วิกฤต คนไทยไม่อ่าน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วิกฤต คนไทยไม่อ่าน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วิกฤต คนไทยไม่อ่าน : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติหรือ PISA และนายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกันแถลงผลการประเมินผลนักเรียนปี 2018 พบว่านักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่าน 393 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของ OECD อยู่ที่ 487 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับ PISA ปี 2015 ซึ่งได้ 409 คะแนน ลดลง 16 คะแนน

“แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน มีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน” ผู้อำนวยการ สสวท.ย้ำหนักแน่น

ครับ ผมหยิบข่าวนี้ขึ้นมาฉายซ้ำเพราะอยากจะติดตามว่าสังคมไทย คนไทย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้บริหารการศึกษา ครู อาจารย์ จนถึงผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ยังจะอยู่เฉยๆ สบายดีกันต่อไปอีกนานแค่ไหน ในขณะที่วิกฤตใหญ่เกิดขึ้นนานแล้ว จะส่งผลต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

Advertisement

วิกฤตจากการที่เด็กไทยอ่านลดลง และไม่อ่านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ การคิด การเขียน การค้นคว้า การแสวงหาความรู้ในทุกสาขาวิชา เพื่อนำไปสู่ความมีสติปัญญาและสัจธรรม ความดี ความงาม ผิด ถูก ดีชั่ว จริง ไม่จริง ซึ่งหมายถึงความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงและความอยู่รอดของตัวเองและสังคมในที่สุด

แต่ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ยังคงพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องการปรับโครงสร้างการบริหาร ยุบตำแหน่งโน้น เพิ่มตำแหน่งนี้กันเป็นด้านหลักจนถึงวันนี้

ขณะที่วิกฤตในเรื่องที่สำคัญยิ่งยวด เร่งด่วน ร้อนแรงกว่า ถูกมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา อ้างว่าเป็นไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเด็กไทยไม่อ่าน คนไทยไม่อ่านเท่านั้น

สาเหตุประการสำคัญที่สังคมไทยไม่สามารถทำให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมอันเข้มแข็งได้ เป็นผลพวงทางประวัติศาสตร์การเมืองที่ปิดกั้น ขณะที่สื่อสารมวลชน สื่อกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ คลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะถูกใช้ไปในทางส่งเสริมความสนุกสนาน บันเทิงเริงรมย์ แทนที่จะเป็นแหล่งความรู้ ความมีสาระ การแสวงหาและรายงานความจริง เป็นหลัก กลับกลายเป็นแหล่งหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจกับคนที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ

พฤติกรรมการบริโภคสื่อที่ผ่านมา ส่งเสริมการดูและการฟัง เพื่อความสนุกสนาน บันเทิง ไร้สาระยิ่งกว่าความมีสาระ ส่งผลต่อเนื่องมาทำให้คนไม่อ่าน ดังผลการทดสอบ PISA ล่าสุด

การอ่านยุคใหม่ยุคเทคโนโลยีก้าวไกล จึงเน้นไปที่การดูและการฟัง มุ่งความรวดเร็วมาก่อนความจริงและความถูกต้อง

แม้จะมีข้อเท็จจริงว่า คนไทยเปิดอ่านกูเกิลไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศไหนๆ ในโลกก็ตาม แต่ก็มีคำถามมาตลอดว่า ใช้ไปในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากพอหรือไม่

ผลการทดสอบระดับนานาชาติครั้งล่าสุดนี้จึงเป็นกรณีที่น่าเทียบเคียงกับประเทศที่มีการบริโภคเทคโนโลยีใหม่สูง ว่า ส่งผลต่อการอ่านของคนในประเทศนั้นอย่างไร เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือตรงกันข้ามกับเรา

เทคโนโลยีควรส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการอ่านเอาสาระมากขึ้น แต่กลับยิ่งทำให้ความมีสาระน้อยลง เลยย้อนกลับมาถึงคำถามว่า ปัญหาอยู่ที่เทคโนโลยีหรืออยู่ที่คน

ขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง จากการแถลงของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) กับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึง “ผลสำรวจการอ่านของประชากร ประจำปี พ.ศ.2561” พบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน โดยอ่านหนังสือเล่มร้อยละ 88 และอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาแรงถึงร้อยละ 75.4 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น สะท้อนว่าหนังสือเล่มยังคงอยู่เคียงคู่สื่อใหม่

คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปอ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน ยังมีคนไทยที่ไม่อ่านถึงร้อยละ 21.2 โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุดร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และ ปี 2556 อ่าน 37 นาที

สถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้

โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ จะทำอย่างไร เมื่อผลทดสอบคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านของเด็กนักเรียนไทยออกมาตรงกันข้าม จนน่าวิตกเช่นนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image