พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ‘จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน พ.ศ.2463-70’ (13) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ‘จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน พ.ศ.2463-70’ (13) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ‘จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน พ.ศ.2463-70’ (13) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 29 การจำพรรษาของท่านอาจารย์มั่นนั้น โดยส่วนมากท่านย้ายสถานที่อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อจะได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ได้มากๆ และมิให้จำเจที่จะต้องเกิดความกังวลอีกด้วย และแม้ว่าท่านจะไปจำพรรษาที่ไหนก็ตาม บรรดาลูกศิษย์ผู้หวังดีจะต้องติดตามไป เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติจากท่านเพื่อให้ก้าวหน้าต่อไป แม้ว่าจะได้ทราบชัดถึงหนทางที่ท่านได้แนะนำให้อย่างแจ่มแจ้งแล้วก็ตาม แต่ข้อละเอียดบางประการก็ต้องอาศัยการอบรมจากท่านอยู่อย่างใกล้ชิด

ตอนที่ 29.1 เสนาสนะป่า อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พ.ศ.2463 : ในปีนี้พระภิกษุสามเณรรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ก็เริ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากว่าก่อนนี้ การปฏิบัติโดยเฉพาะการบำเพ็ญสมณธรรมนั้น เป็นของลึกลับมาก ยากแก่การที่มาดำเนินกันอย่างง่ายๆ แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็มาเปิดศักราชการปฏิบัติโดยกำหนดการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุสามเณรก็สามารถทำได้ด้วยกันทั้งนั้น และก็ได้ประสบผลอย่างทันตาด้วย โดยไม่ต้องไปเสียเวลายกครู ยกขันธ์ 5 ขันธ์ 8 เหมือนอย่างแต่ก่อน แม้สามเณรองค์เล็ก ก็สามารถปฏิบัติให้เกิดความอัศจรรย์ได้ อันพุทธบริษัทในสมัยนั้น บางจำพวกก็ยังพากันกล่าวถึงว่า มรรคผลธรรมวิเศษนั้น หมดเขตหมดสมัยแล้ว จึงได้พากันไม่สนใจต่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพราะถือว่าเปล่าประโยชน์ แต่ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้มาเปิดศักราชแห่งการปฏิบัติจิต แก้ไขความคิดเห็นของผู้ที่ยังหลงงมงายเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เพราะว่าสามเณรองค์เล็กๆ เมื่อปฏิบัติแล้วก็ได้รับผลแห่งความเย็นใจ และฆราวาสผู้ปฏิบัติก็ได้รับผลเป็นที่พึงพอใจอย่างฉับพลัน ความจริงที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่น้อมนำมาเชื่อและปฏิบัติตามนี้ จึงได้ลบความเชื่อถือที่ว่า มรรคผลหมดเขตหมดสมัย

การที่ท่านอาจารย์มั่นได้เผยแพร่ความจริงของการปฏิบัติที่เป็นการเผยแพร่โดยให้บุคคลที่น้อมตัวเข้ามาเชื่อ ได้เห็นเอง คือ ให้กระทำแล้วได้รู้เองว่า รสของพระสัทธรรมนั้นเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้เกียรติคุณของท่านจึงแพร่ไปอย่างรวดเร็วเป็นเหตุให้ลูกศิษย์ของท่านมีมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ตัวท่านและศิษย์ที่มารับการอบรมก็ได้รับรสพระสัทธรรม และช่วยให้บุคคลอื่นนอกนั้น มาร่วมเป็นสมาชิกในการปฏิบัติจิตและก็บรรดาผู้ที่น้อมตัวเข้ามาเป็นศิษย์ของท่าน ก็เป็นอันรับรองได้เลยทีเดียวว่า จะต้องได้รับผลแน่นอน เพราะปรากฏในภายหลังว่า ศิษย์ของท่านได้กลับกลายเป็นผู้มีความสำคัญในการเผยแพร่การปฏิบัติที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณ ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

Advertisement

ทั้งนี้เนื่องมาจากว่า ท่านได้กำหนดวางรากฐานการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแก่กาลสมัย เพราะการกำหนดมาตรการอันเป็นสิ่งที่ท่านได้กำหนดพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ปรากฏตามประวัติที่ท่านต้องออกไปอยู่ในถ้ำแต่ผู้เดียวบ้าง ศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง และการที่ท่านได้ทำความรอบคอบในการวางรากฐานแห่งการปฏิบัตินี่เอง เป็นผลให้เกิดความมั่นคงในวงการของนักปฏิบัติผู้นับเนื่องในความเป็นศิษย์ของท่าน และการที่ท่านจะวางมาตรการของท่าน ก็ต้องวางให้ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ ดังนั้น ท่านจึงได้อ้างถึงพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ใคร เพราะอะไร ท่านได้แสดงเสมอว่า พระปัญจวัคคีย์ เมื่อจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระองค์ก็ทรงชี้ลงไปที่รูปของพระปัญจวัคคีย์เอง มิได้ทรงแสดงเกินกว่ารูปพระปัญจวัคคีย์เลย เช่น ทรงแสดงว่า รูปัง ภิกขเว อนัตตา ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย รูปไม่ใช่ตน ปัญจวัคคีย์ก็มีรูปมาแต่ไหนๆ แต่ทำไมไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ มาสำเร็จเอาตอนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ให้ดู เราก็เช่นเดียวกัน แม้เราพากันพิจารณาดูรูป ก็ต้องไม่ผิดหนทางแน่นอน ท่านได้อ้างอิงอย่างมีหลักฐานเช่นนี้ จึงเป็นที่น่าเชื่อถืออย่างยิ่งแก่บุคคลที่เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน

ณ ที่ท่าบ่อนี้เอง บัดนี้ได้กลับมาเป็นวัดป่า อันเป็นสถานที่บำเพ็ญกัมมัฏฐานเทสก์ เทสรํสี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์สุวรรณ พระอาจารย์หลาย และองค์อื่นๆ อีกมาก ที่ได้มาเห็นว่าสถานที่นี้ดี เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมและได้มาบำเพ็ญแล้ว ก็ได้รับประโยชน์ทางใจจากสถานที่นี้มากมายทีเดียว

ตอนที่ 29.2 เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย กิ่งอำเภอคำชะอี จ.นครพนม พ.ศ.2464 : ท่านอาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย เขตจังหวัดนครพนม ปรากฏว่าได้มีพระภิกษุ 5 รูป และสามเณรอีก 5 รูป ร่วมจำพรรษากับท่าน ในปีนี้ท่านได้เริ่มศักราชแห่งการแก้ความเห็นผิดแก่ชาวบ้านตามท้องถิ่นที่ท่านได้ไปพักอาศัย โดยการแนะนำถึงพระไตรสรณคมน์ว่า การนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์นั้นเป็นประการสำคัญ การนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ ของประชาชนแถบนี้ในสมัยนั้น ถือกันหนักมาก ซึ่งท่านก็พยายามแสดงเหตุผลและพยายามให้เข้าใจจริง จนทำให้ประชาชนเหล่านั้นได้ละความถืออย่างผิดๆ นั้น เช่น เขานับถือว่าบิดามารดาตายแล้ว ก็มาอาศัยอยู่ที่หิ้ง คอยทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย ตลอดจนการปลูกศาลเจ้าที่ พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น เมื่อประชาชนละความเห็นผิดนั้นแล้ว ก็ให้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะเสียหมด พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนา ซึ่งปรากฏว่าประชาชนในถิ่นนั้น ได้เป็นผู้เกิดความสนใจในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาสืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และท่านได้พักอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทรายนี้ประมาณ 10 เดือน จึงได้เดินธุดงค์ต่อไป

Advertisement

ท่านอาจารย์เสาร์ท่านพักอยู่ที่ถ้ำภูผากูดถึง 5 พรรษา ออกพรรษาแล้วไปพักจำพรรษาในเขตท้องถิ่นของอำเภอมุกดาหาร และกิ่งอำเภอคำชะอี ไปๆ มาๆ เมื่อท่านอาจารย์มั่นออกจากบ้านห้วยทรายแล้ว ท่านต่างก็ได้ร่วมทางเดินธุดงค์ออกขึ้นไปทางทิศเหนือไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองลาด บ้านม่วงไข่พรรณนา ซึ่งเป็นบ้านที่ใกล้บ้านเดิมของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร และออกเดินธุดงค์ไปทางบ้านแหนองแวง บ้านโพนเชียงหวาง ตามหนทางถิ่นนี้เป็นป่าดงพงพี เต็มไปด้วยไม้เต็งรัง ไม้แดง ไม้ตะเคียน เป็นป่าทึบ ท่านได้พักพิงและพาหมู่คณะศิษย์ทำความเพียรเป็นระยะไป และได้ลูกศิษย์เพิ่มขึ้นตามระยะทาง ทั้งที่เป็นพระภิกษุสามเณรและเด็ก จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไปถึงบ้านหนองใส บ้านตาลโกน บ้านตาลเนิ้ง อันเป็นบ้านเดิมของท่านอาจารย์วัน อุตฺตโม บริเวณถิ่นนี้มีหมู่บ้านเป็นหย่อมๆ พวกเขาส่วนมากเป็นชาวนา การไปตามแถวถิ่นนี้ ท่านจะแนะนำหมู่ชนให้ละจากการนับถือภูตผีปีศาจโดยความหลงผิดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของท่านได้เจริญรอยตามที่ท่านได้ทำมาแล้ว คือ ให้ละจากการถือผิด ให้เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง พร้อมทั้งปลูกศรัทธาในการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาไปด้วย จากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงบ้านหนองปลาไหล บ้านพังโคน กิ่งอำเภอวาริชภูมิ

แม้ในขณะที่ท่านพาหมู่คณะที่เป็นศิษย์ ธุดงค์ไปตามหมู่เขาลำเนาไพรนี้เมื่อพักอยู่นานๆ เข้าก็จะมีทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาสนใจจากทางไกลๆ เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน เพราะเหตุว่าการปฏิบัติแต่ก่อนนี้เป็นสิ่งลี้ลับ กลับมาเปิดเผยจะแจ้งขึ้น ท่านผู้ใดได้บำเพ็ญตามท่าน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาซึ่งเป็นฆราวาสมาบำเพ็ญก็ได้ผลอย่างน่าประหลาด ผู้ที่เป็นพระภิกษุจะมาอยู่ดูดายไม่ปฏิบัติ ก็จะด้อยกว่าฆราวาสด้านปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นการทำให้ฆราวาสดูถูกดูแคลนได้ จึงปรากฏว่าบรรดาพระภิกษุทั้งหลาย เกิดการตื่นตัวขึ้นมาหาท่านเพื่อขอมอบตัวเป็นศิษย์ ทั้งพระผู้ใหญ่อันเป็นพระเถระและพระผู้น้อยทั้งพระเก่าๆ ที่เป็นพระเถรซึ่งติดตามท่านไปห่างๆ ก็สามารถสอนธรรมกัมมัฏฐานได้เช่นท่านเหมือนกัน

การเดินธุดงค์จึงเป็นการเผยแพร่พระธรรมปฏิบัติไปในตัวด้วย ในขณะนั้นพระอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ท่านอาจารย์ดี วัดม่วงไขพรรณนา ก็ได้มาขอเรียนกัมมัฏฐานภาวนาจากท่านอาจารย์มั่น จนปรากฏว่าได้ผลอย่างมหัศจรรย์จึงได้พาหมู่คณะอันเป็นศิษย์เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติอีกด้วย ระยะนี้มีผู้สนใจในการปฏิบัติกับท่านเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นคณะหมู่ใหญ่ขึ้น ผู้คนในเขตท้องถิ่นนั้นและในเขตใกล้เคียง ได้เกิดศรัทธาปฏิบัติเห็นอรรถธรรม ต้องการบรรพชาอุปสมบท แต่ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่น ท่านยังไม่ได้เป็นอุปัชฌาย์ จึงได้นิมนต์ท่านพระครูอดิสัยคุณาธาร (อากโร คำ) ที่วัดศรีสะอาด เจ้าคณะจังหวัดเลยมาเป็นอุปัชฌาย์

การทำการอุปสมบทในสมัยนั้นเป็นการเริ่มต้นวางระเบียบการบวชตาผ้าขาวก่อนที่จะทำการบรรพชาอุปสมบท การบวชตาผ้าขาว คือ การรักษาศีล 8 และให้รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียว และฝึกหัดดัดแปลงนิสัยใจคอ ทั้งฝึกสมาธิให้เป็นประดุจพระหรือสามเณร ไปตั้งแต่ยังเป็นตาผ้าขาวนี้เสียก่อน ถ้าก่อนฝึกยังไม่เป็นที่น่าพอใจก็ยังไม่บรรพชาอุปสมบทให้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี การฝึกผู้บวชนั้นปรากฏว่าเรียบร้อยดีมาก

ระเบียบนี้จึงได้มีขึ้นในคณะกัมมัฏฐานจนถึงปัจจุบัน คือ ผู้ที่จะบวชเป็นการถาวร ต้องทำการฝึกหัดให้ปฏิบัติกัมมัฏฐานตลอดจนพระวินัย เป็นการเตรียมเพื่อจะทำการบรรพชาอุปสมบท

ในแถวๆ บ้านโพนเชียงหวางนี้ มีผู้มีวาสนาได้ปวารณาตนเข้ามาปฏิบัติอยู่ด้วย ท่านอาจารย์มั่น และลูกศิษย์ของท่านมาก ทั้งปรากฏเป็นผู้เข้มแข็งในการเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งปรากฏในภายหลังว่า ได้เป็นพระอาจารย์ผู้สันทัดในการสอนกัมมัฏฐานมากขึ้นในแถบนั้น

การธุดงค์ที่ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ที่ท่านอาจารย์มั่น ที่ท่านอาจารย์มั่นได้ดำเนินขึ้นในปีนั้น เป็นการวางแผนแบบใหม่ขึ้น คือ เมื่อถึงคราวที่จะทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ท่านก็จัดผู้ทรงคุณธรรมภายในและมีปฏิภาณเฉลียวฉลาดในการแสดงธรรม เป็นหัวหน้าชุด 3-4 องค์ ท่านเป็นหัวหน้า ไปพักบ้านหนึ่งบ้านใด อาจจะเป็น 7 วัน 10 วัน 1 เดือน สุดแล้วแต่ความเหมาะสมอันจะเป็นประโยชน์ได้ และหัวหน้าตามหลังท่านมา ก็พักอยู่ตามทาง ตามบ้านที่ท่านพัก ตามกำหนดที่ท่านอาจารย์มั่นพัก และทำการสอนกัมมัฏฐานภาวนา ติดตามท่านมาตลอดแห่งหนทางการไปธุดงค์ และการที่จะตัดสินใจไปที่ใดนั้น เป็นหน้าที่ของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งการไป ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ท่านจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า จะพึงเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง คือ ชาวบ้านเหล่านั้นและกุลบุตรในแถบถิ่นนั้น จะพึงมีบุญวาสนาพอจะรับธรรมปฏิบัติจากท่านได้ ท่านก็จะพาคณะเดินทางไปยังบ้านนั้น ตำบลนั้น

นี้เป็นวิธีที่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม นำเอามาเป็นแบบดำเนินการหลังจากท่านอาจารย์มั่นเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ท่านได้มอบศิษย์ทั้งหลายให้อยู่ในความปกครองของท่านอาจารย์สิงห์ทั้งหมด ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ดำเนินธุดงค์พิธีนี้ เมื่อ พ.ศ.2471 โดยได้เดินทางมาจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปรากฏว่าได้มีวัดเสนาสนะป่า อันเป็นแหล่งสถานที่บำเพ็ญสมณธรรมแก่ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาเป็นอันมาก นับเป็นจำนวนพันๆ แห่งทีเดียว

อีกวิธีหนึ่ง การธุดงค์นั้น ท่านจัดให้ไปแสวงหาความสงบโดยเฉพาะ วิธีนี้ได้จัดขึ้นให้เป็นประโยชน์เฉพาะภิกษุสามเณร คือ ผู้บวชใหม่หรือบวชเก่า แต่ยังปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะได้ ก็ต้องไปธุดงค์ คือ จะต้องแสวงหาสถานที่ไกลจากบ้านพอสมควร อาจจะเป็นป่าไม้หรือภูเขาหรือเป็นถ้ำหรือเป็นป่าช้า พักอยู่บำเพ็ญสมณธรรมโดยเฉพาะ ไม่สอนอุบาสกอุบาสิกา แนะนำกันในระหว่างพระภิกษุสามเณร อบรมกันให้ยิ่งด้วยการกำหนดจิต พยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แก้ความสงสัยที่เกิดขึ้น หลังจากการเกิดผลขึ้นจากบำเพ็ญ ถ้าหากว่าแก้กันไม่ไหว ก็จะนำไปหาท่านอาจารย์ใหญ่ เพื่อแก้ไขความสงสัยทั้งหลาย การอยู่นั้นสุดแล้วแต่สถานที่ ถ้าเป็นที่สงบสงัดดี บำเพ็ญสมณธรรมได้ผล ก็อยู่นานถ้าเป็นที่ไม่ค่อยสงบหรือไม่ได้ผลในการบำเพ็ญสมณธรรมเท่าไร ก็จะอยู่ไม่นาน

การธุดงค์แบบนี้จะอยู่กันชั่วคราวทุกสถานที่ แต่ถ้าเป็นสัปปายะดีก็อาจจะอยู่เป็นเวลาหลายวันหลายเดือน นี้หมายความว่าได้ประโยชน์ในการบำเพ็ญจริงๆ แม้การจำพรรษาก็เหมือนกัน ท่านจะต้องแสวงหาที่ที่ จะพึงได้ประโยชน์แก่การบำเพ็ญสมณธรรมจริงๆ จึงพยายามหาวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งพระอมฤตธรรมจึงปรากฏว่า ได้ดำเนินถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอย่างแต่กาลก่อน เช่น ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ว่า อรัญเญรุกขมูเล วา สุญญาคาเร จภิกขโว ในป่าใต้โคนต้นไม้ เรือนว่างเปล่าเป็นที่สงบสงัด สมควรแก่บุคคลผู้ต้องการด้วยความเพียร และอมฤตธรรมจะถืออยู่อาศัย ครั้งนั้นแม้แต่พระที่เป็นหลวงตาบวชเมื่อแก่ ซึ่งเป็นชาวบ้านโพนเชียงหวางองค์หนึ่ง ได้ติดตามมาปฏิบัติกับท่านอาจารย์มั่นและเคร่งครัดต่อการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง มีความเพียรอันกล้าหาญจนบังเกิดผลมีความรู้ฉลาดในการปฏิบัติจิต

แม้หลวงตานี้จะมิได้เรียนทางปริยัติมาเลย แต่อาศัยการเจริญภาวนาค้นคว้าพระธรรมวินัยเฉพาะด้านจิต ท่านก็แตกฉานจนถึงเป็นที่พึ่งแก่นักศึกษาธรรมปฏิบัติรุ่นหลังต่อมาได้ ซึ่งปรากฏเป็นที่เคารพนับถือของหมู่คณะได้อย่างดี

(ติดตามตอนที่ 29.3 ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด จ.สกลนคร…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image