จิตวิวัฒน์ : อยู่ ไม่ เป็น : โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน

คําที่พูดถึงกันค่อนข้างมากในปัจจุบันคือคำว่า “อยู่ไม่เป็น” เป็นคำที่นำเสนอโดยคนของพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง

ตอนแรกที่ได้ยิน ก็ยอมรับว่างงๆ กับความหมายที่เขาต้องการจะสื่อพอควร เพราะเรานึกไปเทียบกับคำที่เราคุ้นชิน เช่น กินไม่เป็น โกหกไม่เป็น ไปไม่เป็น เพราะฉะนั้น อยู่ไม่เป็นก็น่าจะหมายถึง อยู่ไม่ได้ ไม่รู้จะอยู่อย่างไร แต่พอฟังคำอธิบายของเขาไปสักพัก ก็เริ่มเข้าใจว่า เป็นการให้ความหมายที่แปลกใหม่ออกไป อาจจะเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนในวงการโฆษณานิยมใช้กันบ่อยๆ แต่ที่ไม่เห็นด้วยคือการสร้างความหมายที่ไม่ดีกับคำว่า “อยู่เป็น” เพียงเพื่อจะให้คำว่า “อยู่ไม่เป็น” มีความหมายที่ดีวิเศษขึ้นมา เพื่อให้เกิดภาพว่าตนเองและพรรคพวกเป็นกลุ่มคนที่ “อยู่ไม่เป็น” และจะยืนหยัด ต่อสู้ด้วยการ “อยู่ไม่เป็น” ตามความหมายใหม่ และเรียกร้องให้ผู้ร่วมอุดมการณ์ มาร่วมขบวนการ “การเดินทาง” เพื่อสร้าง “การเปลี่ยนแปลง” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

การให้ความหมายคำว่า อยู่ไม่เป็น ในทางที่ดีที่ตรงกันข้ามกับคำว่า อยู่เป็น ซึ่งให้ความหมายไปในทางที่ไม่ดีดังกล่าว โดยส่วนตัวผมเข้าใจได้ เพราะคนรุ่นใหม่ใช้คำว่าอยู่เป็นไปในทางไม่ดี เช่น เป็นคนกะล่อน เลียหรือเอาใจเจ้านาย แต่การใช้คำนี้ ในความหมายดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็ใช้อยู่ภายใต้บริบทที่มีการกระเซ้าเย้าแหย่ ล้อเล่น หรือกระแหนะกระแหนเสียดสีกัน เป็นการเล่นคำ

แต่ก็มีการใช้คำนี้ในความหมายของ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เช่นกัน

Advertisement

สําหรับผม ในฐานะพลเมืองอาวุโส คำว่า “อยู่เป็น” มีความหมายทางบวก เป็นคำไทยที่ไพเราะ สะท้อนความเป็นคนไทยที่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงาม คนที่อยู่เป็น เป็นคนที่มีสติ สัมปชัญญะ มีสมาธิ และปัญญา รู้กาล เทศะ มีสัมมาคารวะ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร

การอยู่เป็น เป็นการสะท้อนการดำเนินชีวิตที่ดำรงอยู่อย่างเป็นองค์รวม ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมา บริบทในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงที่แปรเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง มองในแง่สารัตถะแห่งการดำเนินชีวิต การอยู่เป็น เป็นการบูรณาการความจริง ความดี และความงามเข้าเป็นหนึ่งเดียว เกาะเกี่ยวร้อยเรียงความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้วยมิติของเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ส่วนใครจะตีความหรือให้ความหมายของคำว่า “อยู่เป็น” ไปในทางลบ ก็เป็นสิทธิของเขา เป็นความเข้าใจของเขา เป็นเจตนาของเขา เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเคารพและเข้าใจผู้ที่มีความแตกต่างไปจากเรา เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ มีการเคารพในความแตกต่าง เพราะสำหรับผม ความแตกต่างคือสิ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ความแตกต่างเป็นความจริง ความดี และความงาม หากเราช่วยกันถักทอเชื่อมโยงความแตกต่างและความหลากหลายได้ การอยู่ร่วมกันอย่าง “รู้รัก สามัคคี” ท่ามกลางความแตกต่าง ก็จะเกิดขึ้นได้

เพื่อตรวจสอบดูว่า ความเข้าใจของผมเกี่ยวกับคำว่า “อยู่ไม่เป็น” ถูกต้องใกล้เคียงแค่ไหน ผมก็ลองไปศึกษาค้นคว้าดูครับ และนี่คือส่วนหนึ่งของการสืบค้นครับ

คำว่า “เป็น” เป็นคำกริยาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำกับคำ เพื่อให้เห็นว่าคำหน้า และคำหลังมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร เช่น เขาเป็นสามีของเธอ หรือหมายความว่าสามารถ หรือได้ เช่น เขาโกหกเป็น เธอบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเป็น

แต่ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ คำว่าเป็น หมายถึง ยังมีชีวิตอยู่ เช่น คนเป็น งูเป็น หรือหมายถึง ประหนึ่ง เช่น หลับเป็นตาย พูดเป็นปี่เป็นขลุ่ย

คำว่า “ไม่” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า มิ ใช้วางหน้าคำที่ต้องการให้มีความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น ไม่ดี ไม่ใช่ แต่ถ้าอยู่ท้ายคำ ต้องมีคำว่า หา อยู่ข้างหน้า เช่น หารู้ไม่ หาดีไม่

คำว่า “อยู่” เป็นคำกริยา แปลว่า พัก, อาศัย เช่น เธออยู่ที่บ้านของพ่อแม่ หรือหมายถึง เป็น, ยังมีชีวิตอยู่ เช่น พ่อแม่ยังอยู่

เมื่อเอามารวมกันเป็น “อยู่ไม่เป็น” ก็น่าจะหมายถึง อยู่ไม่ได้ อยู่แบบไม่มีชีวิต หรือไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไร ทำตัวไม่ถูก ซึ่งมีความหมายโน้มไปทางไม่ดี ปรับตัวไม่ได้

อย่างไรก็ดี การแยกย่อยพิจารณาความหมายเป็นคำๆ แล้วนำความหมายมารวมกัน อาจใช้ไม่ได้ในทุกกรณี โดยเฉพาะถ้าเราไม่รู้ที่มาของมัน ตัวอย่างเช่น “น้ำผึ้งพระจันทร์” ถ้าแยกเป็นคำๆ คือ น้ำ + ผึ้ง + พระ + จันทร์ ความหมายที่ออกมาก็จะไม่ใช่ความหมายที่ใช้อยู่จริง เพราะคำนี้เป็นคำใหม่ที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Honey Moon

แต่คำว่าอยู่ไม่เป็น และคำว่าอยู่เป็น เป็นคำไทยดั้งเดิมทั้งหมด มีความหมายที่ชัดเจนอยู่ในตัวของมัน เพียงแต่ในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งใช้คำว่าอยู่เป็น ในความหมายใหม่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

สรรพสิ่งล้วนมีที่มาที่ไป เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง ไม่สามารถแยกเบ็ดเสร็จเด็ดขาดออกจากกันได้

ผู้นำ ผู้ที่จะเป็นผู้นำ และผู้ที่ต้องการความสำเร็จร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงควรต้องเข้าใจสัจธรรมในเรื่องนี้ ไม่ควรห้ำหั่นกัน หรือมุ่งเอาแพ้-ชนะกันด้วยความรู้ หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสีระหว่างกัน แต่ควรหันหน้ามาพูดคุยปรึกษาหารือกัน ด้วยข้อมูล ด้วยข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนมากพอ ด้วยความรู้ที่หลากหลายรอบด้าน อย่างมีสติ ใช้ปัญญา และสร้างให้เกิดปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ร่วมกัน ในการสร้างอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทย และสังคมไทยให้เกิดขึ้น

ขอปิดบทความนี้ด้วยคำสอนของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติสำหรับทุกฝ่ายครับ

ศรัทธา มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น งมงาย

ปัญญา มีมากเกินไป ขาดศรัทธา กลายเป็น ทิฏฐิมานะ

สมาธิ มีมากเกินไป ขาดปัญญา กลายเป็น โมหะ

ปัญญา มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น ฟุ้งซ่าน

วิริยะ มีมากเกินไป ขาดสมาธิ กลายเป็น เหน็ดเหนื่อย

สมาธิ มีมากเกินไป ขาดวิริยะ กลายเป็น เกียจคร้าน

สติ มีมากเท่าไหร่ ยิ่งดี มีแต่คุณไม่มีโทษ

ขอให้คนไทยทุกคนมีสติ และเจริญสติยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

จุมพล พูลภัทรชีวิน
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image