าปากกว้างจะกินหนุมาน แต่ถูกหนุมานฆ่าตายในที่สุด

พระนารทฤๅษี ที่หนุมานไปท้าทายด้วยการคิดประลองฤทธิ์ และพระนารทฤๅษีนำไม้เท้ามาทิ้งลงในสระน้ำ เมื่อหนุมานมากินน้ำในสระ จึงเสกไม้เท้าให้เป็นปลิงเกาะที่คาง หนุมานจะทำอย่างไรปลิงก็ไม่หลุด จนใจต้องรีบไปหาพระนารทฤๅษี เมื่อสั่งสอนแล้วจึงปลดปลิงให้ จากนั้นหนุมานกราบลา และแผลงฤทธิ์เหาะเดินทางต่อไปยังกรุงลงกา

นางอังกาศตไล อสูรเฝ้ากรุงลงกา หรือเรียกว่า “อสูรเสื้อเมือง” มีเพศหญิงและชายอยู่ในตนเดียวกัน

หนุมานฆ่าอสูรตายนี้ แล้วแปลงกายเป็นยักษ์แฝงตัวเข้ากรุงลงกาเพื่อแจ้งความจากพระรามแก่นางสีดา

สรุปภาพรวม

โขนขุดสืบมรรคา เนื้อหาน่าติดตาม เพราะมีการประกอบฉาก แสง สี และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การแสดงโขนได้รับความสนใจยิ่งขึ้น

พลับพลาพระราม
หนุมานรบสหัสกุมาร ยักษ์หนึ่งพันตน
หนุมานรบอินทรชิต

อย่างไรก็ตาม การแสดงโขนทุกครั้งได้ให้ข้อคิดเสมอ ดังเช่น ชุดสืบมรรคา ได้ให้ข้อคิดอย่างน้อยสองประการ คือ การทำงานด้วยข้อมูลและความมานะอดทนจากการสืบมรรคา และการทำงานไม่ควรทำเกินหน้าที่หรือเกินคำสั่ง (กรณีหนุมานเผากรุงลงกาทั้งที่พระรามมิได้สั่ง) อาจเกิดผลร้ายตามมาได้

โขนชุดนี้จะแสดงถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขอเชิญทุกท่านร่วมเข้าชมเพื่อสร้างคนดูโขนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image