มอง กกต. ยื่นยุบ อนค. โอกาส รบ.แก้ ‘ปริ่มน้ำ’ จับตา วิกฤตใหม่

คําวินิจฉัยของ กกต.ด้วยมติ 5 ต่อ 2 กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ปล่อยกู้ 191 ล้านบาทให้พรรคอนาคตใหม่ กลายเป็นประเด็นฮอต

เมื่อเสียงข้างมากของ กกต.เห็นว่า นายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ มีความผิด

ระบุว่าผิดตามมาตรา 72 และมีผลให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยยุบพรรค ตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

กรณีดังกล่าวมีผลได้ผลเสียต่อรัฐบาล

Advertisement

ทั้งนี้เพราะหากพรรคอนาคตใหม่ต้องคำวินิจฉัยยุบพรรคจริงย่อมกระทบต่อ ส.ส. 80 คนของพรรค

จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมดอาจจะมีบางส่วนโยกไปเข้าพรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล

ฟากฝั่งรัฐบาลอาจจะโชคดีที่มีเสียงเข้ามาเพิ่ม

Advertisement

เป็นการเติมเสียงฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในสถานะ “ปริ่มน้ำ” ในขณะนี้

วิกฤตเสียงปริ่มน้ำของฝ่ายรัฐบาลนั้นมีมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง

เสียงปริ่มน้ำทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องยอมรับเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เสียงปริ่มน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องไปพบปะกับพรรคแกนนำในงานเลี้ยงสังสรรค์เมื่อหลายวันก่อน

ทั้งนี้เพราะเสียงปริ่มน้ำมีผลทำให้การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติประสบปัญหา

ล่าสุดคือการโหวตเสียงในญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 ซึ่งพรรคฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้ตั้ง แต่พรรคฝ่ายค้านต้องการ

และเมื่อการ “โหวตครั้งแรก” ปรากฏว่าที่ประชุมสภา เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้ “โหวตใหม่” จนกลายเป็นวิกฤตองค์ประชุม

สภาล่มแล้วสภาล่มอีก

กระทั่งปรากฏการณ์ “งูเห่า” ขึ้น

ดังนั้น หากพรรคอนาคตใหม่มีอันต้องยุบพรรค และ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่หันไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล

วิกฤตเสียงปริ่มน้ำของฝ่ายรัฐบาลก็จะคลี่คลาย

ย้อนกลับมาที่ผลการวินิจฉัยของ กกต.ในกรณีเงินปล่อยกู้ให้พรรคอนาคใหม่

ในคำแถลงที่ กกต. ประกาศต่อสาธารณะ มีความยาว 8 บรรทัด ในจำนวน 8 บรรทัดนี้เป็นการเกริ่นนำ 3 บรรทัด และเป็นเนื้อหาความเห็นของ กกต. 5 บรรทัด

จับความได้ว่า กกต.เห็นว่า เงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินบริจาค ซึ่งเข้าข่ายความผิดในมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง

พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิด จึงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคต่อไป ตามมาตรา 92

ด้วยข้อกล่าวหา โทษของการกล่าวหา และการชี้แจงเหตุผลการกล่าวหา ทำให้สังคมเกิดความแคลงใจ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ให้ความเห็นว่า ความผิดตามมาตรา 72 จะอยู่ที่ เงินบริจาคที่ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ไม่ใช่เรื่องบริจาคเงินเกินกว่ากฎหมายกำหนด

“สาระของมาตรานี้ จึงเป็นการห้าม ‘เงินสกปรก’ ที่จะเข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง เช่น เงินบ่อน เงินซ่อง เงินค้าอาวุธสงคราม เงินค้าของหนีภาษี ฯลฯ ไม่ว่าจะบริจาคสักกี่บาทก็ตาม ถือว่าห้ามรับ เพราะเป็นการเอาเงินธุรกิจสีเทามาสนับสนุนฝ่ายการเมือง”

คำถามจึงกลับไปที่ กกต.ว่า “แน่ใจแล้วหรือที่ใช้มาตรานี้ในการจัดการกับพรรคอนาคตใหม่ ท่านรู้แล้วใช่ไหมว่าเงินที่มาให้กู้เป็นเงินสกปรก”

จบท้ายคือ กกต. 5 เสียงอาจจะถูกร้องเรื่องวินิจฉัยมิชอบ

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่มีเสียงคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าวดังกระหึ่ม

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย สรุปได้ว่า 1.กกต.เร่งรัดกรณีของเราในเรื่องกู้เงินนี้อย่างผิดสังเกต ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการเรียกไปสอบสวน มีแต่เพียงให้ประธานคณะกรรมการไต่สวน เชิญไปชี้แจงอยู่ 3 ครั้ง แล้วให้ส่งเอกสาร ซึ่งมีลักษณะไม่เกี่ยวข้องกับคดี

2.กระบวนการทำงานในคดีที่ผ่านมามีเอกสารหลุดออกมา ซึ่ง กกต.ยอมรับเรื่องนี้อย่างชัดเจน ระหว่างทางก็มีข่าวปล่อย ข่าวหลุด แหล่งข่าวกล่าวว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เผยแพร่ลงในสื่อหลายฉบับ รู้ด้วยว่าแนวจะออกมาแบบไหน

และท้ายที่สุดมติ กกต.ก็เป็นเหมือนที่แหล่งข่าวกล่าวไว้

3.กกต.มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างเหตุตามมาตรา 72 ซึ่งระบุไว้ว่าห้ามมิให้พรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยมิชอบตามกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น ความผิดตามมาตรา 72 คือการรับเงินที่ได้มาโดยมิชอบ

คำถามคือเงินที่ได้มาจากการกู้หัวหน้าพรรค ไม่ชอบด้วยกฎหมายตรงไหน

จบท้ายนายปิยบุตรแสดงความเห็นว่า เป็นวันอัปยศอีกครั้งหนึ่งขององค์กรอิสระ

ขณะที่นายธนาธร ซึ่งประกาศถอยห่างจากสภามาก่อนหน้านั้นแล้ว ได้นัดรวมพลประชาชนวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ สกายวอล์ก

นี่คือปฏิกิริยาเบื้องต้นจากพรรคอนาคตใหม่

ส่วนขั้นตอนต่อไปมีกระแสข่าวว่า พรรคอนาคตใหม่จะยื่นฟ้อง กกต. วินิจฉัยโดยมิชอบ

วันรุ่งขึ้นมีรายงานข่าวจาก กกต.ชี้แจงข้อสงสัยของนายปิยบุตรตามข้อแรก

ยืนยันว่า กกต.สามารถที่จะ “เร่งรัดกรณีของเราในเรื่องกู้เงินนี้อย่างผิดสังเกต ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่มีการเรียกไปสอบสวน” ตามมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่เปิดทางให้

กลายเป็นอีกประเด็นที่วงการนักกฎหมายออกมาวิพากษ์วิจารณ์

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ป.ป.ช. เห็นว่าการยุบพรรคถึงแม้จะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่โทษที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ถูกตัดสิทธิ ห้ามดำรงตำแหน่ง ถือเป็นโทษที่รุนแรงของนักการเมือง

เหมือนถูกประหารชีวิตทางการเมือง

ดังนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างมาก ยกตัวอย่างศาลอาญา เมื่อศาลสืบพยานมาแล้วพบว่าพยานโจทก์แน่นมาก ก็จะให้โอกาสจำเลยเต็มที่ในการสืบพยาน เพื่อให้มีโอกาสสู้คดีเต็มที่

นี่คือหลักทั่วไปของกระบวนการยุติธรรม

ขณะเดียวกัน เมื่อฟังกระแสเสียงจากพรรคการเมืองด้วยกัน เริ่มมีเสียงจากนักการเมืองที่ออกมาให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่

กำลังใจจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านด้วยกันนั้นถือเป็นเรื่องปกติ

แต่กำลังใจจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลนี่สิ น่านำมาพิจารณา

อย่าลืมว่าแม้พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่พรรคประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์มีมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ขอลาออก ตามมาด้วยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ

เมื่อมีการพิจารณาญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ ม.44 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้วิกฤตเสียงปริ่มน้ำออกฤทธิ์

การที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นแตกต่างจากพรรค แสดงว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เป็นปกติ

กรณีคำวินิจฉัยของ กกต. และการยื่นให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เช่นกัน

แม้ผลสุดท้ายแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะได้เสียงในสภาเพิ่มขึ้น

แก้ไขปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภาได้

แต่เงื่อนปมแห่งความข้องใจอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตใหม่ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อรัฐบาล

นั่นคือวิกฤตศรัทธา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image