ปรากฏการณ์บัณฑิตเตะฝุ่น บทสะท้อนปัญหาที่รอการแก้ไข : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานภาวะการมีงานทำของคนไทยในเดือนตุลาคม 2562 พบว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมีทั้งหมด 56.66 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้พร้อมที่จะทำงาน 37.44 ล้านคนซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำ 37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 350,000 คน

ที่น่าสนใจจากการรายงานดังกล่าว หากมองสถิติด้านการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานพบว่าผู้ว่างงานสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามากที่สุด 147,000 คน และจากภาวะการว่างงานของกลุ่มดังกล่าวยังพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 10,000 คน

จากปรากฏดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาวะการว่างงานของผู้ที่สำเร็จจากสถาบันอุดมศึกษาคงจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานและขยายกิจการได้ หรือปริมาณของบัณฑิตที่แต่ละสถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตออกมาเป็นจำนวนมากและหลักสูตรที่ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานจนทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ปัญหาควบคู่กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสหรือเกิดปรากฏเป็นข่าวเขย่าสังคมรัฐบาลโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมีผู้บริหารออกมาให้ข้อมูลหรือแนวทางในการป้องกันแก้ไขทันที ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยกระทรวงจะจัดทำโครงการยุวชนสร้างชาติเพื่อลดหรือชะลออัตราการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศและการมีงานทำของประชาชน

Advertisement

ในกรณีของสถิติหรือตัวเลขการว่างงานของบัณฑิตจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่กล่าวมาข้างต้นพบว่ามีบัณฑิตว่างงาน 147,000 คน แต่ปัจจุบันจากการสำรวจ รมว.อว.ได้แถลงตัวเลขพบว่าบัณฑิตตกงานถึง 370,000 คน ที่น่าสนใจยิ่งในเดือนมีนาคม 2563 จะมีบัณฑิตกำลังจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอีก 3 แสนคน

ซึ่งในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่งคาดว่าบัณฑิตจะตกงานเมื่อรวมกันแล้วบัณฑิตจะเตะฝุ่นกว่า 5 แสนคน

การเยียวยาเพื่อแก้ปัญหาปรากฏการณ์บัณฑิตเตะฝุ่นโครงการยุวชนสร้างชาติจึงเป็นหนึ่งในมิติหรือแนวคิดที่กระทรวง อว.คาดหวังว่าจะเป็นสะพานเชื่อมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา

Advertisement

ซึ่งในโครงการนี้หากศึกษาในรายละเอียดจะประกอบด้วย 3 โครงการย่อย คือ บัณฑิตอาสา อาสาประชารัฐ และกองทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น เพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าว โดยจะใช้งบประมาณ 8,600 ล้านบาท โดยจะดำเนินการในเดือนธันวาคมนี้

หากศึกษาในรายละเอียดของโครงการยุวชนสร้างชาติในมิติของ 3 โครงการย่อยของกระทรวง อว.จะเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้บัณฑิตมีงานทำตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคม แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่าโครงการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่สามารถนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้จึงมีคำถามว่าการแก้ปัญหาด้วยโครงการยุวชนสร้างชาติเป็นการตอบโจทย์แห่งปัญหาหรือเกาถูกที่คันหรือไม่

ต่อกรณีที่บัณฑิตจบการศึกษาแต่กลับว่างงานประเด็นนี้ได้มีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงสภาวการณ์ของนักวิชาการและองค์กรที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการศึกษาส่วนมากพบว่า ต้นตอหรือมูลเหตุมาจากสถาบันอุดมศึกษาเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะปริมาณและคุณภาพของการผลิตบัณฑิตที่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้

เมื่อกล่าวถึงคุณภาพบัณฑิตตลอดจนปัญหาการผลิตของสถาบันอุดมศึกษาย่อมส่งผลให้สังคมเกิดความวิตกและวิเคราะห์ไปต่างๆ นานา ซึ่งก่อนหน้านี้นายสุวัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แจงผลการสำรวจบัณฑิตตกงานว่า ตัวเลขบัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 300,000 คนต่อปี

ทั้งนี้ ไม่อยากให้สังคมตระหนกกับตัวเลขบัณฑิตตกงานที่ออกมามากนัก เนื่องจากในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะประเมินคุณภาพบัณฑิตและติดตามการมีงานทำ และพบว่าบัณฑิตส่วนใหญ่หางานทำได้ตามปกติ แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนต่อระดับปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียน หรือทำธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจส่วนตัว

ดังนั้น ตัวเลขอัตราการมีงานทำที่หน่วยงานต่างๆ สำรวจ อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงมากนัก

ในมิติแห่งความเป็นจริงทางสังคมเมื่อมีสภาวการณ์แห่งปัญหาแน่นอนสังคมย่อมถามหาและรอความหวังในการแสวงหาทางออกเพื่อการแก้ไข ซึ่งจากประเด็นปัญหาบัณฑิตว่างงานที่นับว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนคงจะต้องกระชับวงล้อมปันความคิดหาทางออกต่อปัญหานี้อย่างจริงจังและจริงใจ แต่จากสภาพการณ์ทางสังคมไทยและสังคมโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ คงจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ยากต่อการแก้ไขและเมื่อกล่าวถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานหรือการขยายกิจการของภาคเอกชน

ล่าสุดเลขาธิการสภาพัฒน์ได้กล่าวถึงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 2.6 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 2.0 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.7-3.7

จากภาวะทรุดตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญต่อการลงทุนและการจ้างงาน และแน่นอนย่อมจะส่งผลต่อการมีงานทำของบัณฑิตอย่างหลีกเลี่ยงมาได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าสถาบันอุดมศึกษาในฐานะเป็นต้นทางของการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ จะต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์สำหรับการบริหารจัดการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ตลาดแรงงานแห่งอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในองค์ประกอบดังกล่าวได้แก่การเตรียมความพร้อมด้านทักษะให้นักศึกษาก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

เมื่อกล่าวถึงทักษะที่สำคัญสำหรับบัณฑิตสอดคล้องกับการสำรวจของเว็บไซต์จ๊อบไทยดอตคอมพบว่า นิสิต นักศึกษามากกว่าร้อยละ 86 ยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนาภายใต้การชี้แนะจากผู้มีประสบการณ์

ฉะนั้น ภาครัฐและสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยควรมีนโยบายในการพัฒนาทักษะให้กับนิสิต นักศึกษาโดยอาจสอดแทรกลงในบทเรียน หรือเป็นการแนะแนวนอกเวลาเรียน เพื่อให้เป็นทักษะติดตัวนอกเหนือจากวิชาเรียนปกติ

และเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดแรงงานต่อไป

สําหรับทักษะที่นักศึกษาจบใหม่ควรมีในการนำไปสู่การทำงาน 7 ทักษะ ประกอบด้วย พร้อมเรียนสิ่งใหม่ๆ เป็นได้ทั้งผู้นำ ผู้ตามและผู้ช่วย คิดเองทำเองเป็น มีแรงจูงใจใฝ่สำเร็จ ประยุกต์ความรู้มาได้ ปฏิบัติตนเป็นมืออาชีพ และสื่อสารเป็นใช้ภาษอังกฤษได้

ทางออกสำหรับปัญหาบัณฑิตเตะฝุ่นนอกเหนือจากแนวทางการสร้างทักษะดังกล่าวแล้ว อีกหนึ่งมาตรการที่องค์กรภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะกระทรวง อว.ซึ่งเกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตโดยตรงจะต้องเตรียมหามาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น และจากปรากฏการณ์ดังกล่าว วันนี้การตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะอาจจะเป็นหนึ่งในทางออก สำหรับคณะกรรมการอาจจะมาจากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะผู้ดูแลการผลิตในแต่ละระดับการศึกษา และตัวแทนจากสถานประกอบการ เพื่อระดมแนวคิดและทำหน้าที่เตรียมความพร้อมของบัณฑิตที่จะจบการศึกษาในแต่ละปี

สำหรับข้อเสนอในการเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตเบื้องต้นสามารถแบ่งบัณฑิตได้เป็น 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่จบแล้วตลาดแรงงานต้องการตัวทันที กลุ่มที่ได้งานทำไม่ตรงสาขาที่เรียนจบ กลุ่มสร้างงานเอง และกลุ่มที่ตกงานแน่ๆ

จากปรากฏการณ์บัณฑิตเตะฝุ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วันนี้มหาวิทยาลัยคงจะทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ การวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมบัณฑิตในมิติที่เกี่ยวข้องสำหรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานแห่งอนาคตจึงเป็นหนึ่งในพันธกิจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อแก้บัณฑิตเตะฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image