เมื่อเส้นทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลถึงทางตัน : โดย สมหมาย ภาษี

ผมได้เขียนเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของไทยมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2562 หลังจากรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดนี้ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ 2 สัปดาห์ ตอนนั้นยังไม่มีใครปักใจเชื่อ เพราะมัวแต่เชื่อข้อมูลเศรษฐกิจที่คาดการณ์กันว่า GDP หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2562 นี้ จะอยู่ที่ 3.8-4.0% ตามที่สำนักพยากรณ์ของสถาบันระดับชาติทั้งหลายเขาว่ากันนับตั้งแต่สภาพัฒน์, ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งบัดนี้ได้ถึงบางอ้อชนิดที่เรียกว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ต่างก็กระวีกระวาดลดเป้าหมายของ GDP ปีนี้ เหลือแค่ 2.6% ซึ่งกล่าวได้ว่าต่ำมากในกลุ่มอาเซียน

หากท่านผู้อ่านได้ติดตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 จะเห็นได้ชัดว่าปลายสมัยของรัฐบาลชุดที่แล้วก็ได้ตั้งหน้าตั้งตากระตุ้นเศรษฐกิจกันแล้ว เพราะการกระตุ้นได้คะแนนเสียงเป็นของแถมมาด้วย โดยมีมาตรการต่างๆ มากมาย เน้นที่การช่วยชาวไร่ชาวนาและรากหญ้า มีทั้งใช้เงินของรัฐบาลโดยตรงและใช้เงินทางอ้อมผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น ส่วนที่เห็นชัดคือการใช้เงินร่วมแสนล้านบาท แจกเงินสวัสดิการให้แก่คนจนอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อน การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้ทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายรัฐบาล คสช.จนถึงรัฐบาลชุดนี้ ช่วงรัฐบาลชุดนี้มีโปรเข้ามาใหม่อีกหนึ่งอย่างคือ นโยบาย ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งทำมาแล้ว 2 เฟส และขณะนี้กำลังดำเนินการเฟส 3 อยู่

ทั้งหลายทั้งปวงของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนาบดีด้านเศรษฐกิจจะคิดออก แถมด้วยการกระตุ้นจากการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งยังไม่มีสำนักไหนสามารถไปวัดผลของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งรวมทั้งเงินหว่านหาเสียงตามขบวนการของนักเลือกตั้งของไทยทั้งหลายว่าจะมีจำนวนเท่าใดแน่

แต่ถ้าให้พรรคพวกที่เป็นเซียนการเมืองเดากัน เขาว่ากันว่าใกล้ๆ กับครึ่งแสนล้าน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินงบประมาณหลายโครงการ เมื่อรวมกันแล้วเม็ดเงินที่รัฐบาลได้จ่ายและแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2561 ถึงตอนนี้ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 มีถึงร่วมสองแสนล้านบาทแต่เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ก็ได้เห็นกันแล้วไหมครับว่า ภาวะเศรษฐกิจกลับปักหัวต่ำลงไปเรื่อย ต่ำจนกิจการ SME ต้องปิดตัวกันเป็นรายสัปดาห์ ไม่ว่ากิจการผลิตอะไหล่รถยนต์ที่เคยรุ่งเรือง รวมไปถึงกิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง กิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ข้าวของเครื่องใช้ และสินค้าอุปโภคบริโภค จะมีกิจการที่อาจรุ่งเรืองขึ้นมาบ้าง เช่น สถานธนานุเคราะห์ และสถานธนานุบาลทั้งหลาย เท่านั้นแหละ หากสื่อไปถามพ่อค้าแม่ค้าที่ขายข้าวของพอประทังชีวิตทั่วทุกแห่ง ไม่เห็นมีใครบอกว่าดีสักราย มันแย่จนเขาไม่อยากพูดหรือพูดไม่ออก ทุกวันนี้จึงมีแต่ทำให้เศรษฐกิจทรุดซึ่งแย่กว่าตกต่ำ สลับกับข่าวชิงทรัพย์ ปล้นเล็ก ขโมยน้อย ไปจนถึงการค้ายาเสพติด ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วประเทศมากกว่าที่เคยเห็นในอดีต

Advertisement

น่าเห็นใจคนที่เป็นรัฐบาลที่หามาตรการมาแก้ไขไม่ได้เลย กระทรวงการคลังที่ดูเหมือนจะมีส่วนรับผิดชอบหนักก็ได้แต่เอามือกุมขมับ ใครไปถามก็บอกว่ากำลังทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยไม่เป็นสาระ สิ่งที่กระทรวงการคลังพูดเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ก็ได้แต่หันไปเร่งรัดบรรดารัฐวิสาหกิจซึ่งมีงบประมาณปีหนึ่งเกือบเท่างบประมาณประจำปีของรัฐบาลว่า ให้เร่งเบิกจ่ายงบบานเบอะหลายแสนล้านที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย

การเร่งจ่ายงบของรัฐวิสาหกิจจากกระทรวงการคลังแบบนี้มีเป็นประจำแทบทุกสมัย ยิ่งรัฐมนตรีที่เพิ่งเข้ามาสัมผัสกับกระทรวงการคลังเห็นแล้วเป็นต้องเร่งจ่ายงบของรัฐวิสาหกิจทุกท่าน โดยหารู้ไม่ว่างบที่เหลือมาตอนปลายปีเป็นงบลงทุนทั้งนั้น จะมีการจ่ายตามความคืบหน้าของงานเท่านั้น จ่ายเร็วกว่านั้นไม่ได้ การสั่งการเรื่องนี้จึงดูเหมือนว่า เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพราะเขาได้ยินมาจนชาชินแล้ว

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกิจกรรมเร่งรายจ่าย หรือเอาเงินงบประมาณไปแจกจ่าย จึงไม่มีมนต์ขลังแต่อย่างใด ทุกๆ ปีก็เป็นแบบนี้

Advertisement

ตามโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย เราพึ่งการส่งออกซึ่งรวมการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP เครื่องยนต์ตัวที่สองที่เป็นการบริโภคนั้นพึ่งเป็นหลักไม่ได้เลย เพราะเงินงบประมาณของไทยมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับ GDP ยิ่งรายได้จากภาษีอากรยิ่งน้อยมาก สัดส่วนรายได้เทียบกับ GDP ของไทยตายตัวแค่ประมาณ 12-13% มายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว

สำหรับเครื่องยนต์ตัวที่สามคือ การลงทุนนั้นพึ่งได้เป็นช่วงๆ ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยนี้ยิ่งพึ่งก็ยิ่งต้องเช็ดน้ำตา เพราะไม่มีนักลงทุนหน้าไหนจะโง่หรือปัญญาอ่อนเหมือนภาครัฐ อย่าลืมว่าการลงทุนของประเทศแบบไทย เราต้องไปนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ เช่น การเร่งให้บริษัทการบินไทยไปรีบซื้อเครื่องบินก็กลายเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ผลิตเครื่องบินมาขายเรา ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าสำหรับไทยจะโตได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับการส่งออกและการท่องเที่ยว

การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนตุลาคมนี้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนติดลบอีกแล้ว คือ -4.5% เดาได้ว่าของเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ก็ต้องติดลบอีก สรุปได้ว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา การส่งออกสินค้าของไทยติดลบแทบทั้งปี ยกเว้นเป็นบวกแค่ 2 เดือนเพียงเล็กน้อยในเดือนกุมภาพันธ์และกรกฎาคม เรื่องการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย รัฐบาลได้กระตุ้นอย่างไรบ้าง ผู้รับผิดชอบระดับรัฐมนตรีถึงผู้นำหัวแถวทำอะไรกันบ้าง ล้วนเงียบเหมือนเป่าสาก

ที่เห็นก็มีแต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่รับตำแหน่งก็ได้นำคณะออกไปขายสินค้ากับต่างประเทศมาแล้ว 3 ครั้ง ที่เมืองหนานหนิง ประเทศจีน เมืองมุมไบและเจนไน ประเทศอินเดีย และเมืองอิสตัลบูล ประเทศตุรกี แต่ละครั้งตามข่าวสามารถขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้สัก 5,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับเป้ามูลค่าการส่งออกที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี 2562 จำนวน 8.4 ล้านล้านบาท ก็ถือว่าจิ๊บจ๊อยมากไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ ล่าสุดสภาพัฒน์ได้ทำประมาณการของการส่งออกทั้งปี 2562 ว่าจะติดลบ 2% เทียบกับต้นปีที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่ม 4.4% ดังนั้นจะผิดเป้าไปถึง 6.4% คิดเป็นเม็ดเงินที่หดตัวจากการส่งออกเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 560,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกสินค้าที่หลุดเป้ามากที่สุดที่เคยมี สิ้นปีอาจได้เห็นว่ามันจะหลุดเป้ามากกว่านี้ไหม

ในด้านการเงิน จากการบ่นกันว่าบาทแข็งทำให้การส่งออกมีสมรรถนะในการแข่งขันด้อยลงนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยทางการลง 0.25% เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม คือลดจากอัตรา 1.75% เหลือ 1.50% แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ส่งผลต่อการส่งออกสักเพียงใด เพราะค่าเงินบาทยังคงแข็งอยู่เช่นเดิม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ตามการลดของเฟดที่ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สหรัฐลง 0.25% ก่อนหน้านั้น ทำให้เหลืออัตราดอกเบี้ยทางการของไทยที่ 1.25% แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้ เพราะประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างก็พากันลดดอกเบี้ยตามธนาคารกลางของสหรัฐด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติเพิ่งออกมายอมรับเมื่อสามสี่วันมานี้ว่า การลดค่าเงินบาทตอนนี้ใช้ไม่ได้ผลแล้ว

สรุปแล้วทุกวันนี้รัฐบาลไทยไม่สามารถหามาตรการใหญ่ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เลย มาตรการด้านการเงินได้ถึงทางตันแล้วตามที่ผู้ว่าแบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจง ด้านการคลังวงเงินงบประมาณพอมี แต่รายได้ที่เก็บได้ในปีงบประมาณ 2562 (ถึงสิ้นกันยายน) ต่ำมาก แทบไม่เพิ่มจากปี 2561 แต่จากการบีบให้รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรส่งรายได้ให้รัฐให้มากหน่อย จึงทำให้ยอดการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2562 ได้ 2.56 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนแค่ 1%

ปีงบประมาณหน้าที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาทุกวันนี้ ตัวเลขตั้งไว้ว่าจะเก็บภาษีและรายได้อื่น (ไม่รวมเงินกู้) จำนวน 2.75 ล้านล้านบาท มองเห็นได้ตั้งแต่บัดนี้ว่าถึงเวลาเก็บจริงจะไม่ได้ตามนั้นแน่ มาตรการทางด้านการคลังจึงบอดสนิท ปีใหม่ที่จะถึงนี้เชื่อได้ว่ารัฐบาลกำลังหาของขวัญให้ประชาชนอยู่แต่หาเงินมาแจกยากเต็มที อย่างดีคงได้แต่แจกลูกอมขนมนมเนยเหมือนการเล่นจำอวดของคณะแสดงละครสัตว์สมัยก่อน

ดังนั้นเครื่องยนต์ตัวที่สำคัญที่จะพึ่งได้สำหรับปีหน้าที่กำลังจะถึงในปี 2563 ก็คือการส่งออกอย่างเดียว ถ้าอยากรู้ว่าแล้วปีหน้าจะเป็นอย่างไร ตอบได้เลยว่าจะทำอย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกของสินค้าปีหน้าจะไม่มากกว่าปีนี้ ถ้าไม่เชื่อลองฟัง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการสัมมนา Bangkok Post International Forum 2019 เรื่อง ASIA 2020: Trade Wars, RCEP and Economic Trends ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้เชิญผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการค้าและเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย

ดร.ศุภชัยท่านได้ชี้ให้เห็นว่าการพิพาทด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังไม่มีอะไรชัดเจนที่จะนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงที่เป็นชิ้นเป็นอันได้ในขณะนี้ แต่จะต้องลากยาวไปถึงปีหน้าอย่างแน่นอน และถ้าหากจะมีข้อตกลงที่อาจเซ็นเป็นสัญญากันได้บ้าง ก็ไม่ใช่จะแก้ปัญหาการถดถอยทางการค้าของโลกได้ ตัวท่าน ดร.ศุภชัยเองได้บอกว่า ท่านไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามการค้า แต่เป็นการเกิดขึ้นของกระบวนการปกป้องทางการค้า (Protectionism) ของประเทศใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดขึ้นของการหันเหออกจากระบบการค้าเสรีที่ไม่มีอุปสรรคขวางกั้นที่ประเทศทั่วโลกได้พยายามสร้างให้เกิดขึ้นมาได้นานพอสมควรแล้ว

ดร.ศุภชัยยังได้ย้ำว่าปัญหาที่กล่าวนี้จะยังไม่สามารถแก้ได้ในปี 2020 หรือปีหน้า ซึ่งในปี 2019 นี้ ปริมาณการค้าโลกเท่าที่มีการประเมินได้จะเติบโตเพียง 1.2% เทียบกับการเติบโตเฉลี่ยในยามปกติในอดีตที่ 5%-6% สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ปีนี้ที่การค้าโลกเติบโตเพียง 1.2% ปรากฏว่าผลผลิตของโลกมีการขยายตัวถึง 2.5% ดังนั้นแต่ละประเทศจึงพยายามปิดกั้นการนำสินค้าเข้า และจะยิ่งปิดกั้นการค้ามากขึ้นในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงในด้านการผลิตทั่วโลก (Supply side) เพราะไม่มีใครต้องการซื้อวัสดุมาผลิตสินค้าที่ขายไม่ออก สู้ไม่ได้ก็ต้องปิดโรงงานกันไป ยิ่งกว่านั้นการถดถอยทางด้านการค้านี้จะส่งผลโดยตรงให้การลงทุน (Investment) หดตัวทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ซึ่งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น ในกลุ่มอาเซียนก็มี เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น เห็นอย่างนี้แล้วคนไทยเรายังมองเห็นความเจิดจ้าของโครงการอีอีซี (EEC) หรือโครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอีกหรือ

จำได้ไหมครับ หลังปฏิวัติใหม่ๆ ปี 2557 คสช.ได้เน้นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนไทยทั่วทุกทิศถึง 8 เขต เช่น ที่แม่สอด อรัญประเทศ คลองใหญ่ มุกดาหาร สะเดา เป็นต้น มีการกันพื้นที่เป็นพันๆ ไร่ ในแต่ละแห่ง มีการสร้างถนนหนทางและพัฒนากันหลายด้าน ทำกันแบบหัวปักหัวปำตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เผาผลาญงบประมาณไปเป็นหมื่นล้านบาท จำได้ไหมครับ บัดนี้ พื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีบริษัทหรืออุตสาหกรรมไปลงทุนกันสักกี่ราย มีใครในรัฐบาลนี้พูดถึงบ้าง ที่ถามเช่นนี้เพราะคนสำคัญที่คิดโครงการนี้เคยร่วมอยู่กับคณะ คสช.มาก่อนและได้มาร่วมวงกับรัฐบาลในปัจจุบัน

ผมประหวั่นว่า ผีเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จะมาหลอกมาหลอนที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกไหม นี่ถ้าเป็นจริงคราวนี้ก็ตัวใครตัวมันละครับ

นั่งดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองรัฐบาลในช่วงที่ต่อเนื่องกันมาถึงตอนนี้ พูดจริงๆ ว่าประเทศไทยเราตกที่นั่งเดินหน้าไม่ออกแล้วครับ ยิ่งตอนนี้เมื่อสื่อไปถามเรื่องเศรษฐกิจจากท่านรองนายกฯสมคิด ท่านก็โบ้ยให้ไปถามท่านนายกฯ ดูเหมือนว่าเส้นทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ได้มาถึงทางตันแล้ว ถึง Dead End แล้วจริงๆ

การบริหารเศรษฐกิจของไทยตอนนี้ดูจะเหมือนกับนิทานชาวบ้านเรื่องหนึ่ง ที่ว่าในป่าแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยโขดหิน เนินเขา และหุบเหว มีชายคู่หนึ่งเดินตุปัดตุเป๋ไปข้างหน้าโดยคนหนึ่งขาด้วนทั้งสองข้างดูท่าทางฉลาด ขี่คออีกคนที่แข็งแรงดูทะมัดทะแมงท่าทางมีน้ำอดน้ำทนแต่ตาบอดสนิท ดังนั้นเวลาจะไปไหนก็ไปด้วยกันแบบนี้ ใครผ่านมาถามว่าจะไปไหนกัน คนขาด้วนก็เป็นคนตอบตลอดเวลา แต่อยู่ๆ ตอนนี้พอมีใครถามคนขาด้วนไปไม่ตอบแต่กลับสะกิดให้คนตาบอดที่เขาขี่คออยู่เ ป็นผู้ตอบ แล้วอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเดินถึงทางตัน

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image