คู่มือทดสอบตรรกะวิบัติเบื้องต้น (หรือวิธีการโต้ประเด็นที่ตอบยากด้วยตรรกะวิบัติ) : โดย กล้า สมุทวณิช

ใน Podcast รายการ The Power Game ของพี่ตุ้ม สรกล อดุลยานนท์ ผู้ที่เราๆ คุ้นกันในนามปากกา “หนุ่มเมืองจันท์” ทางช่อง The Standard Podcast ตอนของวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2019 ได้ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า สังคมไทยเราเผลอให้ “ความเคยชิน” บางอย่างกลายเป็นความถูกต้องจนลืมตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนั้น

ของบางอย่างวางไว้เกะกะไม่เป็นที่เป็นทาง แต่เรามีความเคยชินเสียแล้วว่าเราต้องเดินหลบของสิ่งนี้ จนทำให้ทุกคนเดินอ้อมและคิดว่านี่คือการเดินที่ถูกต้อง

แต่เมื่อมีใครสักคนไม่สนใจความเคยชินนั้น และเดินไปตรงๆ ตามที่ควรจะเป็น เขาก็จะไปเตะหรือชนของที่ตั้งไว้ตรงนั้น ซึ่งผลก็อาจจะเกิดได้สองทางคือ คนเดินหกล้ม หรือของที่ขวางอยู่อาจจะถูกเตะกระเด็นระเนระนาด หรืออีกทางหนึ่งที่ประนีประนอมขึ้น คือการยกออกไปวางในที่ในทางอันเหมาะสม

พี่ตุ้มเปรียบเรื่องนี้กับที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินหน้าตรวจสอบการทำงานหรือภารกิจบางอย่างของกองทัพที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถาม ล่าสุดก็คือการประกอบธุรกิจอย่างเอกชนของกองทัพถึงขนาดจัดตั้งบริษัทและให้นายพลบางคนเข้าไปถือหุ้น

Advertisement

ก็อาจจะเป็นเรื่องเดียวกับข้อเสนอการปฏิรูปวิธีการได้กำลังพลของกองทัพจากการเกณฑ์ทหารไปใช้ระบบทหารโดยสมัครใจ นี่ก็เป็นความเคยชินที่เราเข้าใจกันมาตลอดว่ากำลังพลต้องใช้วิธีเกณฑ์จากชายฉกรรจ์ที่อายุครบและไม่มีลักษณะยกเว้นอื่นเท่านั้น

ถ้ามองในฝ่ายของผู้ที่ “ถูกชน” หรือตั้งคำถาม ความเคยชินนั้นก็อาจจะทำให้เขาไม่ทันนึกคำตอบ เพราะไม่คิดว่าเรื่องนี้จะมีคนคิดหรือกล้าถาม

และก็ธรรมดาสำหรับคำถามที่ไม่คิดว่าจะมีคนถาม ผู้ถูกถามก็จะไม่เคยเตรียมคำตอบไว้ หากถูกจี้ให้ตอบทันที เหมือนนักเรียนที่นั่งเหม่ออยู่ดีๆ แล้วคุณครูชี้ให้ยืนขึ้นตอบ คำตอบก็จะออกมาไม่ดีจนถึงขั้นแย่ หรือแม้แต่ตอบไปแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะเราไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จำเป็นต้องมี “เหตุผล” อะไรไปจนถึงใช้กลวิธีการให้เหตุผลตอบโต้แบบที่เรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” (Fallacy)

Advertisement

หลังจากนี้ คำถามที่ไม่เคยมีใครถามอาจจะถูกเปิดขึ้นมาเรียกร้องหาคำตอบ และก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะได้รับคำตอบที่เหมือนจะมีเหตุผลแต่ไม่สมเหตุสมผล เพื่อการเตรียมสมองไว้รองรับคำตอบนั้น เราควรมาทำความรู้จักกับรูปแบบการให้เหตุผลแบบตรรกะวิบัติ (Fallacy) ที่อาจจะได้เจอกันต่อจากนี้

ครั้งหนึ่งมิตรสหายท่านหนึ่งเคยหยิบหนังสือ “เคล็ดลับจับโกหก” ที่วางบนชั้นในร้านขายหนังสือขึ้นมาแล้วบอกกับผมว่า “จริงๆ หนังสือเล่มนี้อาจจะอ่านได้อีกทางคือ เคล็ดลับการโกหก หรือโกหกอย่างไรไม่ให้คนจับได้”

ก็เพราะเนื้อหาในหนังสือนั้นจะต้องกล่าวถึงรูปแบบของการโกหก และวิธีค้นหาความจริงเป็นสาระสำคัญ ในทางกลับกัน เราก็อาจจะอาศัยหนังสือนั้นเป็นการถอดย้อนว่า การโกหกรูปแบบนี้จะถูกจับได้ในกรณีใดหรือด้วยเครื่องมือใด แล้ววางแผนป้องกันกรณีหรือเครื่องมือนั้น

จึงเป็นที่มาของชื่อหัวข้อคอลัมน์ตอนนี้และอารัมภบทที่ออกจะยืดยาวไปเสียหน่อย

ในครั้งแรกที่เขาตระหนักว่ากระแสเรื่องเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารไปเป็นระบบสมัครใจเข้ารับการคัดเลือกอาจจะ “จุดติด” เราก็ได้เห็นการโต้แย้งแบบง่ายๆ ว่า “ถ้าไม่มีทหารแล้วจะทำอย่างไร… น้ำท่วมแล้วจะเป็นอย่างไร”

ประโยคนี้มีรูปแบบการใช้ตรรกะวิบัติซ้อนกันสองกลวิธี รูปแบบแรกคือการหยิบจุดอ่อนในข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายมาตั้งแล้วมุ่งเป้าที่ประเด็นนั้นเพื่อทำลายข้อโต้แย้งลงทั้งหมด วิธีนี้เรียกว่าการยิงหุ่นฟาง (Strawman Fallacy) แถมหุ่นฟางยังเป็นการขยายความไปเกินกว่าสาระของข้อโต้แย้งนั้นด้วย เรียกว่ากลวิธีทางลาดหายนะ (Slippery Slope)

การกล่าวว่า “ไม่มีทหารแล้วจะทำอย่างไร…” คือหุ่นฟางที่ถูกปั้นขึ้นด้วยวิธีนั้น แน่นอนว่าการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่มีทหารเอาเสียเลยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และมันเป็นข้อเสนอที่ไม่สมเหตุสมผล (หุ่นฟาง) แต่ปัญหาคือข้อเสนอเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นคนละเรื่องกับการยกเลิกการมีทหารหรือกองทัพ หากเป็นการใช้กลวิธีแบบทางลาดหายนะเพื่อสรุปว่า การยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะทำให้ “ไม่มีทหารเหลือ” และนั่นคือหุ่นฟางอ่อนแอที่ตั้งขึ้นมาเพื่อยิงทิ้ง

ส่วนประโยค “…แล้วน้ำท่วมจะทำอย่างไร…” เป็นตรรกะวิบัติอีกทางหนึ่ง คือการใช้เหตุผลที่ไม่เชื่อมโยง (ignoration elenchi) นั่นเพราะหากเกิด “น้ำท่วม” ขึ้นมาแล้ว เราสามารถแก้ไขบรรเทาได้ด้วยวิธีการต่างๆ มากมายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกองกำลังทหาร เช่น การใช้หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเป็นมืออาชีพ หรือแม้แต่การป้องกันมิให้เกิดน้ำท่วมเว้นแต่ภัยธรรมชาติร้ายแรงสุดวิสัย

เดาว่าสิ่งที่ผู้ใช้ตรรกะวิบัติต้องเลือกกลวิธีนี้เป็นเพราะถ้ายกข้อต่อสู้ว่า “ถ้าไม่มีทหารแล้วข้าศึกบุกมาจะเป็นอย่างไร” เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักน้อยกว่า เพราะความเป็นจริงที่คนส่วนใหญ่รับรู้ตรงกันคือภัยคุกคามในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การรุกรานกันด้วยกองกำลังอย่างตรงไปตรงมา และแม้จริงอยู่ที่ว่าในบางมุมโลกก็ยังมีภัยสงคราม หากก็เป็นคนละปัจจัยความเสี่ยงกับประเทศไทย แต่เรื่องของ “น้ำท่วม” หรือภัยพิบัติตามธรรมชาติอาจเกิดขึ้นง่ายและเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนกว่า

นอกจากนั้น การตอบโต้เชิงข้อมูลข่าวสารของพวกเขาก็แยกออกเป็นสองเส้นทาง

เส้นทางแรกอาจจะเรียกว่า “สายสว่าง” หรือการให้ผู้ที่ดูมีภาพลักษณ์ที่ดีและเฉลียวฉลาดออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ ด้วยการยอมรับว่าทางกองทัพเองก็เคยศึกษาเรื่องทหารสมัครใจนี้ แต่คิดว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะจำนวนผู้ที่จะมาสมัครไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ “…เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเยาวชนให้เข้าเป็นทหารได้มากเท่าที่จำเป็น และมองว่าเป็นโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้ทำประโยชน์คืนแก่ประเทศ และสังคม และเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน…”

การโต้ตอบนี้ดูชาญฉลาด ใจกว้าง และสง่างาม แต่ก็เจือปนไปด้วยกลวิธีลวงทางตรรกะคือการใช้ผลมาเป็นเหตุ (petition principii) นั่นคือ ถ้าใช้ระบบทหารสมัครใจแล้วจะได้จำนวนผู้สมัครไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ ระบบสมัครใจนี้จึงเป็นไปไม่ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ “จำนวนที่ต้องการ” เป็นเรื่องของ “ผล” ที่กองทัพเป็นผู้กำหนดเองว่าจำนวนที่ต้องการคือจำนวนเท่าใด และความต้องการนั้นกำหนดมาจากอะไรที่เป็นระบบหรือไม่

ส่วนประโยคท้ายที่ว่า การเกณฑ์ทหารเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน แต่ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้หนุ่มสาวมาเป็นทหารได้ ก็ขัดแย้งกันเองจนไม่จำเป็นต้องฉลาดล้ำอะไรมากก็คงพิจารณาได้ว่าเหตุผลสองข้อนี้ขัดแย้งกันเอง …ความภาคภูมิใจของทุกคนที่ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ… เหมือนชื่อเพลงของวงดนตรีวงหนึ่งที่มีจุดเด่นด้วยชื่อเพลงที่ประกอบด้วยชุดคำที่ขัดแย้งกันเอง เช่น ความมืดสีขาว หรือความเงียบที่ดังที่สุด อะไรแบบนั้น

และเหมือนว่าเทพเจ้าแห่งตรรกะปัญญาได้แกล้งส่งโจทย์ยากลงมาเพิ่มให้อีก เมื่อมีการเปิดเผยภาพของการนำกำลังทหารเกณฑ์ของกองทัพไปใช้เป็นแรงงานส่วนตัวทำหน้าที่ล้างรถ ปอกทุเรียน ซ่อมแซมบ้านพักส่วนตัว พร้อมกับถูกเหยียดหยามละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่างๆ นานา

เรื่องของทหารรับใช้ หรือศัพท์ทางการว่า “พลทหารบริการ” ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง แต่ทำกันเป็นความเคยชินจนลืมตั้งคำถาม ว่าการนำกำลังพลไปรับใช้จิปาถะเป็นการส่วนตัว หรือให้เป็นคนรับใช้ในครัวเรือนให้แก่ครอบครัวหรือแม้แต่ไปใช้เป็นแรงงานในเชิงธุรกิจเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่

แต่เรื่องนี้ทำเอาผู้มีหน้าที่ต้องตอบไปไม่เป็น ต้องใช้การเบี่ยงประเด็นว่า เป็นรูปเก่าแล้ว และผู้ที่โพสต์มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตและต้องเข้ารับการรักษา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการให้เหตุผลแบบไม่เชื่อมโยง (ignoration elenchi) ทั้งสิ้น

เพราะแม้จะเป็นภาพเก่าแต่เรื่องนี้ถ้ามันไม่ชอบธรรมก็ไม่เกี่ยวว่าเหตุจะเกิดเมื่อไร หรือผู้ที่กระทำการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของพลทหารเหล่านั้น แม้ว่าอาจจะไม่ต้องรับผิดหรือสมควรถูกตำหนิหากเป็นเพราะความเจ็บป่วยทางจิตก็จริง แต่มันก็คนละประเด็นกับการที่ระบบที่อนุญาตให้นำกำลังพลไปรับใช้ส่วนตัวในครอบครัวจนเป็นปัญหาที่เห็น

ส่วนการสั่งให้ตรวจสอบว่าผู้ที่นำเรื่องและภาพดังกล่าวมาเผยแพร่มีเจตนาอย่างไร นอกจากเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นแล้วก็เป็นเรื่องของการทำลายประเด็นโต้แย้งโดยการใช้อำนาจปิดปาก (argumentum ad baculum)

นั่นคือการตอบโต้แบบ “สายสว่าง” ส่วน “สายมืด” ก็ได้แก่การปล่อยภาพชุดที่เป็นไม้ตายประจำ คือภาพของทหารชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างยากลำบากเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเป็นรูปแบบของกลวิธีตอบโต้แบบเรียกร้องความเห็นใจ (argumentum ad misericordiam) หรือแม้แต่ไปเอาภาพของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่กำลังทานอาหารในร้านอาหารมาเปรียบเทียบแบบใส่ไฟ ทั้งๆ ที่มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นนี้เลย เพราะการที่นักการเมืองรับประทานอาหารหรูหรานั้นต่อให้จริง (ซึ่งก็ไม่จริง) ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และต่อให้เป็นเรื่องที่นักการเมืองทำผิดจริง แต่ก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าการเกณฑ์ทหารและนำเอาทหารเกณฑ์ไปใช้งานเป็นส่วนตัวจะเป็นเรื่องถูกต้องขึ้นมาได้

การโจมตีว่าคนอื่นทำเรื่องไม่ดีไม่งามเพื่อจะทำลายข้อโต้แย้งก็เป็นรูปแบบของตรรกะวิบัติที่นิยมที่สุดคือการโจมตีที่ตัวบุคคล (argumentum ad hominem) และเลวร้ายกว่านั้นคือการป้ายสีในสิ่งที่ไม่ใช่ความจริง ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาว่าการใช้ตรรกะวิบัตินี้เป็นไปโดยจงใจ มิใช่โต้โดยผิดหลงเพราะความไม่แม่นในตรรกะ

สุดท้ายนี้ต้องบอกว่าในคอลัมน์ตอนนี้ก็มี “ข้ออ่อน” อยู่อย่างหนึ่งที่อาจจะเป็นจุดที่ถูกยกมาโจมตีได้ นั่นคือผม – ผู้เขียน “จงใจ” ที่จะอ้างภาษาละตินเท่าที่หาได้ในชื่อของตรรกะวิบัติแต่ละเรื่องเพื่อให้ดูขลังขรึมน่าเชื่อถือ อันเป็นรูปแบบหนึ่งของกลวิธีใช้คำหรูหรา (argumentum verbosum) ที่ผมจงใจชี้ข้ออ่อนตรงนี้ให้เห็น เพื่อให้ผู้ที่อยากจะตอบโต้มองเห็น “หุ่นฟาง” ได้ชัดๆ เผื่อจะยิงทิ้งแล้วสบายใจว่าได้ตอบโต้บทความนี้แล้ว

แต่ทั้งหมดที่เขียนไปนี้จะมีเหตุมีผลสมควรพิจารณาหรือไม่นั้น ก็ขอให้เป็นไปตามวิจารณญาณของผู้อ่านแต่ละท่านก็แล้วกัน

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image