พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน ‘จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู’ (15) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 29.4 ตอน ณ เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู พ.ศ.2466 : ในพรรษานี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านหนองบัวลำภู อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี นับเป็นปีที่ 8 แห่งการแนะนำการปฏิบัติธรรม ซึ่งเกิดผลอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากท่านมีญาณสามารถรู้อุปนิสัยของบุคคล ท่านจึงเลือกสอนบุคคลที่ควรแก่การสอน บุคคลใดไม่มีนิสัยที่จะพึงปฏิบัติให้เกิดผล ท่านก็ไม่สอนให้เสียเวลา โดยเฉพาะท่านก็ใช้เวลาสอนพระภิกษุสามเณรเสียเป็นส่วนใหญ่เพราะท่านมีอุดมคติในใจของท่านอยู่ว่า พระภิกษุสามเณร ถ้าหากสอนให้ได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรนั้นแม้องค์เดียวก็สามารถสอนฆราวาสได้นับเป็นจำนวนร้อยจำนวนพัน เหตุนั้นท่านจึงพยายามอบรมและแนะนำพระภิกษุสามเณรจริงๆ และก็บังเกิดผลจริงๆ ผ่านมา 8 ปี ได้ผลอย่างอัศจรรย์ยิ่ง เพราะได้เพิ่มผู้รู้ผู้ฉลาดในการปฏิบัติอย่างหนาแน่น

ก่อนจะเข้าพรรษานี้ ท่านอาจารย์กู่ฯ-พระอาจารย์หลวงตาพิจารย์ ท่านอาจารย์ทิวา สุมโน เป็นสามเณร และท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี กับท่านอาจารย์ภูมิ ฐิตธมฺโม พระอาจารย์หลวงตาชา พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระครูปลัดอ่อนตาฯ ที่อยู่วัดบ้านเดื่อ ในและนอกพรรษาท่านอาจารย์มั่นฯ ได้อยู่ ณ ที่นี้เป็นเวลานาน ได้ทำการอบรมในข้อปฏิบัติเพื่อให้ซึ้งยิ่งขึ้น เพราะการปฏิบัติจิตใจ เมื่อปฏิบัติไปจนเป็นจริงขึ้นมาแล้ว จึงจะได้ศึกษาความจริงนั้น หมายความว่า ต้องเป็นขึ้นมาในตัวของแต่ละบุคคล การแนะนำโดยการอธิบายล่วงหน้า คือ การบอกแนวทางนั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็อธิบายเพื่อความมั่นใจ และที่แท้คือ การพูดด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประการสำคัญ อย่างนี้เรียกว่า “ภูมิจิต” ซึ่งเป็นคำที่ท่านพร่ำเสมอว่า ภูมิจิต ภูมิจิตของใคร ดำเนินไปได้แค่ไหน นี้เป็นเรื่องที่จะต้องได้ถามกันอยู่ตลอดเวลา

เรื่องการสอบสวนถึงภูมิจิตนี้ เมื่อพระเณรรูปใด เข้ามาศึกษายังใหม่อยู่ พวกเราก็ไต่ถามกันเองและแนะนำกันเองไป เพราะมาตอนหลังๆ นี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านสอนเฉพาะภูมิจิตชั้นสูงแล้ว ฉะนั้นในเบื้องต้น ใครมีความรู้พอสมควรก็แนะนำกันในฐานะเป็นพี่เลี้ยง การกระทำเช่นนี้ มิได้ถือว่าเป็นการเสียเกียรติของผู้ที่เริ่มเข้ามาปฏิบัติใหม่ แต่เป็นการแบ่งเบาภาระจากท่านอาจารย์มั่นฯ เพราะการศึกษาขั้นต้นผู้ที่ได้เคยศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ มาก่อนแล้ว ก็ย่อมให้คำแนะนำได้อย่างเดียวกับท่านอาจารย์มั่นฯ เช่นเดียวกัน ยิ่งครั้งหลังสุดเมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ อายุ 70 กว่าปีขึ้นไปแล้ว ท่านไม่สอนเลยทีเดียวในเบื้องต้น เมื่อผู้ใดหรือพระเณรองค์ใดเข้ามาฝึกใหม่ ท่านจะให้พระเก่าที่ได้รับการศึกษามาแล้วแนะนำให้

แม้เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณอริยเวที (มหาเขียน) ท่านพระครู…(พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติเมื่อ พ.ศ.2485-2488 ทั้ง 2 องค์ ยังต้องรับการฝึกหัดแนะนำจากท่านวิริยังค์ สิรินฺธโร เสียก่อน เพราะท่านวิริยังค์แม้ขณะนั้นพรรษาพระเพียง 2-3 พรรษา เท่านั้น

Advertisement

แต่ได้ปฏิบัติมานาน เชี่ยวชาญการแนะนำทางจิต ซึ่งสามารถสอนให้ปฏิบัติเบื้องต้นได้ทั้ง 2 องค์ คือ พระมหาเขียนและพระมหาบัว ก็ต้องศึกษากับท่านวิริยังค์เสียก่อน ทั้งนี้ให้ได้ลู่ทางในอันที่จะศึกษาชั้นสูงต่อไปกับท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นการแบ่งเบาภาระการสอนของท่านอาจารย์มั่นฯ แม้ตัวเราเอง ขณะที่อยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ต้องรับภาระนี้ตลอดมาเช่นกัน เพราะเหตุที่มีศิษย์ต่างได้รับภาระของครูบาอาจารย์ได้เช่นนี้ จึงทำให้การสอนและดำเนินการได้ผลกว้างขวางขึ้นมาก เนื่องด้วยเหตุที่ว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านมีชื่อเสียงกิตติศัพท์ในการปฏิบัติธรรมและเชื่อกันในขณะนั้นว่า ถ้าผู้ใดอยู่ปฏิบัติกับท่านแล้ว ต้องได้รับผลอันเป็นความเยือกเย็น หรือความสว่างบริสุทธิ์แน่นอน จึงทำให้พระภิกษุสามเณรผู้มีความหวังผลในการปฏิบัติธรรม ได้หลั่งไหลไปทำการศึกษากับท่านอาจารย์มั่นฯ มากขึ้นยิ่งวาระสุดท้ายก็ยิ่งมากขึ้น ตามลำดับ

ขณะที่พักปฏิบัติธรรมร่วมอยู่กับท่านแล้ว ท่านได้พาบำเพ็ญเอง จะมีการประมาทไม่ได้ ต้องพยายามอย่างเต็มความสามารถของแต่ละบุคคล ถ้าผู้ใดประมาทหรือไม่พยายามเพื่อการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ท่านจะต้องทราบในญาณของท่านทันที ท่านก็จะตักเตือนในขั้นแรก เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป แต่ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ 2 เมื่อผู้นั้นเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อ ท่านจะตักเตือนเป็นครั้งที่ 3 ครั้งนี้ถ้าไม่เชื่อท่านก็ไล่ออกไม่ให้อยู่ต่อไป ฉะนั้นถ้าหากองค์ใดสามารถอยู่กับท่านได้เป็นเวลานานพอสมควร ก็จะต้องได้ผลสมความตั้งใจแน่นอน เพราะนโยบายและอุบายการฝึกหัดของท่านนั้นมีเพียบพร้อม พร้อมที่จะแนะนำให้แก่ศิษย์ทุกๆ องค์ ที่มีนิสัยเป็นประการใด ท่านก็จะแสดงธรรมหรืออบรมตามที่มีนิสัยวาสนามาอย่างนั้น จึงทำให้ได้ผลอย่างมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ในข้อนี้ผู้ที่เคยไปอยู่ศึกษาปฏิบัติมากับท่านแล้ว จะทราบได้ดีด้วยตนเอง

การปฏิบัติอันเป็นวัตรที่ท่านอาจารย์มั่นฯ พาศิษย์ของท่านปฏิบัตินั้น ออกจะแปลกกว่าบรรดาพระปฏิบัติหรือพระอื่นๆ ในสมัยนั้นมาก เช่น ฉันหนเดียว การฉันในบาตร เป็นต้น เฉพาะการฉันในบาตรนี้ เวลาไปในบ้านหรือเขานิมนต์ให้ไปฉันในบ้าน ต้องเอาบาตรไปด้วย เขาจัดสำรับความหวานอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ท่านก็เอาเข้าใส่บาตรหมด ด้วยเหตุที่ท่านได้นำมาปฏิบัติเช่นนี้ ศิษย์ผู้หวังดีและใคร่ในธรรมกับได้ผลการปฏิบัติมาแล้ว ก็ต้องรักษาข้อปฏิบัติเหล่านี้

Advertisement

ท่านพระครูปลัดอ่อนตา ท่านมีความเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นอย่างยิ่งและสนใจต่อข้อปฏิบัติของท่านอาจารย์มั่นฯ ยิ่งนัก แต่เนื่องด้วยท่านพระครูรูปนี้ท่านมีนิสัยสนใจมานานแล้ว เมื่อมาได้รับการศึกษาเพิ่มเติมเข้า ยิ่งทำให้ท่านได้มีความเลื่อมใสต่อข้อปฏิบัติภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไปอีก การปฏิบัติดังที่ได้ปฏิบัติตามแนวของพระอาจารย์มั่นฯ นั้น มิใช่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านตั้งขึ้นเอง แต่เป็นแนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติจริงเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดข้องต่อบุคคลบางคนเป็นธรรมดา เพราะบาคนหาว่ารุ่มร่าม หาว่าอวดเคร่งในท่ามกลางชุมนุมชน หาว่าไม่รู้กาลเทศะ หาว่าคร่ำครึ หาว่าเป็นคนล้าสมัย พากันว่ากันไปต่างๆ นานา ท่านพระครูจึงได้นำข้อครหาเหล่านี้ เข้ากราบเรียนต่อท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า “พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยทุกประการ ย่อมเป็นการขัดข้อง เขาหาว่าเราปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ไม่รู้จักกาลเทศะ คร่ำครึไม่ทันกาลทันสมัย” ท่านอาจารย์มั่นฯ จึงได้ตอบว่า “พวกเราผู้ปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้น จะถือเอาชาวบ้านนักบวชผู้นอกรีตเป็นศาสดาหรือจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของพวกเรา ถ้าจะถือเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของตน ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้วทุกประการ หรือถ้าต้องการเอาผู้อื่นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา ก็จงปฏิบัติตามผู้นั้นไป” ครั้นท่านพระครูปลัดอ่อนตาได้ฟังท่านอาจารย์พูดแนะอุบายเท่านี้ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ได้ดำเนินตามท่าน
อาจารย์มั่นๆ และก็การปฏิบัติตามท่านอาจารย์มั่นฯ ก็คือ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัดและตรงแน่ว เมื่อท่านพระครูปลัดอ่อนตาฯ ได้อยู่อบรมกับท่านอาจารย์มั่นฯ พอสมควรแล้ว ท่านได้ลาพระอาจารย์มั่นฯ เดินธุดงค์ไปตามสถานที่ที่อันสงัดวิเวกตามชนบทหมู่บ้านอันอยู่ชายป่าและภูเขา จนได้รับความเย็นอกเย็นใจเป็นไปกับด้วยความเพียรตามสมควรแล้ว ท่านก็กลับไปทางภูมิลำเนาเดิม แต่ไม่ได้เข้าไปพักที่วัดเดิมของท่าน ได้เลยไปพักอยู่ที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งใกล้กับบ้านโนนทัน (ต่อมาได้เป็นวัด ชื่อ วัดโยธานิมิต จนถึงปัจจุบันนี้) และใกล้กับกรมทหารด้วยสมัยนั้น กรมทหารพึ่งยกมาตั้งอยู่ใหม่ ทั้งยังไม่มีวัดอื่นที่ใกล้เคียงนั้นด้วย

ผู้บังคับการทหารพร้อมด้วยชาวบ้าน จึงได้นิมนต์ให้ท่านพักอยู่ในสถานที่นั้นแล้วช่วยกันจัดการทุกๆ อย่าง จนเป็นวัดขึ้นโดยสมบูรณ์ เพื่อให้ถูกกับทหารสร้างจึงให้นามว่า “โยธานิมิต” ต่อมาไม่นาน ท่านพระครูปลัดอ่อนตาฯ พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหมด มีความเห็นพร้อมกันว่า เราก็ได้ปฏิบัติข้อวัตรธรรมทุกอย่างตามรอยของท่านอาจารย์มั่นฯ จนได้รับผลอย่างพอใจพวกเราแล้ว ยังขาดสิ่งสำคัญ คือ ยังไม่ได้เป็นธรรมยุตเหมือนท่าน

เพื่อให้เป็นการสมบูรณ์ในการเลื่อมใสในตัวท่านและข้อปฏิบัติของท่าน เราควรทำทัฬหิกรรมเสียใหม่ เมื่อพร้อมใจกันแล้ว ก็ได้นิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ฯ (จูม พันธุโล) มาเป็นอุปัชฌายะ เมื่อสำเร็จแล้วท่านพระครูปลัดอ่อนตาฯ ก็พาคณะไปอยู่ที่วัดโยธานิมิตนั้นตามเดิม ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ก็ให้ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณโน ผู้ทรงคุณวุฒิ อายุพรรษามากเป็นลูกศิษย์ต้นของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ไปอยู่ด้วยเพื่อเป็นการให้นิสัย แต่ละพระครูปลัดอ่อนตาฯ ท่านก็คงแก่เรียนมาแล้วและเป็นผู้รักในการปฏิบัติตามแนวของท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างดีแล้ว ก็เป็นอันรับผิดชอบในตัวเองได้ ในกาลต่อมาไม่ช้านัก ท่านอาจารย์สุวรรณฯ ก็จาริกไปหาวิเวกส่วนตัว และท่านพระครูปลัดอ่อนตาฯ ก็อยู่ในวัดนั้นทำประโยชน์ในด้านการปฏิบัติและแนะนำพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาสืบต่อไป

(ติดตามตอนที่ 29.5 ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ รอบสอง…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image