สู่สภาวะ ‘นับถอยหลัง’ : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎรโหวตไม่รับญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบจากการใช้อำนาจตาม ม.44 คือ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มี ส.ส.ที่ไม่ทำตามมติวิปของแต่ละฝ่าย และมติพรรค

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ในการลงมติก่อนหน้านั้น ส.ส.มีพฤติกรรมเช่นนี้มาก่อนแล้ว โดยเฉพาะทางซีก “พรรคฝ่ายค้าน”

ประเด็นที่เห็นว่าควรจะนำมาแลกเปลี่ยนกันคือ การกระทำของ ส.ส.ที่สวนทางกับฝ่าย หรือพรรคที่ตัวสังกัดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

หากจะว่ากันให้ลึกลงไปแล้ว ถ้าจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้สนับสนุนให้เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะหากมีการละเมิดมติพรรคขึ้นมา ส.ส.คนนั้นทำได้สบายๆ โดยที่พรรคไม่สามารถทำอะไรได้

Advertisement

หากประชุมแล้วลงมติให้พ้นไปจากสมาชิกพรรค ซึ่งทำให้สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ด้วย ส.ส.คนนั้นสามารถรักษาสมาชิกภาพของตัวเองไว้ได้โดยไปสมัครเข้าสังกัดพรรคอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด

เป็น ส.ส.ต่อได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าพรรคจะว่าอย่างไร ไม่ต้องสนแม้กระทั่งประชาชนที่ตัดสินใจเลือกเข้ามารู้สึกอย่างไร

นี่คือรัฐธรรมนูญที่ใช้หลักให้อิสระ ส.ส.ในการตัดสินใจ

ความน่าสนใจอยู่ที่ แม้รัฐธรรมนูญจะเน้นไปที่อิสระของ ส.ส. แต่ “พรรคการเมือง” ไม่ว่าจะฝ่ายไหนไม่ชอบที่จะให้เป็นไปอย่างนั้น

การตัดสินใจโหวตสวนมติของพรรค จะถูกตราหน้าว่า “งูเห่า”

เป็น “งูเห่า” ในนิยามของ “นิทานอีสป” เรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” ที่สอนให้รู้ในเรื่อง “ความอกตัญญู”

เป็นข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ส่งผลให้ “พรรคการเมืองอ่อนแอ” จัดการอะไรกับลูกพรรคที่ไม่ทำตามมติของเพื่อนร่วมพรรคได้

ดูเผินๆ เหมือนกับว่ารัฐธรรมนูญแบบนี้เป็นคุณกับฝ่ายที่มีอำนาจ เพราะถึงวาระล่อแหลม หรือเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้ในสภาย่อมสามารถหาวิธีการให้ ส.ส.ฝ่ายค้านบางคนมาร่วมสนับสนุนได้ โดยที่พรรคฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้

แต่ในอีกทางหนึ่งข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมเป็นเงื่อนไขต่อรองที่สร้างความยุ่งยากให้กับฟากรัฐบาลได้ไม่น้อย

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลต้องการอะไรสักอย่าง แล้วแกนนำรัฐบาลไม่ยินยอมโดยดี พรรคร่วมรัฐบาลสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์โดยให้สมาชิกโหวตสวนได้เสมอ เพื่อกดดันให้ยอมตาม

เช่นเดียวกันในพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ ส.ส.คนหนึ่งคนใด หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ต้องการให้พรรคทำอะไรบางอย่าง เพื่อกดดันให้ผู้บริหารพรรคทำตาม อาจจะแสดงฤทธิ์เดชด้วยการโหวตสวนมติพรรค ทำให้ผู้บริหารพรรคมีปัญหากับแกนนำรัฐบาลได้

เพราะมีเครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการต่อรอง ย่อมทำให้การต่อรองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ผลที่จะเห็นได้ทันทีคือ “เสถียรภาพ”

ผู้นำรัฐบาลน่าจะไม่สามารถควบคุมให้เกิด “เสถียรภาพ” ได้ง่ายนัก

เพราะอย่าว่าแต่การต่อรองที่ ส.ส.แต่ละคนสามารถใช้เพื่อเรียกผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ซึ่งเมื่อทำได้ง่ายจะทำให้ร้องขอมากขึ้น ซึ่งเป็นการต่อรองที่เลวร้าย

กระทั่งการต่อรองในเชิงรักษาอุดมการณ์เพื่อใช้อธิบายต่อประชาชน อันถือเป็นเงื่อนไขในทางดีงาม ย่อมสร้างความยุ่งยากได้เช่นกัน เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างทำเพื่อพรรค เพื่อกลุ่ม หรือเพื่อตัวเอง ย่อมส่งผลต่อรัฐบาลโดยรวมทั้งสิ้น

การบริหารจัดการเพื่อควบคุมให้เป็นในทางเดียวกันย่อมยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ

ที่จะเกิดขึ้นคือ ยิ่งรัฐบาลไม่มีผลงานเป็นที่ประทับใจประชาชน ยิ่งอ่อนแอมากเท่าไร ย่อมเป็นวาระที่นักการเมืองทุกคน ทุกพรรคย่อมต้องรีบสร้างเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์ต่อพรรค หรือต่อตัวเองให้มากที่สุด และเร็วที่สุด ให้ได้ตามที่ต้องการทันเวลาก่อนจะสายเกินไป

สภาวะที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จะยิ่งทรุดหนัก เพราะการจัดการให้เงื่อนไขสารพัดลงตัว เป็นที่พอใจทุกคนอย่างทันการณ์ ย่อมยากลำบากยิ่ง

ผู้นำที่คิดแต่อาศัยข้อกำหนดนี้มาเป็นประโยชน์กับการอยู่รอดของตัวเอง

ย่อมแบกภาระหนักหน่วง และเปราะบางขึ้นเรื่อยๆ กับการสนองเงื่อนไข

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image