ปฏิรูปครูไทย ฝันใกล้เป็นจริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิรูปครูไทย ฝันใกล้เป็นจริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิรูปครูไทย ฝันใกล้เป็นจริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สมาชิกวุฒิสภาตั้งกระทู้ถามนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ลงรอย งานและอำนาจทับซ้อนระหว่างผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากับศึกษาธิการจังหวัดอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตอบว่าคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการกำลังทำเรื่องนี้อยู่ จะให้มีข้อยุติภายในสิ้นปีนี้

ครับ นั่นเป็นเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาว่าด้วยโครงสร้างว่าด้วยเรื่องอำนาจของคนส่วนบนเสียมากกว่า ถามว่า ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและนักเรียนตรงไหน และเมื่อไหร่ แต่ละฝ่ายจะตอบว่าอย่างไร

กลับมาสู่ความเคลื่อนไหวที่เป็นหัวใจ เป็นคานงัดของปฏิรูปการศึกษา ที่จะส่งผลถึงประสิทธิภาพการทำงานของครู อาจารย์ และคุณภาพการเรียนของนักเรียนโดยตรงกันดีกว่า

Advertisement

วันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการพบปะกันระหว่างนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับนายณัฏฐพล หารือกันเรื่องการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 สืบเนื่องจากปัญหาครูขาดคุณภาพ ครูขาด ครูเกินตำแหน่งที่มีรองรับ ผลิตครูไม่ตรงสาขา กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายใหม่ปรับหลักสูตรผลิตครูจาก 5 ปีเป็น 4 ปี ทำให้ครูจบใหม่จากสองหลักสูตรพร้อมกันปี 2565 เกรงว่าจะตกงานจำนวนมาก

ผลการหารือมีข้อเสนอให้แก้ไขทั้งระบบ โดยให้มีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู (National Joint Committee for Teacher Education and Development มีคนจากฝั่งสถาบันผลิตครูและฝั่งที่ใช้ครู มาร่วมกันเพื่อทำนโยบาย กำหนดทิศทาง และวางมาตรฐานต่างๆ

ขณะเดียวกันให้ตั้งสถาบันวิจัยระบบครุศึกษาและการศึกษา (Teacher Education and Education System Research Institute) และตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านครุศึกษา (Teacher Education Center of Excellence)

บทสรุปที่ว่านับเป็นข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ห้าปีที่แล้วเพิ่งมาจุติเอาตอนนี้ แต่ก็ยังดีที่ว่า มาช้าดีกว่าไม่มา ปฏิรูปการศึกษาหันกลับมาสู่ทิศทางหลักที่ควรจะเป็นเสียที

หลังจากหลงทิศ หลงทางมุ่งแก้โครงสร้าง แทนที่จะปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปหลักสูตร เป็นหลัก ผลเลยค้างคาตกลงขอบเขตอำนาจกันไม่จบ

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ประการหนึ่งเพราะความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย ความไม่ต่อเนื่องทางการเมือง นั่นเอง

สิ่งยืนยันต้องย้อนเหตุการณ์กลับไปตั้งแต่เริ่ม ครม.ประยุทธ์ 1 คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเสนอร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู 2560-2574 ปฏิรูปทั้งระบบ ทั้งการผลิต การใช้และการพัฒนาครู ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา วันที่ 19 สิงหาคม 2558 มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีอนุกรรมการดำเนินงาน 3 คณะ ด้านการผลิต ด้านการบริหารบุคคล และด้านการพัฒนาครู

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น มีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวน บทบาท ภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน อีกเหมือนกัน ทิศทางปฏิรูปการศึกษาหันกลับมาจับโครงสร้างเป็นเรื่องเร่งด่วน

ผลผลิตออกมาเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 10/2559 และ 11/2559 ต่อมาแก้ไขใหม่เป็นคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรงวงศึกษาธิการ ยุบกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ยุบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นจุดเริ่มต้นของการปีนเกลียว ระหว่างเสือกับสิงห์ในพื้นที่ กำลังหาทางแก้จนถึงขณะนี้

จากเหตุนี้เองส่งผลให้ความเคลื่อไหวปฏิรูปครูทั้งระบบแผ่วลง แนวทางดำเนินการที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปในระดับโครงการเฉพาะด้าน อาทิ คูปองพัฒนาครูครบวงจรหัวละหมื่น บูธแคมป์พัฒนาครูภาษาอังกฤษ ผลิตครูคืนถิ่น กระตุ้นครูให้ใช้เทคโนโลยี ปรับหลักสูตรผลิตครูจาก 5 ปี เป็น 4 ปี ขณะที่เรื่องใหญ่แก้ไขเชิงระบบ การสร้างกลไก กระบวนการทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถาบันผลิตครู วางแผนทิศทางการผลิตร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การผลิตครูระบบปิด ไม่เกิดขึ้น

ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลการผลิตกับการใช้ครูอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างผลิตตามความต้องการ จนเกิดปัญหาบัณฑิตครูล้นเกิน

เวลาผ่านไป 3 ปี มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หลังปี 2560 เน้นแนวทางสร้างครูยุคดิจิทัลเป็นหลัก ไม่เสนอทางแก้ปัญหาเชิงระบบ

ทั้งๆ ที่สภาการศึกษา มีรายงานการศึกษาวิจัย เรื่องการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบการผลิตและพัฒนาครูสมรรถนะสูง สำหรับประเทศไทย 4.0 โดย ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และคณะ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอไว้เมื่อพฤษภาคม 2561

เมื่อมีผลการศึกษาปฏิรูปครูทั้งระบบ เป็นต้นทุนอยู่ในมือแล้ว หวังว่าคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู จะทำให้การปฏิรูปครูเพื่อปฏิรูปการศึกษา เที่ยวนี้เห็นหน้าเห็นหลังขึ้นมาบ้าง หลังกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดมานาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image