จากหนังหน้าสู่ความรู้คิด โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ต่อการโพสต์เฟซบุ๊กของอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เกี่ยวกับการเข้าเรียนของคุณเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผมชื่นชมคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร เป็นพิเศษ เพราะทำให้เรามองเห็นปัญหาบางอย่างที่ทั้งกว้างและลึกซึ่งแฝงอยู่ในการศึกษาไทย

มติชนสรุปความเห็นของอาจารย์ยุกติได้ตรงและกระชับดีว่า “การศึกษากับชนชั้นเป็นสิ่งแยกกันไม่ออก ส่วนใหญ่คนเรียนดีคือคนที่มีโอกาสในสังคมสูงกว่าคนอื่น อย่างนักศึกษาในมหาวิทยาลัยใหญ่แถวสามย่าน ซึ่งมักเป็นลูกหลานคนมีฐานะ ซึ่งไม่ได้มีแต่อำนาจทางเศรษฐกิจ แต่มีอำนาจทางวัฒนธรรมด้วย นั่นคืออำนาจในการกำหนดความงาม”

ผมเข้าใจว่าคำว่า “ความงาม” ที่อาจารย์ยุกติใช้คงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เรื่องผิวพรรณรูปร่างหน้าตา หรือที่จริงผิวพรรณรูปร่างหน้าตาเสียอีกที่อาจไม่เกี่ยวเลย ไม่อย่างนั้น “เทพธิดาสลัม” ย่อมได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งในจุฬาฯ แต่โอกาสที่ “เทพธิดาสลัม” จะสอบติดจุฬาฯ นั้นแทบไม่มีเลย เมื่อไม่เกี่ยวกับผิวพรรณรูปร่างหน้าตา จะเกี่ยวกับอะไร?

ผมคิดว่าเกี่ยวกับสภาพที่สำนวนไทยเรียกว่า “ดูดี” ครับ

Advertisement

“ดูดี” ซึ่งอำนาจทางวัฒนธรรมในแต่ละสังคมกำหนดขึ้นไม่เหมือนกัน ผมจะขอพูดแต่ “ดูดี” ที่อำนาจทางวัฒนธรรมไทยกำหนดขึ้นเท่านั้น

ผิวพรรณรูปร่างหน้าตาก็เกี่ยวนะครับ แต่ไม่ใช่เงื่อนไขเด็ดขาด ว่าที่จริงผิวพรรณรูปร่างหน้าตาในโลกปัจจุบันนั้นไม่ได้มาจากบุญทำกรรมแต่งแต่อดีตชาติ หากสัมพันธ์อย่างมากกับฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างที่น่าจะทราบกันอยู่แล้วว่า ผิวเปล่งประกายมาจากข้างในนั้นไม่ได้เกิดจากเครื่องประทินผิวที่โฆษณาขายกัน แต่เกิดจากการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ส่วนหนึ่งของอาหารที่ถูกสุขลักษณะนั้นต้องใช้เงินซื้อในปริมาณที่มากพอ เช่นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความรู้และการมีวินัยด้านการกิน ซึ่งมักเกิดกับคนมีการศึกษาสูง และการศึกษาสูงในเมืองไทยนั้นมาจากฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในสัดส่วนที่สูงมากทีเดียว

ส่วนรูปร่างก็มาจากการกินที่ถูกสุขลักษณะเช่นกัน โดยไม่เคยสำรวจสถิติ แต่ผมอยากเดาว่า ส่วนใหญ่ของคนอ้วนในเมืองไทยนั้นคือคนจน (อ้วนเพราะกินอาหารแดกด่วนบ่อยก็มีไม่น้อย แต่ก็ยังน้อยกว่าอ้วนเพราะจนซึ่งไม่ค่อยเห็นใครเป็นห่วงกันนัก) เพราะคนจนมักต้องบริโภคแป้งมากเกินไป แม้คนจนต้องทำงานหนัก แต่ไม่ใช่หนักในแง่ออกกำลังกายเท่ากับนั่งในท่าเดียวกันนานๆ (เช่นเป็นแม่ค้าหรือเป็นแรงงานในโรงงานเย็บผ้า)

Advertisement

มีคนพูดว่า โรคอ้วนนั้นแก้ไขได้ด้วยความรู้ด้านโภชนาการเพียงอย่างเดียว นี่ก็อาจจะจริง แต่จริงสำหรับเมืองไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว เมื่อส่วนใหญ่ของคนไทยยังอยู่ในท้องไร่ท้องนาซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารธรรมชาติ (รวมทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วย) ในเมืองไทยปัจจุบัน ความรู้ด้านโภชนาการอย่างเดียวไม่พอจะสู้กับโรคอ้วนได้แล้วละครับ

แต่ที่เหนือกว่าผิวพรรณรูปร่างหน้าตาของ “ดูดี” ในวัฒนธรรมไทยก็คือ (สิ่งที่ขอเรียกรวมๆ ว่า) บุคลิกภาพครับ และหัวใจของบุคลิกภาพที่ “ดูดี” ประกอบด้วยสามอย่างสำคัญต่อไปนี้

1.มารยาท – มารยาทคงมีความสำคัญในบุคลิกภาพที่ “ดูดี” ในวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน แต่สาระสำคัญของมารยาทไทยนั้น หากวิเคราะห์ไปถึงแก่นแล้วก็คือ การยอมรับและปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับช่วงชั้นทางสังคม ไม่ใช่รู้จักให้เกียรติผู้อื่นตามความหมายฝรั่งนะครับ เพราะฝรั่งถือว่าคนเสมอกัน จึงพึงให้เกียรติด้วยลักษณาการเดียวกัน แต่ให้เกียรติของไทยหมายถึงต้องรู้ว่าคนที่เราสัมพันธ์ด้วยนั้นอยู่ในลำดับช่วงชั้นที่สูงหรือต่ำกว่าเรา สูงไปกี่ขั้น และต่ำไปกี่ขั้น มีมารยาทหรือแบบปฏิบัติที่คนพึงปฏิบัติต่อคนแต่ละลำดับขั้นที่ละเอียดซับซ้อนมาก คนที่จะ “ดูดี” ได้ ต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงจะนับว่าเป็นคนมีมารยาท

ไม่เฉพาะแต่กายและวาจาเท่านั้นนะครับที่ต้องมีมารยาทรู้ที่ต่ำที่สูง ผมคิดว่ารวมไปถึงวิธีคิดด้วย เช่นไม่แย้งความเห็นผู้ใหญ่ตรงๆ แต่ต้องใช้กลวิธีที่แนบเนียน เพื่อไม่ให้เสียมารยาท นักปราชญ์ไทยชอบเตือนเกี่ยวกับกลวิธีหรือ tact ในความสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่บ่อยๆ คุณคิดอะไรมีความสำคัญน้อยกว่าคุณแสดงออกซึ่งความคิดนั้นอย่างไร บางอย่างหรือหลายอย่างไม่พึงแสดงออกเลยก็มี เพื่อรักษามารยาททางสังคมไว้ หรือเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเองเอาไว้

คนที่ “ดูดี” ในวัฒนธรรมไทย คือคน “สมยอม” กับผู้ใหญ่ครับ (conformist) แม้สิ่งที่เราต้องสมยอมอาจเป็นความอยุติธรรม, ความปลิ้นปล้อน, ความเห็นแก่ตัว, หรือความไร้เหตุผล ก็ตาม

2.การแต่งกาย หลักการคือแต่งกายให้เหมาะกับสถานภาพที่สูงต่ำของสถานที่และบุคคล แต่เมื่อสถานะทางเศรษฐกิจของคนไทยดีขึ้น การแต่งกายที่ “ดูดี” จึงไปสัมพันธ์กับคุณภาพของเครื่องแต่งกายด้วย ดังนั้นการแต่งกายแล้ว “ดูดี” จึงมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งคนอีกพวกหนึ่งเข้าไม่ถึง ยังมีการแต่งกายที่ดู “เชย” หรือไม่อีกด้วย ส่วนนี้สัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจโดยทางอ้อม เพราะคนที่แต่งกายไม่ “เชย” คือคนที่ได้พบเห็นการแต่งกายที่ไม่ “เชย” มามาก ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากคนที่แต่งกายไม่ “เชย” มามาก จึงรู้วิธีแต่งกายที่ “ดูดี” ได้

จนถึงที่สุด มาตรฐานว่าอะไร “เชย” หรือไม่ ก็อย่างที่อาจารย์ยุกติกล่าวถึง คือเกิดขึ้นจากอำนาจทางวัฒนธรรมของชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมากอยู่นั่นเอง

ในแง่นี้ ความไม่ “เชย” ในการแต่งกาย, ถูกต้องเหมาะสมกับสถานที่และบุคคล, และคุณภาพที่เห็นได้ชัดของเครื่องแต่งกายจึงเป็นเรื่องของชนชั้นโดยตรง

3.คนที่ “ดูดี” ต้องพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ ให้ชัด และฟังเป็นธรรมชาติด้วย เพราะภาษากรุงเทพฯ ที่ชัดแสดงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ถึงไม่มีกำเนิดในกรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านการศึกษาในโรงเรียนที่ดีพอจะมีครูซึ่งพูดภาษานี้ได้ชัด

จากกิจกรรมที่คุณเนติวิทย์เคยทำมาและเป็นที่รับรู้ในสังคม ก็จะเห็นได้ว่าคุณเนติวิทย์นั้นไม่ใช่คน “ดูดี” ในวัฒนธรรมไทยเอาเลย ผิดแผกจากนิสิตโดยทั่วไปของจุฬาฯ ไหนจะไม่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ไหนจะแต่งกายเหมือนเด็กมัธยมที่กำลังจะเข้าร้านเกมตลอด, ไหนจะใช้ภาษาไม่สมวัยสมฐานะ ฯลฯ

ผมคิดว่าอาจารย์จุฬาฯ ที่โพสต์ข้อความเหยียดหยามคุณเนติวิทย์ต้องการจะหมายความตามนี้มากกว่าหนังหน้า และในแง่หนึ่งก็จริงเสียด้วย เพียงแต่ไม่ใช่จุฬาฯ เพียงแห่งเดียว แม้ว่าจุฬาฯ อาจเป็นมหาวิทยาลัยที่ “ดูดี” ระดับชั้นนำ แต่ที่จริงแล้วมหาวิทยาลัยที่ “ดูดี” ทั้งหมด ก็ล้วนมีนิสิตนักศึกษาที่ “ดูดี” ทำนองเดียวกันทั้งนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนมีบุคลิกภาพเดียวกัน (ซึ่งไม่ได้หมายเพียงลักษณะท่าทางภายนอกเท่านั้น แต่รวมถึงวิธีคิดและวิธีรู้สึกข้างในด้วย)

ทำไมถึงเป็นอย่างนี้?

คำตอบที่มีผู้พูดถึงมามากแล้วก็คือ การจัดการศึกษาของไทยทั้งระบบเปิดให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางสังคมน้อย (social mobility) การคัดเลือกคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นผลบั้นปลายของการจัดการศึกษาแบบนั้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็จัดการคัดเลือกที่เน้นให้ชนชั้นที่ “ดูดี” ได้โอกาสเรียนเป็นพิเศษด้วย ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

อันที่จริง การศึกษาคือการสืบทอดอภิสิทธิ์ของชนชั้นในทุกสังคมมาแต่โบราณแล้ว แต่การศึกษามวลชนในโลกยุคใหม่ซึ่งต้องได้รับการอุดหนุนจากภาษีซึ่งเก็บจากประชาชนทั่วไป ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้สืบไป เพราะมันไม่เป็นธรรมทางสังคมอย่างรุนแรง ความเป็นธรรมทางสังคมอาจไม่มีความสำคัญในตัวเองก็ได้ แต่มันจะมีความสำคัญขึ้นอย่างมากทีเดียว หากประชาชนทั่วไปเห็นว่าสำคัญและเรียกร้องเอา ในปัจจุบัน ผมคิดว่าประชาชนไทยเห็นเรื่องนี้สำคัญ และเรียกร้องเอาแล้ว

หากมองเรื่องนี้จากแง่ความเป็นธรรมทางสังคม ก็จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเคยมีคนพูดถึงมามาก และได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างมาแล้ว แม้ยังไม่เกิดผลอะไรมากนัก

ผมจึงไม่ขอพูดเรื่องนี้ แต่ขอพูดเพียงเรื่องเดียวคือ ความไม่หลากหลายของบุคลิกภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้น กระทบต่อคุณภาพของอุดมศึกษาไทยด้วย

ความหลากหลายของผู้เรียน (ทางชนชั้น, ปูมหลังครอบครัว, เพศสภาพ, ประสบการณ์ชีวิต, ความโน้มเอียงทางศาสนาหรือการเมือง, ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกในที่นี้ว่าบุคลิกภาพ) ทำให้การเรียนรู้และการคิดมี efficiency (ซึ่งไม่รู้จะแปลว่าอะไรในภาษาไทย นอกจากประสิทธิภาพ ซึ่งอาจไปสับสนกับคำว่า effective) คนที่คิดอะไรได้อย่าง efficient หรือมีประสิทธิภาพคือคนที่สามารถคิดได้จากหลายมุมมอง

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐกลายเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลก รัฐบาลเปิดการศึกษาของตน โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาให้แก่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา โดยการจัดสรรทุนให้ นักการเมืองอเมริกันอาจคิดถึงการแผ่อิทธิพลไปในดินแดนที่ต้องแข่งอิทธิพลกับคู่แข่งคือโซเวียต นายทุนอเมริกันอาจคิดถึงโอกาสขายสินค้าเทคโนโลยีของตนในภายหน้า แต่มหาวิทยาลัยอเมริกันคิดเรื่องนี้แหละครับ คือคิดว่าหากชั้นเรียนประกอบด้วยนักเรียนที่มีบุคลิกภาพหลากหลาย ทุกคนนับตั้งแต่ตัวนักเรียนเอง ไปจนถึงครูผู้สอน ก็จะได้ประสิทธิภาพในการคิดมากขึ้น เพราะปัญหาเดียวกันนี้ หากมองจากมุมของคนที่มาจากประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา จากวัฒนธรรมที่ไม่ใช่คริสเตียนขาว ไม่ใช่ทุนนิยมเต็มที่ ฯลฯ ก็อาจมองได้อีกอย่างหนึ่ง ทุกคนจึงได้เรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งหมด โดยไม่ต้องมาลงเอยที่การ “ลงร่อง” ทางความคิด อันเป็นภยันตรายที่สุดของการเรียนมหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน คุณภาพทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นคือ originality หรือความคิดใหม่ที่เป็นของตนเองในการศึกษาวิจัยมากขึ้น แต่ความคิดแบบนี้จะมาจากชั้นเรียนที่ไม่มีความหลากหลายด้านบุคลิกภาพได้อย่างไร

ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยไทยต้องการความหลากหลายของผู้เรียน ก็ควรหันกลับมาทบทวนเกณฑ์การคัดเลือกผู้เรียนกันใหม่ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาประกอบด้วยคนหลายประเภท ไม่เฉพาะแต่ “ดูดี” เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม หากชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายเพียงการสอนให้เรียนรู้สิ่งที่เขารู้กันอยู่แล้ว ไม่ได้มุ่งให้เรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่ ชั้นเรียนจะประกอบด้วยผู้เรียนที่หลากหลายหรือไม่ก็ไม่สู้สำคัญนัก ดังนั้นพร้อมกันกับที่มหาวิทยาลัยทบทวนเกณฑ์การคัดเลือกนักศึกษา มหาวิทยาลัยก็ควรทบทวนเป้าหมายและวิธีการของการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยไปพร้อมกันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image