รัฐมนตรีประมงคนใหม่ของอินโดนีเซีย เปลี่ยนแปลงนโยบาย สงครามประมงให้สู่ดุลยภาพ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประเทศอินโดนีเซียคือประเทศที่เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรอินโดจีนกับทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก มีประชากรประมาณสองร้อยหกสิบห้าล้านคน และเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ได้จัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ผลก็คือมีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาทั้งสิ้น 9 พรรค จึงมี 6 พรรคที่ได้ที่นั่งรวมกันถึง 427 จาก 575 ที่นั่ง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ โดยมี นายโจโก วิโดโด (เรียกโดยทั่วไปว่า โจโกวี) เป็นประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สอง โดยมีคณะรัฐมนตรี จำนวน 38 คน โดยเป็นรัฐมนตรีหน้าเดิม 16 คน และอีก 22 คน เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ บางส่วนเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และอีกบางส่วนเป็นตัวแทนที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 6 พรรค เพราะพรรครัฐบาลไม่สามารถได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่นั่งในรัฐสภา จึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล

โดยแต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลได้รับเก้าอี้รัฐมนตรี ดังนี้ พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย (PDIP) ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดีโจโกวีเอง ได้ 5 ที่นั่ง พรรคโกลคาร์ (Golkar) พรรคประชาธิปัตย์แห่งชาติ (Nasdem) และพรรคตื่นตัวแห่งชาติ (PKB) ได้พรรคละ 3 ที่นั่ง ส่วนพรรคกีรันดา (Gerinda) ของพลเอก พลาโบโว สุรเบียงโต้ ซึ่งเคยเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญในการท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีอินโดฯ กับโจโกวีนั้นได้ไปถึง 2 ที่นั่ง และสุดท้ายพรรคสหพัฒนาการ (PPP) ได้ไปเพียงที่นั่งเดียว

สำหรับพรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคมีที่นั่งในรัฐสภารวมกันเพียง 148 ที่นั่ง

ที่น่าสนใจของรัฐบาลผสมของประธานาธิบดีโจโกวี คือพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และยังเคยลงแข่งเป็นประธานาธิบดีสู้กับประธานาธิบดีโจโกวี อย่างพรรคกีรันดา ของ พลเอก พลาโบโว สุรเบียงโต้ ได้เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ด้วย และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับแรกๆ ของประเทศเลยทีเดียว

Advertisement

นอกจากนี้สมาชิกพรรคอีกท่านคือ นายอีดี้ สุรเบียงโต้ (ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกับพลเอกพลาโบโว) รองหัวหน้าพรรค ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทะเลและการประมง ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญของประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจากอินโดนีเซียมีพื้นที่ทางทะเลอันกว้างใหญ่ และจำเป็นต้องการบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่นี้ รวมทั้งผลักดันนโยบายเป็นศูนย์กลางทางทะเล (The Global Maritime Fulcrum) ของโจโกวี

ดังนั้นการเข้ามารับตำแหน่งของนายอีดี้ สุรเบียงโต้ จึงถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าขาดประสบการณ์ อาจไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และอาจไม่มีฝีมือเท่ากับรัฐมนตรีคนเก่าในสมัยแรกของโจโกวีคือ นางซูซี่ ปุตเจียสตูตี้

ครับ! เรื่องของซูซี่ ปุตเจียสตูตี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทะเลและการประมงนั้นเป็นตำนานเชียวละครับ เนื่องจากเธอเป็นอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลโจโกวีสมัยแรกเพียงคนเดียวที่เรียนไม่จบชั้นมัธยม เพราะเธอโดนไล่ออกจากโรงเรียนด้วยเหตุที่เธอเป็นผู้นำในการเดินขบวนประท้วงการปกครองระบอบเผด็จการของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมปลาย

Advertisement

ซูซี่ ปุตเจียสตูตี้ อายุ 54 ปี เป็นคนชวา เป็นแม่หม้าย เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นประธานบริษัทส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของประเทศ เป็นประธานสายการบินชาร์เตอร์ “ซูซี่แอร์” เป็นมุสลิมที่สักลาย ไม่คลุมผม ดื่มกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล และสูบบุหรี่วันละซอง และที่สำคัญคือประธานาธิบดีโจโกวีเป็นผู้ไปเชื้อเชิญให้นางซูซี่ ปุตเจียสตูตี้ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทะเลและการประมงโดยไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อนเลย

ผลงานของซูซี่ ปุตเจียสตูตี้ เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากทั่วโลกคือเธอสั่งให้กวาดล้างเรือประมงต่างชาติในน่านน้ำอินโดทั้งหมดที่มีมากถึง 5,000 ลำ จับได้ยึดอุปกรณ์ เนรเทศลูกเรือกลับบ้าน เอาไต้ก๋งขึ้นศาลดำเนินคดี ถ้าพิสูจน์ว่าผิดจริงคนติดคุกและเรือถูกระเบิดทิ้งทันที เหมือนการประหารกลางเมือง ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยเธอควบคุมการระเบิดเรือไปแล้วนับร้อยลำ แบ่งเป็น เรือประมงเวียดนาม 276 ลำ เรือประมงของฟิลิปปินส์ 90 ลำ และเรือประมงของไทย 50 ลำ

ไม่ว่าต่างชาติจะพยายามเจรจาอย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงระเบิดเรือประมงที่ผิดกฎหมายทิ้งเป็นงานประจำ ตอนแรกผู้คนก็ด่าว่าเธอว่าป่าเถื่อน แต่ปรากฏว่าหลังการระเบิดเรือ ปริมาณการจับปลาของชาวประมงชายฝั่ง (หรือเรียกว่าชาวประมงพื้นบ้าน คือการทำประมงของชาวบ้านทั่วไป เป็นการประมงขนาดเล็กเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว จะใช้เรือขนาดเล็กที่เป็นเรือซึ่งต่อขึ้นมาเองของชาวบ้านในการออกหาสัตว์ทะเล ในอดีตอาจมีแค่การพายเรือออกไปอย่างเดียว ในปัจจุบันก็มีการติดเครื่องยนต์เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น ในด้านของอุปกรณ์การทำประมงก็จะเลือกใช้อุปกรณ์บ้านๆ หาได้ง่ายๆ หรือทำขึ้นมาเองไม่ต้องสิ้นเปลืองมาก เช่น การใช้แห, การใช้เบ็ดสำหรับตกสัตว์น้ำ เป็นต้น อย่างที่บอกว่าการประมงชายฝั่งหลักๆ คือทำเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว หากได้ปริมาณมากเกินการบริโภคในครัวเรือนมีการแบ่งขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองพร้อมผู้คนในท้องถิ่น) ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึงเกือบ
100%

จึงเป็นที่ชื่นชมของชาวอินโดนีเซียโดยรวม

การที่บรรดาชาวประมงชายฝั่งของอินโดนีเซียได้ประโยชน์อย่างชัดแจ้งนี้กลับทำให้นายอีดี้ สุรเบียงโต้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทะเลและการประมงคนใหม่อ้างว่าขัดกับนโยบายเป็นศูนย์กลางทางทะเล (The Global Maritime Fulcrum) ของประธานาธิบดีโจโกวี กล่าวคือถึงแม้ชาวประมงชายฝั่งของอินโดนีเซียได้ประโยชน์ระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมิได้มีการพัฒนาในการจับสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นต่อไปนี้เรือประมงที่ผิดกฎหมายของต่างชาติที่ถูกจับได้จะไม่ถูกระเบิดทิ้งอีกต่อไป หากแต่จะถูกแจกจ่ายไปให้ชาวประมงชายฝั่งของอินโดนีเซียได้นำไปจับปลาให้ได้มากขึ้น และจะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่จะเพิ่มสินค้าออกในรูปของสัตว์น้ำจากทะเลของอินโดนีเซียให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้แบบว่าไม่ควรพอใจเพียงแค่การกินดีอยู่ดีของชาวบ้านระดับรากหญ้าเท่านั้น ควรให้นายทุนใหญ่เข้ามามีส่วนในการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำของอินโดนีเซียเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย

จะต้องคอยดูแหละครับว่านายอีดี้ สุรเบียงโต้ จะดำเนินการได้อย่างที่พูดหรือไม่ เพราะผลงานของซูซี่ ปุตเจียสตูตี้ นั้นยากนักที่จะมีใครเทียบเคียงได้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image