มหาวิทยาลัยกับการปรับทิศทางการลงทุน เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หลายปีก่อนผมมีโอกาสได้ไปเยือนและใช้ชีวิต ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อยู่สองภาคการศึกษาในฐานะนักวิจัยอาคันตุกะ ยังจำได้ดีว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาคารอำนวยการของมหาวิทยาลัยมีความคึกคักเป็นพิเศษ คือ มีกลุ่มนักศึกษาชุมนุมประท้วงอยู่หน้าอาคารนั้น แต่การชุมนุมนั้นมีลักษณะที่เป็นแบบปักหลักชุมนุมแบบค้างแรมกันหลายคืนทีเดียว

เรื่องแบบนี้ก็ออกจะพิเศษกว่าปกติหน่อย เพราะการชุมนุมประท้วงโดยทั่วไปของนักศึกษาที่อเมริกานั้นไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่ค้างวันค้างคืนขนาดนี้ อย่างมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลี่ย์
ที่ผมเคยร่ำเรียนมานี่ คือ ชุมนุมกันทุกกลางวัน บางวันอย่างกับเช็กรอบหนัง คือ ต้องดูเวลานิด เพราะวันหนึ่งๆ มีหลายรอบ บางทีไปช้า เรื่องที่ชุมนุมอาจจะจบไปแล้ว (แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เรื่องต่อไปก็น่าสนใจก็ไปฟังๆ สักหน่อย)

จำได้ว่าป้ายที่แขวนไว้ที่หน้าอาคารอำนวยการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในวันนั้นคือ “Divest Harvard” ผมเองก็งงๆ ว่าตกลงมันคืออะไรกันแน่

ถ้าจะแปลกันตรงตัว divest หรือ divestment คือการถอนการลงทุน แต่ถ้าจะแปลให้ครบความ Divest Harvard น่าจะแปลว่าการปรับทิศทางการลงทุนของมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

โดยภาพรวมแล้ว การชุมนุมของนักศึกษาฮาร์วาร์ดนั้นคือการเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณายุติการลงทุนของมหาวิทยาลัยในกิจการที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสภาพบรรยากาศ (climate change) หรือที่อธิบายแบบบ้านเราก็คือโลกร้อน นั่นแหละครับ

ธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของโลกตัวฉกาจก็คือเจ้าธุรกิจที่เรียกกันง่ายๆ ว่า fossil fuel หรือธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงที่มาจากซากดึกดำบรรพ์ อาทิ พวกถ่านหินและปิโตรเลียมนั่นแหละครับ เพราะมันผลิตมลภาวะให้กับโลกเป็นอย่างมากจากการเผาไหม้ซากพืชและสัตว์

เรื่องพวกนี้นักศึกษาเขาก้าวหน้าไปถึงขั้นเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นเขาใส่ใจเรื่องการแสวงหารายได้ของมหาวิทยาลัยโดยไม่ไปลงทุนในกิจการที่ไม่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ได้ห้ามแสวงหากำไร หรือหารายได้นะครับ แต่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของแผ่นดินในแบบฮาร์วาร์ดนั้นไม่ใช่แค่ผลิตองค์ความรู้ งานวิจัย และผู้สำเร็จการศึกษาที่ส่งเสริมความเจริญให้กับโลกเท่านั้น แต่นักศึกษาเขามองว่ามหาวิทยาลัยที่เขาเข้ามาศึกษาจะต้องมีบทบาท ความรับผิดชอบ และภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นหลักเป็นฐานให้กับแผ่นดิน ที่มากไปกว่าไม่ใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ใช้ถุงผ้า ไม่ใช้หลอดพลาสติก ปลูกต้นไม้ในมหาวิทยาลัย หรือให้งบนักศึกษาเล็กๆ น้อยๆ ไปทำค่ายอาสาพัฒนาชนบท

นักศึกษาฮาร์วาร์ดพวกนี้เขามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นทั้งสถาบันที่มีความเป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน หรือรัฐ หรือในกำกับของรัฐ จะนอกจะในระบบก็สุดแท้แต่จะว่ากันไป และมหาวิทยาลัยก็เป็นผู้ลงทุนและมีบทบาทสำคัญในทางธุรกิจและเศรษฐกิจ การเรียกร้องของนักศึกษาที่มีต่อมหาวิทยาลัยให้มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นจึงไม่ใช่แค่การมีวิชาเรียน งานวิจัย งานวิชาการตีพิมพ์ในระดับโลก และมีชื่อเสียงเก่าแก่ มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง และมีอันดับมหาวิทยาลัยสูงๆ ในตารางของมหาวิทยาลัยโลก แต่มหาวิทยาลัยจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้ทรูนั่นแหละครับ

ฮาร์วาร์ดนั้นเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา 13 แห่ง ที่ริเริ่มการรณรงค์เรื่องที่เรียกว่าการปรับทิศทางออกจากการลงทุนในธุรกิจพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ (Fossil Fuel Divestment) และนำไปสู่การเกิดเอกภาพในหมู่นักศึกษาของโลกในการเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้ และทำให้หลายมหาวิทยาลัยนั้นปรับเปลี่ยนทิศทางในการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่านักศึกษาของฮาร์วาร์ดอาจไม่ประสบความสำเร็จในมหาวิทยาลัยของตนเองไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ปรับทิศทางการลงทุนออกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินไปได้ก่อน แม้ว่าในส่วนปิโตรเลียมนั้นยังไม่สำเร็จ แต่กระนั้นก็ตามทางผู้บริหารก็ยอมรับที่จะเข้าร่วมลงนามในประมวลจริยธรรมในการลงทุนด้วยความรับผิดชอบของสหประชาชาติ (UN Principles for Responsible Investment)

ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ตื่นตัวในเรื่องของการปรับทิศทางการลงทุนออกจากธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นก็มีทั้งมหาวิทยาลัยเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกา ไล่เรียงมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่สุดท้ายยอมปรับทิศทางการลงทุนออกจากธุรกิจถ่านหินหลังจากการเรียกร้องอันยาวนานของนักศึกษา และมหาวิทยาลัยเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดตลอดกาลในพื้นที่ใกล้กันของแคลิฟอร์เนียตอนเหนืออย่าง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลี่ย์และเครือมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียทั้งหมด 10 วิทยาเขต ซึ่งในปีนี้เองได้ประกาศจะนำเอากองทุนบำเหน็จบำนาญของตนทั้งหมดออกจากการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์

ส่วนในอังกฤษนั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ตอบรับกับกระแสการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนออกจากธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่การรณรงค์เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 โดยมีมหาวิทยาลัยแห่งเมืองกลาสโกลว์เป็นแกนนำในการผลักดันเรื่องนี้ ไล่เรียงกันหมดแหละครับ มาจนถึงเครือข่ายทั้งหลายของมหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะไปไกลแค่ไหน บางส่วนก็ไปแค่เรื่องของถ่านหินและน้ำมันดินเท่านั้น แต่บางส่วนก็ไปไกลกว่านั้น และแรงกระเพื่อมเรื่องนี้ก็ส่งผลไปถึงมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียก็ประกาศปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนออกจากเจ็ดบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์

กลับมาที่ฮาร์วาร์ดอีกครั้ง แม้ว่าการผลักดันที่ฮาร์วาร์ดอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียหมด และบรรดาแกนนำนักศึกษาหลายคนก็สำเร็จการศึกษาไปแล้ว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เกิดการเคลื่อนไหวเรื่องการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง โดยกลุ่มนักศึกษาเจเนอเรชั่นใหม่ เริ่มรณรงค์เคลื่อนไหวให้มหาวิทยาลัยพิจารณาและปรับเปลี่ยนการลงทุนในเรื่องเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้การลงทุนของมหาวิทยาลัยไปส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยต่างๆ เพราะมีการตีพิมพ์รายงานซึ่งกล่าวหาว่าทางมหาวิทยาลัยอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการไปซื้อที่ดินของเกษตรกรพื้นเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ของชนพื้นเมืองในบราซิล รวมไปถึงการไปพัวพันกับการใช้นำจำนวนมหาศาลในพื้นที่การเกษตรของมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งกำลังขาดแคลนน้ำ รวมถึงการพ่นยาฆ่าแมลงที่อันตรายไปในพื้นที่

เรื่องราวเหล่านี้ถือว่าเป็นส่วนที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการบริหารจัดการที่ดินที่ขาดจริยธรรม

การชุมนุมรณรงค์เรื่องนี้หน้าตึกอำนวยการของมหาวิทยาลัยและพยายามส่งสารไปถึงอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังรวมไปถึงการชุมนุม เดินขบวน การเปิดวงสัมมนาและให้ความรู้ในเรื่องของผลกระทบต่อการบริหารจัดการที่ดินที่ขาดจริยธรรม (unethical land management) และหนึ่งในคนจัดการเคลื่อนไหวก็คือชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งให้คำนิยามว่าการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (The environmental movement is a social justice movement.) และการพูดถึงจริยธรรมในการบริหารจัดการที่ดินนี่แหละ ที่ทางนักศึกษาเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่การพูดคุยที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนออกจากธุรกิจพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ทางผู้รณรงค์และองค์กรเครือข่ายเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเฉพาะสำนักบริหารทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ยุติการลงทุนในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และหาทางออก-ยุติความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและทรัพยากรน้ำกับชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมกับชุมชน เรื่องนี้ผู้รณรงค์บอกว่าแม้ว่าบางเรื่องอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุนของมหาวิทยาลัยโดยตรงแต่ก็เป็นพันธกิจของทางมหาวิทยาลัยที่ควรจะเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนั้นๆ ด้วย ถือเป็นข้อเรียกร้องที่นักศึกษาและเครือข่ายพยายามผลักดันให้เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทั้งพยายามนำเอาจิตวิญญาณของการรณรงค์เรื่องการปรับทิศทางการลงทุนของทางมหาวิทยาลัยในยุคแรกที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาสู่เรื่องของความสำคัญของการลงทุนที่เป็นธรรมกับสังคมและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่เปราะบางในสังคม ทั้งที่ทำเอง หรือไปถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้อง

ท่ามกลางการต่อสู้ในเรื่องของการปรับทิศทางการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยก็มีข้อถกเถียงที่สำคัญว่า ถ้ามหาวิทยาลัยถอนการลงทุนออกจากธุรกิจเหล่านี้แล้ว บางทีบริษัทอื่นที่อาจแย่กว่าก็ยังเข้ามาทำอยู่ดี รวมไปถึงการพยายามบอกว่า การลงทุนของมหาวิทยาลัยเป็นคนละเรื่องกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมือง แต่ผู้รณรงค์ก็ชี้แจงว่า การปรับทิศทางการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แค่การไม่ลงทุนในกิจการนั้น แต่เป็นเรื่องของการทำให้ชื่อเสียงของธุรกิจเหล่านั้นต้องถูกตั้งคำถาม และชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการลงทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในวิกฤตเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น เช่นเดียวกับในยุคหนึ่งที่มีการรณรงค์ไม่ให้สนับสนุนระบอบการปกครองแบบแบ่งแยกผิวสีในแอฟริกา

แม้ว่าการรณรงค์ดังกล่าวนั้นจะเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนของนักศึกษาเป็นหลัก แต่ก็ยังมีคณาจารย์ใจกล้าหลายท่านแวะเวียนมาให้กำลังใจ และขอบคุณที่นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนในละแวกมหาวิทยาลัยได้ขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ ส่วนความสำเร็จในเรื่องการรณรงค์นั้นก็ยังไม่ได้มีการรายงานการตัดสินใจของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ผมก็ไม่อยากจะพูดมากนักในเรื่องบ้านเราเพราะจะถูกมองว่าไปโจมตีมหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สินมหาศาล แต่อยากจะเรียกร้องให้ทางผู้บริหารเองได้เริ่มพิจารณาว่า ถ้าจะมีสิ่งที่เรียกว่า university divestment มหาวิทยาลัยอาจจะต้องเริ่มคิดก่อนว่าการลงทุนของมหาวิทยาลัยเพื่อแสวงหารายได้นั้นนอกเหนือจากข้ออ้างที่จะบอกว่าเป็นเรื่องของเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแล้ว ก็น่าจะเริ่มพิจารณาว่าการลงทุนเพื่อแสวงหารายได้ของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาของสาธารณะ ควรจะลงทุนในกิจการใดๆ บ้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ไม่ดีของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนั้นมีทั้งความรู้และทรัพย์สินมหาศาลที่น่าจะเริ่มพิจารณาว่า จะแสวงหารายได้อย่างไรให้เป็นต้นแบบของนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเริ่มแสวงหาภาคีในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่รักษาและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนรอบมหาวิทยาลัยและชุมชนอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการลงทุนของมหาวิทยาลัย

ผมเชื่อมั่นว่าด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพและนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนั้นน่าจะได้รับการส่งเสริมให้คิดคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทั้งเป็นรูปธรรมและส่งผลกระทบที่แท้จริงและเป็ฯต้นแบบที่ดีให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆได้ ไม่ใช่เห็นว่าการลงทุนของมหาวิทยาลัยในบางเรื่องทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นครับ

(อ่านเพิ่มเติมได้จาก A.Price and M.N.Wong. The Rebirth of Harvard’s Divestment Movement. TheCrimson.com. 14/2/19. A.Vaugham. Fossil fuel divestment: A brief history. Theguardian.com. 8/10/14. และ U.Irfan. The University of California system is ending its investment in fossil fuels. Vox.com. 18/9/19.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image