พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด จ.สกลนคร (14) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด จ.สกลนคร (14) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด จ.สกลนคร (14)
: โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 29.3 : ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองลาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร พ.ศ.2465 : ท่านอาจารย์เสาร์ และท่านอาจารย์มั่น พร้อมทั้งศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสองรุ่นแรกและผู้เข้ามาฝึกหัดใหม่ รวมกันจำนวนมาก จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด (ปัจจุบันเป็น ร.ร.ประชาบาล) อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร นับเป็นเวลา 7 ปี ที่ท่านอาจารย์ได้เริ่มแนะนำการปฏิบัติธรรมที่ง่ายๆ และได้ผลจริงจังจนถึงปีนี้ และได้มีผู้ที่ได้รับธรรมชั้นสูงจากท่าน จนสามารถสอนธรรมกรรมฐานแทนท่านได้ก็มากองค์ มาในปีนี้ท่านอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง ใคร่จะได้ปรับปรุงแผนการให้ได้ผลยิ่งขึ้นทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ จึงได้มีการรวมประชุมบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายให้มาจำพรรษา ณ ที่นี้

แม้ท่านอาจารย์ทั้งสอง ก็ได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับธรรมปฏิบัติเป็นประจำ ท่านอาจารย์เสาร์ ก็ได้มอบให้ท่านอาจารย์มั่น เป็นผู้วางแผนงาน ตลอดถึงแนะนำธรรมปฏิบัติ เพื่อให้ทุกองค์ได้ยืดเป็นแนวการปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ทางฝ่ายบรรพชิต ท่านอาจารย์มั่นได้ยืนยันถึงการที่ได้ปฏิบัติมาและแนะนำมาก่อนแล้วนั้น เป็นทางดำเนินถูกต้องแล้ว ว่าแต่ใครๆ อย่าไปแหวกแนวเข้าก็แล้วกัน เพราะเมื่อดำเนินมาเป็นเวลา 7 ปี เกิดผลสมความตั้งใจแล้ว คือ การปฏิบัติตามอริยสัจธรรม โดยเฉพาะท่านย้ำถึงการพิจารณากายนี้เป็นหลักประกันที่สำคัญยิ่ง ท่านได้ยกตัวอย่างมากมาย นับแต่พระบรมศาสดาและพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งผู้ที่จะผ่านเข้าสู่อริยสัจนั้น จะไม่พิจารณากาย ไม่มีเลย ข้อนี้ท่านยืนยันอย่างแน่วแน่

Advertisement

การที่ท่านย้ำลงในข้อการพิจารณาโดยอุบายต่างๆ นั้น เพราะกลัวศิษย์จะพากันเข้าใจผิดว่าเป็นการพิจารณาที่ไม่ถูก อาจจะเข้าใจไขว้เขว แล้วจะเป็นการเสียผลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งท่านอาจารย์มั่นได้วิตกว่า กลัวผู้ที่เข้าใจโดยละเอียดถ่องแท้ จะพากันเขวหนทาง และพาให้หมู่คณะที่อยู่ในปกครองเขวหนทางตามไปด้วย เพราะท่านได้นิมิตในภายในสมาธิของท่าน ณ ค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านนิมิตว่า “ขณะนั้นเป็นเวลาเช้า เราได้พาพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมากเข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน ขณะนั้นก็ได้เกิดนิมิตในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจขึ้น คือ พระภิกษุสามเณรที่ตามเรามาดีๆ ก็เกิดมีพวกหนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้างขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป” การนิมิตเช่นนี้ ท่านได้เล่าให้ศิษย์ของท่านฟังทุกๆ องค์ พร้อมทั้งอธิบายว่าที่มีพวกภิกษุสามเณรแซงท่านขึ้นไปข้างหน้านั้น คือ บางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่เราได้พาดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสียไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลมาแล้ว ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะมาอ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของเรา แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ที่เรากำหนดให้ไว้ ที่สุดแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น สีจีวร เป็นต้น

การจะปฏิบัติเพื่อการพิจารณากาย อันนับเนื่องด้วยอริยสัจธรรมก็ยิ่งห่างไกล จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือ จำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์เราแล้ว ก็อ้างเอาว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น บางทีจะยังไม่เคยเห็นหน้าเราเสียด้วยซ้ำ และก็หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใดไม่ หรือพวกที่เคยอยู่กับเรามา แต่เมื่ออยู่กับเรา ก็คงเคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากเราไปแล้วก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติของเรา เพียงแต่มีชื่อว่าเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่นเท่านั้น แต่ไม่มีข้อปฏิบัติอันใดที่จะถือได้ว่าเป็นแนวทางเป็นตัวอย่างอันนำมาจากเราเลย

จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังเราไปนั้น จำพวกนี้เป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำของเราทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุกๆ ประการที่มีความสนใจ ต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน รับข้อปฏิบัติแม้เล็กน้อยรักษาไว้ด้วยชีวิตจิตใจ เพราะจำพวกนี้ได้รับผลแห่งการปฏิบัติมากับเรา แล้วเกิดผลอันละเอียดอ่อนจากข้อวัตรปฏิบัติเหล่านี้ ก็เป็นแน่นอนว่าจะแปรผันเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พวกที่ออกนอกลู่นอกทางนั้น คือ เขาเหล่านั้นไม่ได้รับผลอย่างจริงจังจากการปฏิบัติอยู่กับเรา เพราะเหตุที่ไม่ได้ผลจริงนั่นเอง ทำให้เกิดความสงสัยไม่แน่ใจ แต่พวกที่เดินตามเรา ย่อมได้รับความเจริญ

การที่ท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตของศิษย์ของท่าน เพื่อเตือนสติให้ระลึกถึงความที่ว่า ธรรมปฏิบัติที่ท่านได้อุตส่าห์ลงทุนลงแรง พากเพียรพยายามทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนบังเกิดผลมหาศาล จะพึงอยู่นานได้เพียงไรนั้น ก็แล้วแต่ศิษย์ทั้งหลาย จะพากันมีสติหรือพากเพียรเพื่อให้เกิดผลจริงจัง จะรักษาการปฏิบัติเหล่านี้ได้ ถ้าใครจักพึงกล่าวว่าเป็นศิษย์ท่านอาจารย์มั่น เขาก็จะได้รักษาไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่น ผลลัพธ์ที่จะได้ก็จะได้สมจริง

นอกจากการที่ท่านได้เน้นหนักในการรักษาแผนการสอน และแนวทางด้านการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรแล้ว ท่านมาแสดงถึงพุทธบริษัททางด้านฆราวาส ทางฆราวาสท่านเน้นหนักการเชื่อถือ เพราะปรากฏว่าพุทธบริษัทบางจำพวกพากันไปนิยมนับถือในสิ่งที่ผิดเสียมาก เช่น นับถือภูตผีปีศาจ นับถือเจ้าที่ นับถือการเข้าทรง นับถือเทพเจ้าต่างๆ นับถือศาลพระภูมิ นับถือต้นไม้ใหญ่ นับถืออารามเก่าแก่ ซึ่งการนับถือสิ่งเหล่านี้นั้น มันผิดจากคำสอนพระพุทธเจ้าโดยแท้ เป็นการนับถือที่งมงายมาก ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทไม่ควรที่จะนับถือสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อไปนับถือสิ่งเหล่านี้เข้า ก็เท่ากับเป็นการอ่อนการศึกษามากหรือขาดปัญญาในพระพุทธศาสนา

เขาเหล่านั้นได้ปฏิญาณตนว่า ได้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว กลับมีจิตใจกลับกลอกหลอกหลอนตนเอง ไม่นับถือจริง เพราะถ้านับถือจริงก็ต้องไม่นับถือสิ่งที่งมงายที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิแล้ว ดังนั้น จึงปรากฏในภายหลังว่า ภิกษุผู้เป็นชั้นหัวหน้าผู้ที่ได้รับการอบรมจากท่านอาจารย์มั่นแล้ว จะต้องรู้จักวิธีการแก้ไขผู้นับถือผิดเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ เป็นต้น ได้ทุกองค์ ถ้าแก้สิ่งงมงายเหล่านี้ไม่เป็น หรือพลอยนับถือไปกับเขาเสียเลย ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ไม่ใช่ศิษย์ท่านอาจารย์มั่นแน่นอน เพราะว่าการแก้เรื่องภูตผีปีศาจเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการนับถือที่ฝังอยู่ในสันดานมานานแล้วและสถานที่อันเป็นเทวสถานหรือภูตผีอยู่ ก็จะถือว่ามันศักดิ์สิทธิ์ พากันหวาดเสียวไม่กล้าจะถ่ายถอนหรือกำจัดออกวิธีการแนะนำโดยอุบายต่างๆ เมื่อท่านแนะวิธีแล้ว ท่านจะใช้ให้ไปทดลองปฏิบัติงานดูถึงผลงานที่ท่านเหล่านั้นไปปฏิบัติงาน

ท่านอาจารย์มั่นได้อธิบายว่า อันที่จริงการนับถืองมงายนี้ เกิดจากการไม่เข้าใจถ่องแท้ในพระพุทธศาสนา หรือขาดการศึกษาอย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั้นเอง ยิ่งชาวชนบทห่างไกลความเจริญแล้ว ก็ยิ่งมีความเชื่องมงายกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงเป็นสิ่งที่แก้ยากมากทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงว่าชาวชนบทจะพากันหลงงมงาย แม้แต่ชาวเมืองหลวงอย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม ยังพากันหลงงมงายในสิ่งเหล่านั้นมาก เช่น เจ้าพ่อนั้นเจ้าพ่อนี้ บางแห่งก็พากันสร้างเป็นเทวสถาน แล้วก็ไปบูชา ถือเป็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป ก็มีมากมาย

ในเรื่องเหล่านั้น พระเถระบางองค์ถือว่าไม่สำคัญ แต่ท่านได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกทีเดียว เพราะการจะเข้าถึงซึ่งความเป็นพระอริยะในขั้นแรก คือ พระโสดาบันนั้น ก็จะต้องแก้ไขถึงความเชื่อถือในเรื่องความงมงายเหล่านี้ให้หมดไป เพราะท่านอาจารย์มั่นต้องการสอนคนให้พ้นทุกข์จริงๆ สอนคนให้เป็นอริยะกันจริงๆ ซึ่งบางคนพากันบำเพ็ญภาวนา ได้รับการยกย่องจากพระอาจารย์ของตนว่ามีธรรมปฏิบัติชั้นสูงเกิดขึ้นในใจแล้ว แต่เขานั้นยังมีความหลงงมงายในการนับถือ เหล่านั้นใช้ไม่ได้เป็นอันขาด ชั้นสูงในที่นี้ท่านหมายถึง เอาอริยสัจ เพราะวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ต้องไม่มีแก่ใจของบุคคลผู้มุ่งหน้าปฏิบัติเพื่อความเป็นอริยะ

ในปีนี้ท่านได้แนะนำแก่พระภิกษุ แทบจะถือได้ว่าล้วนแต่หัวหน้าทั้งนั้น จึงเท่ากับท่านได้แนะนำสำคัญให้แก่บรรดาศิษย์โดยแท้ จึงปรากฏว่า หลังจากท่านอาจารย์มั่นได้ธุดงค์ไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว มอบศิษย์ทั้งหลายให้แก่ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งศิษย์เหล่านี้เป็นศิษย์ชั้นหัวกะทิทั้งนั้น จึงเป็นกำลังให้ท่านอาจารย์สิงห์ในการที่จะปราบพวกนับถือผิด มีภูตผีได้เป็นอย่างดี นับแต่ท่านได้พาคณะออกจากจังหวัดอุบลฯ เมื่อ พ.ศ.2472 นั้นแล้ว ก็เริ่มแก้ไข สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยการเข้าไปอยู่ที่นั้น แนะนำประชาชนให้ทราบถึงข้อเท็จจริงจนเป็นที่เชื่อมั่นแล้ว ก็พากันละจากการนับถือภูตผีกันมามากมายทีเดียว ในจังหวัดทั้งหลายมี อุบลฯ-ขอนแก่น-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม-นครราชสีมา ตามที่ท่านคณาจารย์เหล่านี้ผ่านไปแล้ว จะปรากฏว่าได้ถูกแนะนำให้เลิกจากการนับถือที่งมงายลงมากมาย สมัยนั้นเป็นสมัยตื่นตัว และพากันได้ทราบความจริงอย่างมากมาย ชาวชนบทจะไม่เคยได้รับธรรมคำสั่งสอนเช่นนี้มาก่อนเลย

จากวัตรปฏิบัติอันงดงาม ของพระอาจารย์ทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน องค์การ UNESCO ได้ประกาศยกย่องให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ.2563 เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำวาระปี 2563-2564 นับเป็นพระอริยสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และท่านพุทธทาสภิกขุ

(ติดตามตอนที่ 29.4 ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image