ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นำสังคมไทยสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

เมื่อระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้จัดประชุมทางวิชาการครั้งที่ 21 ประจำปี 2562 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร หัวข้อ “ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการด้านการพัฒนาสังคม และนักการเมืองที่เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่ออาสามารับใช้ประชาชนและประเทศชาติ เพื่อถกแถลงและโต้แย้งแนวคิดและทฤษฎีในการพัฒนาประเทศเพื่อลดช่องว่างของคนในสังคม และสรรค์สร้างประชาธิปไตยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนหรือมีคุณภาพ เท่าที่ได้สดับตรับฟังการอภิปราย-บรรยาย และข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันของที่ประชุม ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าการพัฒนาในรูปแบบใดจึงจะสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำหรือบีบช่องว่างให้แคบได้ระหว่างคนรวยกับคนจน และคนมีอำนาจกับคนที่ไม่มีอำนาจ เพราะความเหลื่อมล้ำมีหลากหลายมิติ รวมทั้งกระบวนการพัฒนาหรือสร้างประชาธิปไตยให้มีคุณภาพก็เช่นกัน เพราะคุณภาพประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน หากไม่สามารถพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพ โอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีคุณภาพย่อมสิ้นหวัง เมื่อประชาธิปไตยด้อยคุณภาพ การตกเป็นเหยื่อของอำนาจเผด็จการก็เกิดขึ้นได้ง่ายวัฏจักรการเมืองในสังคมไทยก็เวียนวนอยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ และเผด็จการกับประชาธิปไตย เช่นนี้ไปอีกนาน

1.บริบทของความเหลื่อมล้ำ (The Areas of Inequality) ความเหลื่อมล้ำคือความไม่เสมอภาค (Inequality) และความไม่เสมอภาคคือความเบี่ยงเบนของพฤติกรรมในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมแบบเลือกปฏิบัติ การแก้ปัญหาหรือลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจึงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างกลไกในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน และความเสมอภาคกันในทางสังคมวิทยานั้น หมายถึงการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐไม่เลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานในทางกฎหมาย ในการดำรงชีวิต ในการประกอบอาชีพ ในการแข่งขัน และในการให้การช่วยเหลือ เป็นต้น

การขจัดช่องว่างความเหลื่อมล้ำดังกล่าว รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐมิอาจจะกระทำได้หรือปฏิบัติได้โดยง่าย เพราะมาตรฐานทางสังคมของมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม สัตว์การเมือง และสัตว์เศรษฐกิจ แตกต่างกัน กลไกหรือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่ประเทศต่างๆ ซึ่งเจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) ยึดถือปฏิบัติคือ

1.1 การศึกษา (Education) รัฐบาลต้องทุ่มเทในเรื่องการจัดการศึกษา ขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลในยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ดูแล กระทรวงการศึกษาได้ดำเนินการมาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม คือเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งดีกว่ามารดาประชารัฐหลายเท่า แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถดถอยจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จึงผันตนเองไปยังกระทรวงอื่นแทน ปล่อยให้ระบบการศึกษามีแนวโน้มที่ตกต่ำเช่นเคย ทั้งๆ ที่บุคลากรของพรรคประชาธิปัตย์มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาเป็นอย่างดี
การศึกษาเป็นกระบวนการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คนที่ได้รับการศึกษาสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ประเทศที่พัฒนาแล้ว คนส่วนใหญ่มีการศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป

Advertisement

1.2 สาธารณสุข (Public Health) รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณด้านการพัฒนาสุขภาพอนามัยของคนในสังคมให้ปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และโรคระบาดนานาชนิด รวมทั้งกำกับควบคุมบุคลากรทางแพทย์ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยเจ็บอย่างเหมาะสม ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งมีสภาพคล้ายคลึงโรงฆ่าสัตว์ มีผู้ป่วยเจ็บนั่ง-นอนเฝ้ารอแพทย์หมอ หรือพยาบาลอย่างน่าเวทนา และอเนจอนาถเป็นอย่างยิ่ง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้น ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าห้องพักเฝ้าดูอาการ แพงหูฉี่ยิ่งกว่าโรงแรมห้าดาว ซึ่งคนยากจนเอื้อมมือไม่ถึง แม้รัฐจะมีบัตรสวัสดิการสารพัดก็ตาม แต่สำหรับคนรวยไม่มีปัญหาเพราะมีทั้งเงินและอำนาจ
ประชาชนคนยากจนในประเทศไทยเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการด้อยการศึกษา จึงมีสภาพชีวิตอย่างแร้นแค้น รอคอยโชควาสนาจากหวยเบอร์ และส่วนบุญจากรัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงจูงใจทางสื่อโทรทัศน์และโทรศัพท์ที่ยั่วยุปลุกอารมณ์ให้ต้องคลั่งไคล้แสวงหา จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว และหมดนาหมดไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของบรรพบุรุษ

1.3 เศรษฐกิจรากฐาน (Based Economy)
เศรษฐกิจของชาวบ้านโดยพื้นฐานคือการประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา-ทำไร่ เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเอื้ออำนวยมีฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ครั้นประเทศไทยมีการพัฒนาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำหมู่บ้านจัดสรร ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งรีสอร์ต สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม ถนน ไฟ น้ำ สะดวกสบาย นอกจากจะกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติแล้ว ยังมีมลภาวะทางสังคมอีกด้วย ฝนที่เคยตกต้องตามฤดูกาลก็เปลี่ยนไป ชาวนา-ชาวไร่ จึงทิ้งนา-ไร่ อพยพเข้าสู่เมืองเพื่อเสี่ยงโชคและเสี่ยงชีวิต เมื่อโรงงานปิดกิจการ อพยพกลับบ้าน นา-ไร่ที่เคยมีก็หมดไป วัว-ควายที่เคยใช้งานก็ขายทิ้ง ความรู้ที่จะประกอบอาชีพอย่างอื่นก็ไม่มี ปัญหานานาก็เกิดขึ้นตามมาสารพัด ทั้งการพนัน ยาเสพติด อบายมุข อาชญากรรม หลากหลายรูปแบบ

การแก้จนเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำให้กับคนในสังคมจึงมิใช่เอาเงินไปแจก เพราะแจกจนหมดคลังก็ไม่พอ แต่รัฐบาลต้องรื้อฟื้นคืนชีวิตคนยากจนตามแนวศาสตร์พระราชาด้วยหลักการ 4 ประการ คือ

Advertisement

1)ปลุกเสกความขยัน (อุฏฐานสัมปทา) ชุมชนไหนสมาชิกในชุมชนขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้นในการทำมาหากิน และไม่มั่วสุมอบายมุข รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลืออย่างจริงจัง เช่น ขุดสระน้ำขนาดมาตรฐาน หรือสร้างอ่างเก็บน้ำในรูปหนึ่งชุมชนหนึ่งอ่างเก็บน้ำ

2)ปลุกเสกการออม (อารักขสัมปทา) เมื่อส่งเสริมอาชีพแล้ว ต้องส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยความประหยัดและมัธยัสถ์ให้กับคนในชุมชน ความประหยัดเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง คนที่หมดเนื้อสิ้นตัวเพราะความสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือย

3)ปลุกเสกพื้นที่ศีลธรรม (กัลยาณมิตตะตา) การเพิ่มพื้นที่ศีลธรรม สามารถทำได้ด้วยการจูงใจให้คน ได้รับค่าตอบแทนในเรื่องการออมทรัพย์ กล่าวคือ ถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมกู้ยืมไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ส่วนคนดีคือคนเช่นไร คำตอบคือคนที่ไม่ข้องแวะเรื่องอบายมุข และ

4)ปลุกเสกความคงเส้นคงวา (สมชีวิตา) ความคงเส้นคงวาของชีวิต หมายถึงความเสมอต้นเสมอปลายไม่ใช่ต้นดีและปลายคด ได้แก่การใช้ชีวิตอย่างสมถะและเรียบง่าย รู้จักความพอดี พอเหมาะและ
พอประมาณ ทำนองนกน้อยทำรังแต่พอตัว นั่นแหละ

หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถอัดฉีดหรือปลุกเสกชุมชนให้ตื่นตระหนักรู้ในเรื่องเศรษฐกิจรากฐานทั้ง 4 ประการข้างต้น จะสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถปลดล็อก ชีวิตที่ยากจนสู่ชีวิตที่มั่งคั่งได้ ที่สำคัญไม่ต้องรอรับส่วนบุญจากการกรวดน้ำอุทิศจากรัฐ นี่แหละทิศทางการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง

2.คุณภาพประชาธิปไตย (Democratic Quality) ประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ของมัน ย่อมมีคุณภาพตามคุณลักษณะอยู่แล้วเพราะประชาธิปไตย แปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ (อธิปไตย+ประชาชน) การปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน แต่สาเหตุที่ประชาธิปไตยไม่มีคุณภาพ เกิดจากประชาธิปไตยปลอม (Fake Democracy)

ประเทศไทยได้ลองผิด-ลองถูกในการปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย มาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ภายหลังคณะราษฎรยึดอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลา 87 ปีที่ผ่านมา ต้นกล้าประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้ตอนกิ่งจากประเทศยุโรปมาปลูกในประเทศไทย เหี่ยวและเฉามาโดยตลอด เพราะผิดดินฟ้าอากาศหรืออย่างไรไม่แน่ชัด! แต่ที่ปรากฏชัดก็คือล้มลุกและคลุกคลานมาอย่างต่อเนื่อง

การสร้างประชาธิปไตย ก็คล้ายคลึงกับการสร้างบ้าน ต้องมีการออกแบบแปลนให้เหมาะสมกับพื้นที่และจำนวนคนที่จะเข้าอยู่อาศัย ไม่เล็กหรือใหญ่โตจนเกินไป ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ มิฉะนั้นจะบานปลาย

ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ หมายถึงประชาธิปไตยที่สามารถลูบคลำหรือสัมผัสได้สำหรับทุกคนที่อยู่ในสังคม ทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบท ทั้งคนร่ำรวยและคนยากจน กล่าวคือคนที่มีฐานะก็ได้ประโยชน์ และคนที่ขัดสนก็ได้รับอานิสงส์ แต่ประชาธิปไตยที่ผ่านมา และกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนทั้งสองระดับ จึงเป็นประชาธิปไตยที่ปลอมและด้อยคุณภาพ

3.ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม (Liberal Democracy)
คณะราษฎรได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งนำกล้าพันธุ์มาจากประเทศในโลกตะวันตก เพราะผู้ก่อการส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษามาจากประเทศในโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส จึงเน้นการปกครองที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ใน 3 เรื่องหลัก คือ

1) ความเป็นอิสรเสรี (Liberty)
2) ความเสมอภาค (Equality)
3) ความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน (Fraternity)

แต่ยังไม่ทันนกกระจอกจะกินน้ำด้วยซ้ำไป ก็เกิดอาการวงแตกในคณะผู้ก่อการเสียเอง เนื่องจากแย่งกันเป็นใหญ่และการเมืองไม่มีพี่มีน้องหรือภราดรภาพ (Fraternity) มีแต่อำนาจ ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลาในการปกครองที่คณะราษฎรใฝ่ฝันและคาดหวัง จึงมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นเพื่อแย่งชิงอำนาจกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยหลักการหรืออุดมการณ์ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม จะมีหลักการ หรืออุดมการณ์พื้นฐานที่สำคัญถึง 7 ประการ ประกอบด้วย

3.1 ปัจเจกบุคคลนิยม (Individualism) หมายถึงมนุษย์แต่ละคนมีความสำคัญมากกว่ากลุ่ม หากปัจเจกชน คือคนแต่ละคนเป็นคนมีคุณภาพ การรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมืองย่อมมีคุณภาพ

3.2 เสรีภาพ (Liberty) หมายถึงทุกคนซึ่งเป็นปัจเจกบุคคล ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย (Freedom under the Law)

3.3 เหตุผล (Reason) หมายถึงการเคารพในเหตุผลของบุคคลอื่นที่อาจแตกต่างจากเหตุผลของตน แต่เมื่อหลายๆ คนมีเหตุผลตรงกัน ต้องถือว่าคนส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่มีเหตุผลในเชิงสาธารณะมากกว่า

3.4 ความเสมอภาค (Equality) หมายถึงชายและหญิงย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน การใช้สิทธิลงคะแนนเสียงต้องคำนึงถึงความเสมอภาคของคนในสังคม ซึ่งเรียกว่า วัน แมน วัน โหวต (One Man One Vote) เน้นความเสมอภาคในโอกาส แต่ไม่เน้นความเสมอภาคในพฤติกรรม

3.5 ขันติธรรม (Toleration) หมายถึงความมีจิตใจที่หนักแน่นและอดทนต่อความเห็นต่างของบุคคลอื่น หรือกลุ่มอื่นในทางการเมือง ไม่มองบุคคลที่เห็นต่าง เป็นศัตรู

3.6 ฉันทานุมัติ (Consent) หมายถึงการออกกฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และระเบียบอื่นใด ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนในสังคมเดียวกัน ในทางการเมืองต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

3.7 รัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) หมายถึงการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานในการปกครองประเทศซึ่งประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมองว่า รัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมืองมากกว่ารัฐบาลที่มีอำนาจไม่จำกัดหรือเผด็จการ ทั้งเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุล (Checks and Balances) ระหว่างกัน นั่นก็คือระบบรัฐสภานั่นเอง

4.รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม (Efficient Constitution) การออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีประสิทธิภาพหรือสอดคล้องกับวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นต้นนั้น ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ทางสังคมอย่างครบถ้วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การมหาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เพื่อระดมความคิดเห็นและคัดกรองประเด็นหลักๆ ให้ครบถ้วนอย่างรอบด้าน โดยเทียบเคียงรัฐธรรมนูญที่เคยออกแบบมาแล้ว เกิดสภาพปัญหานำไปสู่การฉีกทิ้ง อย่างเช่นรัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2517 รัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2540 รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับประชามติพุทธศักราช 2550

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญโดยกลไกในตัวของมันเองนั้นไม่มีปัญหาแต่ประการใด หากการยกร่างรัฐธรรมนูญตามหลักวิชาการในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเชิงประยุกต์ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม

การฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง เกิดจากสภาพปัญหาใน 2 มิติ คือประชาชนไม่มีคุณภาพ และนักการเมืองไม่มีคุณธรรม หากทั้ง 2 มิตินี้ มีลักษณะสัมพันธ์กัน คือประชาชนมีสติปัญญาใช้วิจารณญาณ เลือกเฟ้นนักการเมืองที่ดีเพื่อเข้าไปบริหารบ้านเมือง และนักการเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะมากกว่าจิตสำนึกในเชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ใครก็มิอาจจะกล้าฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง หรือปฏิวัติรัฐประหาร

การออกแบบรัฐธรรมนูญดีมีมาตรฐาน แต่คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจะไม่ยั่งยืน

5.สรุป : การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มต้นด้วยการยกระดับการศึกษาของคนในสังคม และพัฒนาคุณภาพประชาชน เพราะคุณภาพของประชาชนมีผลต่อคุณภาพประชาธิปไตย ประชาชนที่มีคุณภาพ เพราะมีระดับการศึกษาที่ดี นำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่ดีและมั่นคง การพัฒนาคุณภาพประชาชนเพื่อให้สามารถเลื่อนระดับจากความยากจนสู่ความมั่งคั่งนั้น นอกจากติดอาวุธทางการศึกษาแล้ว รัฐต้องอัดฉีดหรือปลุกเสกชีวิตในเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลักการ คือ ความขยันอดทนรู้จักอดออม, หลีกเลี่ยงอบายมุข และมีความคงเส้นคงวาในการประกอบอาชีพ ตามแนวศาสตร์พระราชา ส่งเสริมสนับสนุนเงินทุนหรืองบประมาณในรูปของชุมชน หรือกลุ่มอย่างเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่กลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างโรงทานให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม หากใช้นโยบายแบบโปรยทาน โอกาสในการลดช่องว่างจะไม่เกิดขึ้น ทั้งจะเป็นการเพาะบ่มพฤตินิสัยให้ขาดความกระตือรือร้น และพึ่งตนเองตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาติ

ในด้านคุณภาพประชาธิปไตยก็เช่นกัน ต้องแสวงหากรรมวิธีในการออกแบบประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา และค่านิยมหลักของคนในสังคมโดยผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญในแนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนั้นมีหลักการหรืออุดมการณ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วทุกประการ แต่สาเหตุที่ประชาธิปไตยในสังคมไทยมีอายุสั้นหรือป่วยเจ็บเรื้อรัง เกิดจากคุณภาพของประชาชน คุณธรรมของนักการเมือง และทหารใจร้อน … หากประชาชนมีคุณภาพ นักการเมืองมีคุณธรรม บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายปรับเปลี่ยนแนวคิดและทฤษฎีแบบชาตินิยมสู่ประชาธิปไตยนิยม หรือเสรีนิยม ปัญหาความไม่ยั่งยืนของประชาธิปไตยก็หมดไป

 

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image