เขตสวนหลวง ร.9 : โดย บัณฑิต จุลาสัย-รัชดา โชติพานิช

ทัศนียภาพบริเวณสวนหลวง ร.9 ในอดีต ที่ปัจจุบันยังคงเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร พื้นที่กว่า 500 ไร่

เมื่อเอ่ยถึง เขตสวนหลวง คนทั่วไปที่อยู่นอกพื้นที่จะคิดว่าเขตนี้เป็นที่ตั้งของ สวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สวยงาม ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร

เมื่อเอ่ยถึง สวนหลวง ร.9 คนทั่วไปแม้แต่คนในพื้นที่อาจไม่รู้ที่มาของสวนสาธารณะแห่งนี้ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่ ในปี พ.ศ.2523 เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น พระองค์จึงพระราชทานโครงการพระราชดำริ ปรับปรุงพื้นที่บริเวณหนองบอน วัดตากล่ำ และวัดดอกไม้ ที่อยู่ชานเมืองทางตะวันออก ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำขนาดใหญ่ พร้อมกับสร้างระบบระบายน้ำต่อเนื่องลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

พลเรือเอก เทียม มกรานนท์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในเวลานั้น จึงรับสนองพระราชดำริ

Advertisement

ผนวกโครงการแก้มลิงหนองบอน ร่วมกับแผนพัฒนาสวนสาธารณะ ในที่ดินกว่า 500 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียง ที่นายชำนาญ ยุวบูรณ์ เมื่อครั้งที่เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพฯ ได้จัดซื้อไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2503 แต่ทว่ามิได้ดำเนินการ

ในการดำเนินงานครั้งนั้นภาคเอกชนอาสาเข้าร่วม นำโดย ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประธานกรรมการจัดหาทุน และนาวาอากาศตรี กำธน สินธวานนท์ กรรมการเลขาธิการ (ตำแหน่งในขณะนั้น ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรีเมื่อ พ.ศ.2530 และรับพระราชทานยศ พลอากาศตรี) ในนามของมูลนิธิสวนหลวง ร.9 ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

ทั้งนี้ มีการแลกที่ดินกับเอกชนและมีผู้บริจาคที่ดินเพิ่มเติม ทำให้ที่ดินเป็นผืนเดียวกัน มีทางเข้าออกสะดวกและมีภูมิทัศน์สวยงาม สมกับที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 50 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2530

Advertisement

นี่คือเรื่องราวที่มาของสวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ศูนย์รวบรวมสะสมและอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสวนพฤกษศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย ที่สำคัญ สวนหลวง ร.9 เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับกักเก็บน้ำ และแก้ปัญหาทุกข์น้ำท่วมของคนกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า สวนหลวง ร.9 ที่เล่ามานั้นปัจจุบันไม่ได้อยู่ในเขตสวนหลวง หากตั้งอยู่ในเขตประเวศ ด้วยเหตุที่ว่า ทั้งเขตประเวศและเขตสวนหลวง เดิมรวมอยู่ในเขตพระโขนง แต่ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่ ไม่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้ทั่วถึงจึงจัดตั้งสำนักงานสาขา เขตพระโขนงขึ้น เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2532 โดยในตอนแรก สำนักงานเขตพระโขนง สาขาที่ 3 ยังต้องอาศัยอาคารโรงเรียนวัดปากบ่อ

ต่อมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 มีประกาศให้พื้นที่แขวงสวนหลวง แขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้ ในเขตพระโขนง ไปขึ้นกับเขตประเวศ ที่ตั้งขึ้นใหม่ ให้ใช้สำนักงานเขตพระโขนง สาขาที่ 3 เป็นสำนักงานเขตประเวศ สาขาสวนหลวง

อีก 4 ปีต่อมา มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนแปลงพื้นที่ในเขตคลองเตย และเขตประเวศ โดยตั้งเขตใหม่คือเขตสวนหลวง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2536 พื้นที่เขตประเวศ จึงเหลือเพียงแขวงประเวศ แขวงดอกไม้ และแขวงหนองบอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนหลวง ร.9

ส่วนพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตประเวศบางส่วน และในเขตคลองเตยบางส่วน มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2537

เมื่อแรกตั้งเขตสวนหลวงนั้นยังไม่ระบุชื่อแขวง จึงมีประกาศกรุงเทพมหานคร ในราชกิจจานุเบกษาตอนเดียวกัน ตั้งแขวงสวนหลวง เขตสวนหลวงขึ้น และเมื่อปี พ.ศ.2560 มีประกาศกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตสวนหลวงอีกครั้ง

โดยแบ่งพื้นที่แขวงสวนหลวงตั้งเป็นแขวงอ่อนนุช และแขวงพัฒนาการ

 

ณ ปัจจุบัน เขตสวนหลวง จึงมีอาณาเขตดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตบางกะปิ จากจุดบรรจบคลองแสนแสบฝั่งตะวันออกกับคลองกะจะฝั่งเหนือ ไปทางตะวันออกบรรจบกับคลองบ้านม้าฝั่งตะวันออก

ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตประเวศ จากจุดบรรจบระหว่างแนวลำรางสาธารณะฝั่งเหนือ กับคลองบ้านม้าฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับคลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ จนถึงคลองหนองบอน บรรจบคลองตาสาดฝั่งเหนือ

ทิศใต้ ติดต่อกับเขตประเวศ และเขตพระโขนง จากคลองหนองบอนฝั่งตะวันออก กับคลองตาสาดบรรจบกับคลองเคล็ดฝั่งตะวันออกไปทางตะวันตก ผ่านซอยอ่อนนุช 44 ไปตามลำรางซอยหมู่บ้านพัฒนพล ผ่านคลองสวนอ้อย คลองขวางบรรจบคลองบางนางจีน

ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตคลองเตย จากคลองขวางไปตามคลองบางนาจีนบรรจบคลองตันฝั่งตะวันออก บรรจบคลองแสนแสบและคลองกะจะ

ยังมีข้อสันนิษฐานว่าชื่อเขตสวนหลวงนั้น นอกจากจะมาจากสวนหลวง ร.9 แล้วยังมีที่มาจากชื่อแขวงสวนหลวง และตำบลสวนหลวง ที่มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ด้วยพื้นที่บริเวณพระโขนงนั้น เดิมอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครเขื่อนขันธ์ ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2357 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระดำริว่า เมื่อครั้นรัชกาลที่ 1 โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จลงไปกะการที่จะสร้างเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันพระนครจากข้าศึกทางทะเลอีกแห่งหนึ่ง แต่การสร้างยังค้างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร
สถานมงคล เป็นแม่กองไปสร้างเมืองที่ปากลัด โดยตัดเอาบางท้องที่ของกรุงเทพฯและสมุทรปราการรวมกัน ตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานชื่อว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ และย้ายเอาครัวมอญจากปทุมธานี 300 คน มาตั้งหลักปักฐาน แล้วตั้งสมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง ขึ้นเป็นพระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติ เสนาบดีศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาเมือง

แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2464 แสดงบริเวณเมืองนครเขื่อนขันธ์ เห็นที่ว่าการอำเภอพระโขนง วัดมหาบุศย์ และระบุบริเวณที่เป็นสวน แสดงด้วยสีเขียว ส่วนที่นาแสดงด้วยสีเหลือง

ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองพระประแดงในปี พ.ศ.2457 และเป็นจังหวัดพระประแดงในปี พ.ศ.2459โดยเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกรุงเทพฯ มีที่ว่าการอำเภอพระโขนง อยู่ตรงข้ามวัดมหาบุศย์

เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า จึงมีการแก้ไขเขตอำเภอและจังหวัดต่างๆ โดยในปี พ.ศ.2470 มีการโอนบางตำบลของอำเภอพระโขนง จังหวัดพระประแดง ไปรวมกับจังหวัดพระนคร เรียกชื่ออำเภอพระโขนง ซึ่งประกอบด้วย 11 ตำบล ซึ่งรวมตำบลสวนหลวงเป็นหนึ่งในนั้น

ในปี พ.ศ.2506 กระทรวงมหาดไทยประกาศยกฐานะท้องที่ตำบลบางนา หนองบอน ดอกไม้ สวนหลวง บางจาก และประเวศ รวม 6 ตำบลใน อำเภอพระโขนง จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลประเวศ

แผนที่ พ.ศ.2506 แสดงพื้นที่ตำบลสวนหลวง และตำบลอื่นๆ ในอำเภอพระโขนง เพื่อตั้งเป็นเขตสุขาภิบาลประเวศ : ที่มา แผนที่แนบท้ายประกาศในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2506

เมื่อมีประกาศของคณะปฏิวัติ ให้รวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกันตั้งเป็นกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2515 ส่งผลให้ตำบลสวนหลวง มีฐานะเป็นแขวงสวนหลวง ส่วนอำเภอพระโขนงมีฐานะเป็นเขตพระโขนง ในปี 2516

ทั้งนี้ ยังพบว่าในตำบลสวนหลวงนี้เคยมี วัดสวนหลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อยู่ในบริเวณนี้ เพียงแต่ว่ากลายเป็นวัดร้างในเวลาต่อมา ดังในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2539 เห็นสมควรยุบวัดสวนหลวง (ร้าง) ตั้งอยู่ที่แขวงสวนหลวง เขตประเวศ เนื่องจากมีการจัดประโยชน์เต็มพื้นที่หมดแล้ว

สําหรับคำว่า สวนหลวง และ สวน นั้นน่าสนใจ เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำสี่สาย คือเจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน และแม่กลอง ที่เหมาะแก่การทำนาปลูกข้าว แต่ก็มีที่ดอนบางแห่งสามารถทำสวนได้

ในแผนที่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงจำแนกเป็นพื้นที่นา และสวน อย่างเช่นในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 ระบุว่าพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสวนเกือบทั้งหมด ในขณะที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่นาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางบริเวณระบุว่าเป็นพื้นที่สวน เช่น บริเวณที่ตั้งเขตสวนหลวงในปัจจุบัน

จึงมีข้อสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่มีการตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์นั้น มีการกำหนดให้พื้นที่ที่เป็นสวนบางส่วนให้ราษฎรได้ทำกิน และบางส่วนให้ส่งผลผลิตเข้าหลวง จึงเป็นที่มาของตำบลสวนหลวงในเวลาต่อมา

คงคล้ายกับตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทุ่งบ้านอินทร์ (สวนหลวง) ตำบลบ้านอินทร์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และตำบลสวนหลวง อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

แต่ทั้งนี้ ต้องไม่รวมถึงย่านสวนหลวง บริเวณถนนบรรทัดทอง ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากมีที่มาต่างกัน ด้วยพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เดิมเป็นที่ตั้งของวังใหม่ประทุมวัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินและสร้างวัง ที่มีอาณาบริเวณกว่าพันสองร้อยไร่พระราชทาน สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก

แต่ด้วยสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกสิ้นพระชนม์ก่อนที่จะเสด็จมาประทับ จึงมีหน่วยงานต่างๆ มาขอใช้วังใหม่หรือวังวินเซอร์ และพื้นที่โดยรอบ อาทิ กรมรถไฟ โรงเรียนแผนที่โรงเรียนเกษตราธิการ โรงเรียนยันตศึกษา (วิศวกรรม) โรงเรียน (วิศวกรรม) ชลประทาน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ จนมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาหนึ่ง จึงมีการปรับพื้นที่ทั้งหมดยกเว้นตัวพระราชฐานเท่านั้น โดยการขุดคูน้ำเป็นตารางเพื่อใช้เป็นแปลงทดลองการเกษตร และการชลประทานแผนใหม่ ทำให้แผนผังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเป็นระเบียบและงดงามจนถึงปัจจุบัน

รวมทั้งเป็นต้นทางการพัฒนาพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ที่เกิดเป็นคลองหนึ่ง คลองสอง ไปจนถึงคลองสิบเจ็ดในปัจจุบัน

เมื่ออ้างถึงเขตพระโขนง ก็จะทำให้คิดไกลไปถึงแม่นาคพระโขนง ที่รู้จักกันดีในเรื่องเล่านิทาน นวนิยาย ภาพยนตร์ และละครเพลง ที่มีรายละเอียดพิสดารต่างๆ เหตุการณ์ต้นเรื่องนั้นว่ากันว่า เกิดขึ้นในหมู่บ้านริมคลองพระโขนง เลยเชื่อกันว่าศพของแม่นาคฝังอยู่ที่ป่าช้าวัดมหาบุศย์ ที่อยู่ริมคลองพระโขนง

วัดมหาบุศย์ ตั้งอยู่ในซอยอ่อนนุช 7 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
บริเวณท่าน้ำวัดมหาบุศย์ ริมคลองพระโขนง

 

ในประวัติของวัดมหาบุศย์นั้น สันนิษฐานว่าเดิมชื่อวัดสามบุตร เป็นวัดโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมา พระมหาบุตร เปรียญ 5 ประโยค สำนักวัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ล่องเรือผ่านมาตามลำคลองพระโขนง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้จำพรรษาที่วัด และช่วยบูรณะวัด ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า วัดมหาบุตร และกลายเป็น วัดมหาบุศย์ในปัจจุบัน โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2455

ทุกวันนี้ วัดมหาบุศย์กลายเป็นที่รู้จักในนามวัดแม่นาคพระโขนง ด้วยมีการตั้งเรือนแม่นาค หรือย่านาค ที่มหาชนทุกสารทิศนิยมมาทำบุญ บนบานศาลกล่าวและขอเลขเสี่ยงโชค

คงเป็นเพราะบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ผู้คนอยู่อาศัยกันมากขึ้น เลยทำให้วัดมหาบุศย์ หรือวัดแม่นาคพระโขนง ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตพระโขนง แต่อยู่ในเขตสวนหลวง

ในขณะที่สวนหลวง ร.9 ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตสวนหลวง หากอยู่ในเขตประเวศ ด้วยประการฉะนี้

และขอเชิญชวนเที่ยวงานพรรณไม้งามอร่าม สวนหลวง ร.9 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง วันที่ 10 ธันวาคม ศกนี้

บัณฑิต จุลาสัย – รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image