จากฝั่งธนฯของกทม. สู่ฝั่ง(กรุง)ธนฯในมหานครกรุงเทพธนบุรี และกรุงธนฯของกรุงธนบุรีมหานคร : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เรื่องราวของพื้นที่ที่เรียกว่า “ฝั่งธนฯ” เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับการบริหารนคร แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั้งง่ายและยาก

ทุกคนรู้จัก “ฝั่งธนฯ” แต่ถามว่าทุกคนจะเอายังไงกับฝั่งธนฯ

สำหรับผม เรื่องที่สำคัญอาจจะเป็นเรื่องในระดับที่เป็นทางการ (formality) สักเล็กน้อย ก็คือจะเรียกชื่อและมอบสถานะอะไรให้กับฝั่งธนฯ

ปัจจุบันฝั่งธนฯเป็นเหมือน “มหานครล่องหน” หรือ “มหานคร” ที่สูญหาย

Advertisement

เกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ระดับราชธานี ที่ถูกลดสถานะทางพื้นที่มากขนาดนี้?

ผมไม่ใช่คนฝั่งธนฯ แต่ผมมีชีวิตอยู่ไม่ได้ถ้าผมไม่มีฝั่งธนฯ เพื่อนฝูงคนสนิททั้งหลายก็อยู่ฝั่งธนฯ รถผมอู่ก็อยู่ฝั่งธนฯ สุนัขแสนรักก็เข้าโรงเรียนที่ฝั่งธนฯ ร้านอาหารที่ผมชอบก็อยู่ฝั่งธนฯ แถมตอนเรียนจบใหม่ๆ สักยี่สิบกว่าปีก่อน เพื่อนรุ่นน้องที่เคยไปตกระกำลำบากทางการศึกษาด้วยกันในต่างประเทศอย่าง ส.ส. ดร.จักรพันธ์ พรนิมิตร ยังชวนมาเป็นครูที่โรงเรียนพาณิชย์จรัญอยู่ตั้งหนึ่งภาคการศึกษาทีเดียว

แต่การเรียกฝั่งธนฯแบบนี้ก็เอากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง และที่สำคัญอยากจะชี้ว่าไม่ต้องอ้างถึงประวัติศาสตร์ ฝั่งธนฯก็สำคัญเกินกว่าจะเป็นแค่ฝั่งธนฯ แต่ควรจะถูกพัฒนาออกเป็นสามสถานะ

1.เป็นจังหวัดธนบุรี ซึ่งก็ไม่ควรจะคิดแล้ว เพราะเป็นการลดสถานะจากฝั่งหรือส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

2.เป็นส่วนหนึ่งของมหานครกรุงเทพธนบุรี ซึ่งน่าจะคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณส่วนหนึ่งของประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ของจอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ และนายกรัฐมนตรี เมื่อ 21 ธันวาคม 2514 ที่รวมจังหวัดพระนครและธนบุรี และเรียกว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี

จอมพลถนอมให้เหตุผลเอาไว้ในประกาศคณะปฏิวัติว่า “โดยที่จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านประวัติศาสตร์และการปกครองมาช้านาน แม้ในปัจจุบันการประกอบอาชีพของประชาชนแต่ละจังหวัดก็ได้ดำเนินไปในลักษณะที่เป็นจังหวัดเดียวกัน และการจัดหน่วยราชการสำหรับรับใช้ประชาชนก็ได้กระทำในรูปให้มีหน่วยราชการร่วมกัน เช่น การศาล การรับจดทะเบียนกิจการบางประเภท คณะปฏิวัติจึงเห็นสมควรที่จะรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกันเพื่อการบริหารราชการจะได้ดำเนินไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพ บังเกิดความเจริญแก่จังหวัดทั้งสองโดยรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นฯ”

จังหวัดธนบุรีจึงสิ้นสุดลงและรวมเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษคือ กรุงเทพมหานคร ในเวลาต่อมา

ดังนั้นถ้าจะคงความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการบริหารเอาไว้ผมก็คิดว่าอย่างน้อยก็ควรจะเปลี่ยนชื่อกรุงเทพมหานครเป็นมหานครกรุงเทพธนบุรี หรือใช้คำว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี เพื่อให้เห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสองพื้นที่เสมอกันในอดีต

และที่สำคัญกว่านั้นคือ ความสำคัญของการพัฒนาในปัจจุบันและอนาคต
ถ้าเรามีชื่อเรียกว่า มหานครกรุงเทพธนบุรี ตามจิตวิญญาณเดิมของการรวมจังหวัด การที่เราจะยังใช้คำว่า “ฝั่งธนฯ” ในฐานะฝั่งหรือส่วนหนึ่งของมหานครกรุงเทพธนบุรีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะจะเห็นทั้งความสำคัญของราชธานีเก่า และเห็นความสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตของพื้นที่ฝั่งธนฯ และชาวฝั่งธนฯ

3.แต่กระนั้นก็ตาม การรวมพื้นที่เป็นจังหวัด หรือเขตการปกครองขนาดใหญ่นั้นดูจะขัดกับขนบของกระทรวงมหาดไทยและการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มักจะแตกจังหวัดขนาดใหญ่ออกเป็นจังหวัดใหม่ ด้วยข้ออ้างเดียวกันกับประเด็นที่แล้ว คือเพื่อให้บริการกับประชาชน ซึ่งผมไม่เคยเห็นคำอธิบายของการรวมจังหวัดเพื่อให้บริการกับประชาชนอย่างทั่วถึงอีกเลย

ดังนั้น ถ้าจะมองไปยังอนาคตด้วยเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจากอดีตอันรุ่งเรืองและมีสถานะของราชธานีมาก่อน ก็ควรจะกำหนดให้ฝั่งธนฯได้มีสถานะเป็น กรุงธนบุรีมหานคร และเลิกใช้คำว่า ฝั่งธนฯ และให้ใช้คำว่า กรุงธนบุรี หรือกรุงธนฯ จากนี้ไป เพราะกรุงธนฯไม่ใช่ (แค่) ฝั่งธนฯ แม้ว่ากรุงเทพฯกับกรุงธนฯจะติดกัน แต่ก็เป็นกรุงทั้งคู่

ข้อเสนอทั้งข้อสองและสาม คือฝั่งธนฯในมหานครกรุงเทพธนบุรี และกรุงธนฯในกรุงธนบุรีมหานคร เป็นไปเพื่อการยกย่องให้ความสำคัญกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของชาวกรุงธนฯทั้งสิ้น

ที่ผมพยายามย้ำเรื่องนี้เพราะว่าข้อเสนอและการเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ได้พบเจอในเรื่องของการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นในกรุงธนฯมักจะอิงกับเรื่องของอดีตอันรุ่งเรือง แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นคือการถูกละเลยและการไม่ได้นำพื้นที่ของกรุงธนบุรีมาเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอย่างจริงจัง การขยายตัวของกรุงธนฯในปัจจุบันเป็นไปในลักษณะของการขยายพัฒนามาจากฝั่งกรุงเทพฯเป็นหลัก และเป็นไปเพื่อเชื่อมโยงฝั่งกรุงเทพฯต่อไปยังพื้นที่จังหวัดโดยรอบ

ฝั่งธนฯมีพื้นที่ถึง 15 เขต จาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญคือ นับจากปี 2532 มีการแบ่งเขตโดยแยกเขตเดิมออกเป็นเขตใหม่ จาก 9 สู่ 15 เขต ซึ่งหมายความว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2532 และ 2540 (เขตเดิมคือธนบุรี บางกอกใหญ่ คลองสาน ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางขุนเทียน ภาษีเจริญ หนองแขม ราษฎร์บูรณะ เขตใหม่คือบางพลัด จอมทอง บางแค ทวีวัฒนา ทุ่งครุ และบางบอน) เขตใหม่เดิมก็เป็นแขวงของเขตเดิม

ตัวเลขเมื่อปี 2560 กรุงธนฯมีพื้นที่ถึง 457.119 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 1.7 ล้านคน
โดยประมาณ และในปี 2562 กรุงธนฯมีเขตเลือกตั้ง 9 เขต อนาคตใหม่ชนะไป 6 เขต พลังประชารัฐ 1 และเพื่อไทย 2 ซึ่งเป็นคำถามใหญ่ว่าตกลงฝั่งธนเป็นพื้นที่คนรุ่นใหม่จริงไหม? หรือพรรคเก่าแข่งกันชิงฐานคะแนนเสียงใหม่ ขณะที่ประชากรจำนวนมากที่เข้ามาใหม่กลับเทใจไปให้ “ส้ม”

พื้นที่กรุงธนบุรีถูกกำหนดในผังเมืองฉบับใหม่เป็นพื้นที่เกษตร และที่อยู่อาศัยค่อนไปทางไม่หนาแน่นมาก มีส่วนที่อยู่อาศัยหนาแน่มากบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ไม่มากนัก ไม่มีพื้นที่พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่พบคือปริมาณฝุ่นพิษในเขตบางพลัดติดอันดับสูงมากถึงสูงที่สุดในบางเวลา

ในทางกายภาพถนนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านกรุงธนฯไปยังพื้นที่จังหวัดโดยรอบ อาทิ นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของชุมชนของกรุงธนฯมาเป็นเวลานานแล้ว จะเห็นสภาพถนนขนาดใหญ่ที่ไม่ส่งเสริมการเดินและรูปแบบชุมชนใดๆ การข้ามถนนมีจุดข้ามน้อย สะพานลอยยาว การกลับรถต้องมีสะพานและกลับที่หัวถนน ดังนั้น การสวนทางกันของรถเล็กและมอเตอร์ไซค์ รวมทั้งอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นมาก ถนนขนาดใหญ่ในระดับทางหลวงข้ามเมืองเช่นนี้ไม่เป็นมิตรกับคนในพื้นที่

มาจนถึงวันนี้รถไฟฟ้าสายใหม่ๆ และการเติบโตจากริมแม่น้ำด้วยธุรกิจท่องเที่ยว และอสังหาฯราคาแพง ทำให้แรงบีบอัดที่มีต่อชุมชนริมน้ำและชุมชนห้องแถวและชุมชนริมร่องสวนที่ปรับเป็นถนนอันคดเคี้ยวของกรุงธนฯเผชิญปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย การเข้ามาของคอนโดใหม่ๆ จะเชื่อมโยงกับชุมชนเดิมได้อย่างไร?
คำถามความเชื่อมโยงเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องความเชื่อมโยงแต่เรื่องของโครงข่ายถนน แต่เป็นคำถามความเชื่อมโยงใน “โครงข่ายชีวิต” ของคนเก่าและใหม่ คนกรุงธนฯและคนที่อื่น และคนกรุงธนฯเจเนอเรชั่นต่างๆ

ผมอยากเสนอให้กรุงธนฯมีการบริหารมหานครเป็นของตนเอง มีผู้ว่าราชการมหานครเป็นของตนเอง ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และร่วมกับโครงสร้างการบริหารเดิมของจังหวัดโดยรอบคือผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบที่จะพัฒนาให้จังหวัดเหล่านั้นปรับสถานะเป็นมหานครตามกรุงเทพมหานคร

การทำเช่นนี้จะทำให้กรุงธนบุรีมีตัวแทนบริหารจังหวัดของตนเองในรูปแบบสภาท้องถิ่นที่จะกำหนดอนาคตของตนเองมากขึ้น และตรวจสอบการบริหารท้องถิ่นของตนเองตั้งแต่ในภาพรวมและแยกย่อยไปตามเขตพื้นที่ด้วย และมีผังเมืองของตนเอง เขาจะได้วางจุดพาณิชยกรรมของตนเอง และมีศูนย์กลางการพัฒนาและกำหนดความยั่งยืนและการฟื้นสภาพของตนเองได้

แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่จะไปถึงกรุงธนบุรีมหานครนั้น ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบนี้อีกไม่นาน หนึ่งในคำถามสำคัญของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็คือ “กรุงธนฯ question” หรือคำถามที่ว่าจะเอายังไงกับพื้นที่และชาวกรุงธนฯ จะสร้างความเข้มแข็งและเคารพพื้นที่ฝั่งนี้ไม่เห็นเป็นแค่พื้นที่รองรับทุนท่องเที่ยวและทุนอสังหาฯเท่านั้นไหม

การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ และพื้นที่ริมน้ำต่างๆ จะเป็นอย่างไร ชาวกรุงธนฯ หรือฝั่งกรุงธนฯของมหานครกรุงเทพธนบุรีในรอบนี้จะมีโอกาสกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างไรทั้งในสถานะเขตของ กทม. ซึ่งจะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่อย่างน้อยในทุกการรณรงค์การเลือกตั้งและการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมหานครกรุงเทพธนบุรี หรือนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เพื่อคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความเสมอกันของชาวกรุงเทพฯและกรุงธนฯ

(หมายเหตุ : แรงบันดาลใจของการคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังส่วนหนึ่งมาจากการร่วมสนทนากับพี่น้องชาวกรุงธนฯในงานสัมมนาที่จัดโดยพรรคอนาคตใหม่ เรื่องสังคมหลังความเหลื่อมล้ำ ณ ที่ทำการพรรคสาขาธนบุรี เมื่อเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน ขอขอบคุณผู้ร่วมเสวนาทุกท่าน และ ส.ส. จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ กับอาจารย์
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ชาวกรุงธนฯรุ่นสาม ที่แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ ของชาวกรุงธนฯให้ฟังครับ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image