สภาล่ม งูเห่า รูปลักษณ์ รัฐบาล ปฏิรูป การเมือง

ในที่สุด “ยาแก้ล่ม” ที่รัฐบาลใช้กับการประชุมสภาก็เป็นยาขนานแท้ดั่งเดิม

“งูเห่า”

เมื่อปรากฏการณ์การประชุมสภา ต้องชะงัก เพราะพรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ จนองค์ประชุมไม่ครบ

“สภาล่ม” กลายเป็นพาดหัวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น

Advertisement

สืบสาวไปหาเหตุพบว่า สภาที่ล่มลงเนื่องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านกับพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไม่ตรงกัน

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ปรากฏว่าฝ่ายค้านเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา

แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับมองว่าไม่จำเป็น ขอให้ใช้กลไกกรรมาธิการปกติที่มีอยู่ดำเนินการ

Advertisement

เมื่อความคิดเห็นต่างกันจึงต้องโหวต

ผลปรากฏว่าคะแนนที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการมากกว่าคะแนนที่ไม่ให้ตั้ง

พรรคร่วมฝ่ายค้านชนะ

กระแสข่าวสะพัดว่า หากตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเรื่องราวจะบานปลายไปถึง คสช.

คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นคนออกคำสั่ง

และยังจะพาดพิงไปถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

กระทั่งมีสัญญาณส่งมาให้โหวตใหม่

เรื่องเช่นนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านย่อมไม่เห็นด้วย จึงคัดค้าน แต่เมื่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรยืนยัน พรรคฝ่ายค้านจึงวอล์กเอาต์

องค์ประชุมไม่ครบ สภาก็ล่ม

ล่มครั้งที่หนึ่งแล้วยังไม่พอ เมื่อมีการประชุมในนัดต่อมา สภาก็ล่มอีกคำรบ

เรื่องสภาล่มจึงบานปลายไปถึงรัฐบาล

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมเครียดในเรื่องนี้

ฝ่ายรัฐบาลจัดเลี้ยงแกนนำพรรค มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ทั้งนี้ก็เพื่อกำชับให้การประชุมสภานัดต่อมา “ห้ามล่ม”

ทั้งนี้เพราะเมื่อโฟกัสลงไปยังคะแนนเสียงที่สนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 แล้ว พบว่า สมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย

เกิดเป็นรอยร้าวทางความคิดระหว่างแกนนำรัฐบาลกับสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล

แกนนำรัฐบาลที่มาจาก คสช. กับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ คสช. กลับมา

แต่ในที่สุด การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่าสุด องค์ประชุมก็ครบ การลงมติใหม่เพื่อล้มการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ประสบความสำเร็จ

เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมที่แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะวอล์กเอาต์เหมือนเดิม แต่ก็ได้ถึง 261 เสียง

ในจำนวนนี้มีสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้านร่วมแสดงตนอยู่ด้วย

ตอกย้ำกระแสข่าวก่อนหน้านี้ในเรื่อง “งูเห่า”

รายชื่อ ส.ส. 10 คนของพรรคฝ่ายค้านที่แสดงตนเพื่อให้องค์ประชุมครบ และนำไปสู่การ “โหวตใหม่” เพื่อล้มการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง ม.44

มาจาก พรรคเพื่อไทย 3 คน ได้แก่ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี, น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี, นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ 2 คน ได้แก่ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน ได้แก่ นายภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางมารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และพรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

ในจำนวนนี้มีกระแสข่าวสำหรับพรรคเศรษฐกิจใหม่ต่อเนื่องว่า เตรียมตัวจะเข้าร่วมกับรัฐบาล

ไม่เพียงแค่พรรคฝ่ายค้านที่มี ส.ส.แหกมติ พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ยังมี ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ที่แหกมติ

ในการโหวตตั้งหรือไม่ตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว แม้ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอให้ “ไม่ตั้ง”

แต่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 4 คนยืนยันว่าจะต้องตั้ง

ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี

นายเทพไทชี้แจงภายหลังการโหวตว่า ตัดสินใจยืนยันมติเดิม ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.ญัตตินี้เป็นญัตติของพรรค ปชป. และมี ส.ส.ของพรรคที่เป็นอดีตรัฐมนตรีลงชื่อเป็นเจ้าของญัตติ จำนวน 7 คน 2.ในการพิจารณาญัตตินี้ ได้อภิปรายแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนให้นำคำสั่งของคณะรัฐประหารทุกชุดและกฎหมายที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาศึกษา

และ 3.ญัตตินี้ตรงกับอุดมการณ์ของพรรคข้อ 4 ที่ระบุว่า พรรคจะไม่สนับสนุนระบบ หรือวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ

เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ

ส่วน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านที่แสดงตนเติมองค์ประชุมจนสภาโหวตล้มการตั้งคณะกรรมาธิการนั้นอ้างว่า “ต้องการให้สภาเดินหน้าต่อไปได้”

ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันแล้วว่า ในการลงมติของสภา อาจเกิดเหตุการณ์ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลโหวตแหกมติพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล

และอาจเกิดเหตุการณ์ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านดำรงตนแหกมติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

แม้เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว พรรคการเมืองต้นสังกัดจะขยับลงโทษ แต่ด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิแก่ ส.ส.มากกว่าพรรคการเมือง

การลงโทษใดๆ แก่ ส.ส.แทบจะไม่มีประโยชน์อันใด

เท่ากับว่า การเมืองในสภาในขณะที่รัฐบาลเผชิญหน้ากับปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” นั้น มีกระบวนการจัดการเติมเต็มให้เรื่อยๆ

หนึ่ง คือ การเอาสมาชิกจากพรรคเล็กมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ดั่งกรณีของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ยุบพรรคตัวเองแล้วมาขอสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

สอง คือ การใช้ “งูเห่า” มาช่วยโหวตลงคะแนนเพิ่มให้องค์ประชุมครบ หรือไม่ก็ใช้ในการลงมติในวาระที่สำคัญ

สาม คือ การดึงเอาสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเพิ่ม ดังเช่น กระแสข่าวของพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่สะพัดแรงขึ้นเป็นลำดับ

จากเดิมในช่วงก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและตั้งรัฐบาล มีการทาบทามพลพรรคของพรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคประชาชาติ

แต่สุดท้ายทั้งพรรคประชาชาติและเศรษฐกิจใหม่ยังคงอยู่กับฝ่ายค้าน

ขณะนี้กระแสข่าวสะพัดอีกครั้ง และต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวของพรรคเศรษฐกิจใหม่อีกคำรบ

และยังต้องจับตามอง ความภักดีของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่หากต้องเผชิญหน้ากับการยุบพรรค บรรดา ส.ส.เหล่านั้นจะยังคงอยู่กับฝ่ายค้าน หรือจะร่อนไปแลนดิ้งอยู่ในฝั่งรัฐบาล

ดังนั้น ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ที่เกิดขึ้น จึงเป็นพัฒนาการของพรรคฝ่ายรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ”

เพียงแต่การแก้ปัญหาเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล

และเป็นเครื่องยืนยันถึงผลลัพธ์การปฏิรูปการเมือง

ความสำเร็จหรือล้มเหลว

สุดท้ายแล้วการเมืองและนักการเมืองทำไปเพื่อผลประโยชน์ของใคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image