ความสุขที่แตกต่าง : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

น่าสนใจทีเดียว คำตอบของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เมื่อถูกถามเรื่อง “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” นัดชุมนุมเพื่อทวงคืนความชอบธรรม

“มันเหมาะสมหรือเปล่าในช่วงปีใหม่นี้ ทุกคนจะมีความสุข มันควรหรือเปล่า” คือสาระหนึ่งในคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์

ที่บอกว่าน่าสนใจเพราะมุมมองในเรื่อง “ความสุข” กลับคืนมาอีกครั้ง

เมื่อคำว่า “ความสุข” ออกจากปาก “พล.อ.ประยุทธ์” อีกครั้ง ก่อให้เกิดความคิดว่า แท้จริงแล้ว “ความสุข” มีความหมายเช่นไร หรืออะไรที่จะนำมาซึ่ง “ความสุข”

Advertisement

ย้อนไปเมื่อปี 2557 “ความสุข” เป็นเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อ้างนำกองทัพก่อรัฐประหาร

การก่อความวุ่นวายทางการเมืองคือการทำให้ไม่มีความสุข

การจัดการนำความสุขกลับคืนมา ไม่ใช่การจัดการกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ แต่เป็นการยึดอำนาจที่ทำให้ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” พ้นออกไป

Advertisement

จากนั้น ประกาศและทำงานมวลชนตอกย้ำว่า จะ “คืนความสุขให้ประชาชน”

“สัญญาที่จะคืนความสุข” ทั้งตอกย้ำด้วยคำพูด ด้วยเพลงที่เปิดกรอกหูทุกวัน ด้วยชื่อรายการวิทยุที่พยายามนำเสนอเรื่องราวที่รัฐบาลเห็นว่าประชาชนต้องรู้

วิธีการคืนความสุขผ่านการบริหารแบบใช้ความเด็ดขาดเต็มร้อยจัดการกับทุกเรื่องที่เห็นว่าเป็นปัญหา ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ปฏิเสธและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ของ “ม.44” อันเป็นอำนาจสารพัดนึก ผ่านการใช้กำลังไปควบคุมผู้คนมาปรับทัศนคติ ไล่ล้างอิทธิพลของความคิดที่แตกต่าง ผ่านการทำงานของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่อนุมัติกฎหมายมากมายตามโพยออกมาบังคับใช้กับประชาชนทุกคน และผ่านวิธีการอีกมากมาย

ที่สุดแล้วได้รัฐธรรมนูญอันถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการนำอำนาจรัฐประหารเข้าไปบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนอำนาจต่อไปได้ โดยไม่ต้องมีการตัดสินใจเลือกของประชาชนมาเป็นอุปสรรค

หากนั่นเป็น “ความสุข” ที่ทำตามสัญญาว่าจะคืนให้ ย่อมเป็นความสุขของกลุ่มคนที่เสพสมร่วมกันใน “รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”

คนกลุ่มหนึ่งเขาเสวยอำนาจ โดยไม่เห็นความจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน อย่างการมีรัฐมนตรีโดยไม่สนว่าจะมีคุณสมบัติหรือไม่ อย่างไร การสนับสนุน ส.ส.ที่มีบทบาทในเชิงทำลายภาพลักษณ์ของการทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา

การพูดข้างๆ คูๆ ถึงภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่เห็นความจำเป็นต้องใส่ใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับประชาชน

การนิยมชมชื่นกับการตีความกฎหมาย โดยคนฟังสัมผัสไม่ได้ถึงความถูกต้องในทำนองคลองธรรม

และดูจะมีอีกมากมายที่เป็นความสุขของผู้มีอำนาจ โดยที่คนจำนวนมากไม่เพียงไม่รู้สึกสุขด้วย แต่ยังถูกทำให้รู้สึกชวนสังเวชในชะตากรรมของยุคสมัย

เป็น 6 ปีที่มุมมองในเรื่อง “ความสุข” ของคนในสังคมไม่ไปในทางเดียวกัน

ทว่า สภาวะเช่นนั้นแทบไม่อยู่ในความรับรู้ของกลุ่มคนที่มีอำนาจ

ท่ามกลางบรรยากาศที่หดหู่กับความไม่ชอบธรรม การปกป้องตัวเองให้อยู่ได้ด้วยการไล่ล้างคนที่เห็นว่าเป็นอริ อันก่อความทุกข์ให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่คับข้องกับสังคมที่รู้สึกได้ถึงสภาวะไร้ความเป็นธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำของประเทศ เห็นว่าการดิ้นรนเรียกร้องความเป็นธรรมคือการทำลาย “ความสุขในวาระปีใหม่”

ความสุขที่เกิดขึ้นโดยอาศัยวาระการเฉลิมฉลองในโอกาสของการเปลี่ยนปี

กับความสุขที่ควรจะร่วมสร้างขึ้นด้วยการส่งเสริมความเป็นคุณธรรมสำนึก

ควรจะเป็นความสุขที่ไปด้วยกัน เกิดขึ้นด้วยกันได้

การอ้างว่าจะสูญเสียความสุขแบบหนึ่ง เพราะเสียงเรียกร้องให้ร่วมกันสร้างความสุขอีกแบบหนึ่งที่ถูกทำลาย

ย่อมเป็นความสุขแค่ในมุมมองของตัวเอง

การคืนให้จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ใช่ความสุขของมุมที่ผู้คอยรับรู้สึกว่าจะต้องมีใครมาจัดการให้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image