จิตวิวัฒน์ : ป่าคือพื้นที่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ (2) : โดย ณัฐฬส วังวิญญู

ในบทความตอนแรกที่ตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนกล่าวถึงการค้นหาพื้นที่สำหรับนิเวศภาวนา (Vision Quest) แห่งใหม่ที่เชียงราย รวมถึงความสำคัญของการเดินทางเข้าป่า ที่เปรียบเสมือนกับการเดินทางลง (Descending) ตามคติของการเดินทางลงสู่ดินแดนแห่งจิตวิญญาณ (Journey Down) บทความตอนที่สองจะกล่าวถึงกระบวนการระหว่างการทำนิเวศภาวนา

สภาศักดิ์สิทธิ์ (The Sacred Council)

ในแง่หนึ่ง เควส เป็นการเรียนรู้ผ่านการดำรงชีวิตร่วมกันในธรรมชาติ คล้ายกับการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีตที่อาศัยแสงเทียนหรือตะเกียง และบทสนทนาในยามค่ำคืนบรรเทาความรู้สึกโดดเดี่ยวได้อย่างประณีต ในสามวันแรก ทุกๆ เย็น หลังจากกินข้าวแล้ว พวกเราจะพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่ วงนี้มีความพิเศษที่ทุกคนผ่านการเรียนรู้กับตัวเองมาพอสมควร หลายคนเป็นโค้ช กระบวนกร ครู นักละคร ทำให้มีคุณภาพการฟังที่ลึกซึ้ง มีสมาธิ และใส่ใจกันและกันมาก จนเกิดสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจิตร่วม

ในวิถีเดิมของชนพื้นเมืองอเมริกา มีวงที่เรียกว่า the Council ที่ทุกคนในวงจะรับฟังคนที่กำลังพูดอย่างให้คุณค่าและใส่ใจไปพร้อมกับรับฟังเสียงครูภายในหรือจิตวิญญาณของตัวเอง จึงเป็นการรับฟังที่มีที่ว่างภายในสูงมาก ไม่ได้แปลว่าการพูดคุยจะต้องเนิบนาบย้วยยาน แต่มีความตื่นตัว ฉับไวฉับพลันได้ เพราะมีจิตวิญญาณร่วมคอยประคับประคองอยู่

Advertisement

คืนแรก เราคุยกันถึงวาระแห่งการเติบโตและเปลี่ยนแปลงชีวิตของแต่ละคน เสียงของค่ำคืนเงียบสงัดจนเราได้ยินเสียงของกันและกันอย่างชัดเจน รวมถึงเสียงของความรู้สึก แม้แต่เสียงของลมหายใจ แสงเทียนทำให้เราเห็นกันและกันมากกว่าใบหน้าแววตา ดังคำกล่าวในดินแดนแอฟริกาที่ว่า “เมื่อตกเย็น เรามาปิดไฟกันเถอะ เพื่อว่าเราจะได้เห็นกันและกันได้ชัดขึ้น”

การสนทนาที่หลอมรวมจิตวิญญาณของทุกคนไว้ร่วมกัน เป็นการอยู่ร่วมที่เรียบง่ายและวิเศษ ช่วยทำให้การมองเห็นความคิด ความหมาย และสัญลักษณ์ละเอียดขึ้นอย่างไปพ้นรูปแบบของภาษา เราได้ยินเสียงของเพื่อนในวงและตัวเองไปพร้อมๆ กัน จนหัวใจของเราได้สัมผัสถึงหัวใจของเพื่อนๆ ในเรื่องราวเหล่านั้นอย่างลึกซึ้งขึ้น ความเงียบสงัดของป่าช่วยให้เราเกิดความสงัดภายใน ทำให้เราได้ยินได้ไกลและลึกขึ้น

วิถีของวงสนทนาแบบนี้พบได้ยากในวิถีชีวิตในเมืองทั่วไปที่เต็มไปด้วยเสียงจอแจ ทั้งตามท้องถนน จอโทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย

Advertisement

คืนที่สอง เราแบ่งปัน “ราก” ของเราซึ่งหมายถึงรากทางวัฒนธรรม ครอบครัว ชาติพันธุ์เพื่อเข้าใจระบบความเชื่อ มุมมอง ความกลัว ความใฝ่ฝันของเรา รวมทั้งภารกิจหรือเป้าหมายอันแท้จริงของการเกิด มาเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าและคุณลักษณะพิเศษในตัวเองที่แตกต่างหลากหลาย

หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธาตุตามธรรมชาติ

เราเป็นสิ่งที่เห็น เราเป็นสิ่งที่สัมผัส เราเป็นสิ่งที่กิน เราเป็นสิ่งที่แวดล้อมเรา (Habitat)

มักมีคนถามผมเสมอว่า ทำไมต้องเข้าป่า ทำไมต้องอดอาหาร และมีคำถามต่อว่าในเมื่อทุกอย่างอยู่ที่ใจ เราไม่ต้องออกไปไกลปานนั้นก็ได้ไหม ในประสบการณ์ของผม วิชั่นเควสเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เราปลดเปลื้องและสลัดคราบความเป็นมนุษย์ และเข้าถึงธรรมชาติภายในที่มีอิสรภาพ และการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้ จึงไม่แปลกที่ผู้นำในศาสนาต่างๆ จะอาศัยพื้นที่ธรรมชาติในการเข้าไปบำเพ็ญพัฒนาจิตใจและทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิต

ส่วนการอดอาหารนั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยตัดสิ่งที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ออก จะเรียกว่า “หักดิบอัตตาตัวตน” ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยชั่วคราวก็ว่าได้ เพื่อเข้าสู่ภาวะเปราะบางแบบไร้ที่ยึดเกาะ ซึ่งช่วยทำให้จิตใจเปิดรับสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียด เมื่อเราไม่มีอาหารตกถึงท้องและมีแต่น้ำ ร่างกายจิตใจจะเบาขึ้น และค่อยๆ กลายเป็น “จิตวิญญาณ” ที่รับรู้และสื่อสารกับธรรมชาติได้ดีขึ้น อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองกับการอดอาหารต่างๆ กัน ขึ้นกับสภาพร่างกายและจิตใจ บางคนก็สบายตัว บางคนก็หิวมากหิวน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา บางคนก็ปั่นป่วนมวนท้อง คลื่นไส้อาเจียน ความเจ็บปวดทรมานที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การเดินทางมีพลังอย่างยิ่ง (ไม่แนะนำสำหรับผู้มีโรคประจำตัวที่ไม่ควรอดอาหาร เช่น เบาหวาน)

มีคนเรียกเส้นทางการแสวงหาทางจิตวิญญาณแบบนี้ว่าเป็น “การเดินทางลง” คือการลงจากโลกมนุษย์ (Middle Journey) ที่มีความสะดวกสบายและความมั่นคงปลอดภัย ไปเผชิญหน้ากับความไม่รู้ ความโดดเดี่ยวลำพัง ความมืด ความเจ็บปวดหรือความยากลำบาก ปมทางจิตใจที่มีมาแต่วัยเด็ก เพื่อปลดปล่อย เยียวยา เก็บเกี่ยวเอาส่วนที่เคยหายไปกลับคืนมาเป็นพลังด้านบวกที่จะนำมาใช้ในชีวิตเมื่อกลับสู่โลกของมนุษย์อีกครั้ง

ณัฐฬส วังวิญญู
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image