ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ‘สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส’ เยือนไทย ‘คณะสงฆ์วัดโพธิ์’ ถวายงานจนถึงการเสด็จกลับ : โดย พระราชปริยัติมุนี

สิ้นสุดภารกิจการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2562

การเสด็จเยือนเมืองไทยครั้งนี้ นัยสำคัญ คือ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างให้แก่หลายประเทศที่ยังคงมีการขัดแย้งทางด้านความเชื่อ ให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างสันติสุขแก่โลก

แม้ว่าประเทศไทยมีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธ กว่าร้อยละ 90 และมีผู้นับถือศาสนาและนิกายอื่นๆ อีกหลากหลาย แต่หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีการกีดกั้น ให้การยอมรับและอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เพราฉะนั้น ในหลายครั้งที่เรามักจะเห็นภาพ เมื่อคริสตศาสนิกชนมีกิจกรรมหรือมีการจัดงาน พี่น้องชาวพุทธจะไปช่วยเหลือและแบ่งบันอาหาร ในทางกลับกัน เมื่อวัดมีงาน พี่น้องชาวคริสต์ก็มาร่วม เหมือนเป็นการเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นแบบอย่างที่งดงามยิ่งของมิตรภาพระหว่างศาสนา

อาตมา พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ ป.ธ.9 รศ.,ดร.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่าเตียน กทม. ผู้ได้ถวายงานตามพระสมณประสงค์ในองค์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ตั้งแต่ปี 2559 ขอให้ข้อมูลว่า

Advertisement

“ในการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งนี้ อาตมาและคณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯได้มีส่วนถวายงานหลายอย่าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีแก่วัดพระเชตุพนฯ สำหรับตัวอาตมาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถึง 2 ครั้ง เพื่อถวายงานตามพระสมณประสงค์ ณ นครรัฐวาติกัน

“ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จเยือนประเทศไทย คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จึงได้มีส่วนในการถวายงานอีกครั้งหนึ่ง

“เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและคณะบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่เดินทางถึงประเทศไทย ในช่วงเย็นของวันที่ 20 พฤศจิกายน คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ นำโดยพระราชรัตนสุนทร (วินัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ และผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกหลายรูป ได้เข้าพบผู้แทนคือ พระคาร์ดินัลมิเกล แองเกิล อยุโซ กวีโซ ประธานสภา
เสวนาระหว่างศาสนา ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าด้วยการเสวนาระหว่างศาสนา ของนครรัฐวาติกัน เพื่อให้การต้อนรับในโอกาสที่สำนักวาติกันเยือนประไทยอย่างเป็นทางการ”

Advertisement

หลังจากนั้น มีการพูดคุยหารือร่วมกันในแนวทางการสร้างสันติภาพแก่โลกตามพระสมณประสงค์ในสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทราบว่า ในช่วงกลางปีหน้า ประมาณเดือนพฤษภาคม ปี 2563 ทางนครรัฐวาติกันจะมีการจัดสัมมนาผู้นำศาสนาและผู้นำประเทศต่างๆ ของโลก ซึ่งคณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ คงได้รับพระเมตตาให้ถวายงานอีกครั้งหนึ่ง พระคาร์ดินัลมิเกล แองเกิล อยุโซ กวีโซ ท่านได้เล่าให้อาตมาฟังว่า

“ท่านจะตามเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ไปเกือบทุกประเทศ ทุกครั้งที่ท่านไปพบปะผู้นำประเทศหรือผู้นำศาสนา ท่านจะยกตัวอย่าง มิตรแท้ที่ท่านมีอยู่ที่ประเทศไทย คือ คณะสงฆ์วัดโพธิ์ ท่านทรงชี้ให้หลายๆ ประเทศเห็นว่า แม้มีความต่างทางศาสนา แต่ก็มีความรักใคร่กลมเกลียวทำงานร่วมกัน เคียงคู่กันมาตลอด ท่านรู้สึกดีใจและประทับใจอย่างมากที่ได้ทำงานร่วมกับคณะพระภิกษุสงฆ์ชาวไทย”

หลังจากหารือร่วมกันในเรื่องการทำงานเพื่อการสานเสวนาจบลง พระราชรัตนสุนทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ ถวายภาพที่ระลึก เป็นภาพเมื่อครั้งที่ ฯพณฯ มิเกล แองเกิล อยุโซ กวีโซ และคณะเป็นผู้แทน นครรัฐวาติกัน เยือนวัดพระเชตุพนฯ เมื่อวัดจัดงานสมโภชพระอาราม 230 ปี และได้มอบเหรียญที่ระลึก เป็นพระรูปสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ที่มีพระราชดำรัสแก่คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ตอนเข้าเฝ้าเพื่อถวายคัมภีร์พระมาลัยที่ปริวรรตแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2561

ต่อจากนั้น อาตมาได้มอบหนังสือ “วาติกัน-วัดเชตุพนฯ มิตรภาพระหว่าง ศาสนา” ที่คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จัดพิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ไทย-อังกฤษ-อิตาลี หนังสือเล่มนี้ ได้มีสื่อมวลชนหลายสำนัก ข้อไฟล์ข้อมูลเพื่อนำไปเผยแพร่และมีการขอสัมภาษณ์หลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่ามีความน่าสนใจ เพราะมีประวัติความสัมพันธ์ที่ยาวนาน ระหว่างวาติกันและวัดโพธิ์ร่วม 50 ปี
มีบันทึกของสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถร) ที่ได้เยือนสำนักวาติกัน ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2515 และมีรายละเอียดในการถวายงานของคณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ แด่สมเด็จพระสันตะปาปา จนเข้าปีที่ 4 ซึ่งมีการรวบรวมไว้ทั้งหมด
อาตมาและคณะกองบรรณาธิการ รวมถึงอาจารย์จากสถาบันการแปลและการล่าม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันทำงานชิ้นนี้ สุดความสามารถ แม้ว่าเราจะมีเวลาในการทำงานไม่มากนัก แต่ทุกคนก็ตั้งใจกันอย่างเต็มที่จนแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ได้นำหนังสือ “วาติกัน-วัดพระเชตุพน มิตรภาพระหว่างศาสนา” มอบผ่านทาง “สื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย” โดยคุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะทำงานและศูนย์ประสานงานของสื่อมวลชนต่างประเทศ เพื่อส่งมอบให้กับคณะสื่อมวลชนต่างประเทศทุกประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนไทย ที่ร่วมทำงานการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

หลังจากนั้นทั้งคณะได้มีการบันทึกภาพร่วมกัน

ต่อมาในช่วงเย็นของวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่สนามศุภชลาศัย มีคณะทำงานกลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นฆราวาสของทางวัดพระเชตุพนฯ ไปอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพิธีมิสซา บางคนเล่าให้ฟังว่าได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านมาก รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด

จากนั้น ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 มีการเสวนาพบปะระหว่างผู้นำศาสนาและนิกายต่างๆ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ได้รับพระเมตตาให้เข้าร่วมการรับฟังพระราชดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

“สำหรับอาตมาที่ได้รับพระเมตตาถวายงานแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มาโดยตลอด รู้สึกภาคภูมิใจ เป็นเกียรติแก่ชีวิต อาตมาคิดว่า สิ่งที่สำคัญมากในการครองตนเป็นพระภิกษุสงฆ์ของอาตมา คือการได้ถวายงานแก่พระศาสนา ได้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในสากลโลก อาตมาได้ปวารณาตนเองไว้แล้วว่า จะทำงานทุกชิ้นที่ได้รับพระเมตตาและได้รับโอกาสจนสุดกำลังความสามารถ เพื่อให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและสร้างสันติสุขแก่โลกใบนี้”

พระราชปริยัติมุนี
(เทียบ สิริญาโณ ป.ธ.9 รศ.,ดร.)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image