สะพานแห่งกาลเวลา : สื่อโซเชียลกับเลือกตั้งอังกฤษ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

บีบีซี เวิร์ลด์นิวส์ ตั้งคำถามเอาไว้ว่า เราควรเรียกเลือกตั้งอังกฤษที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “เฟซบุ๊กอีเล็กชั่น” หรือไม่? เพราะมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียกันมากมายเป็นประวัติการณ์

แต่ผมว่านั่นไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่าสนใจนัก เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในการเลือกตั้งทั่วประเทศในยุคสมัยนี้

ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ มีบทเรียนอะไรจากกรณีนี้มาให้ซึมซับเป็นองค์ความรู้กันบ้าง ทั้งสำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ แล้วก็ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้ทั้งหลาย?

คำตอบก็คือมีครับ น่าสนใจด้วย เนื่องจากเป็นปัญหาซ้ำเดิมซึ่งเคยเป็นกรณีโด่งดังในสหรัฐอเมริกาเมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่แล้ว จนทำให้สื่อใหม่ทั้งหลายกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคองเกรสมาจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

ลิซา-มาเรีย นอยเดิร์ท นักวิชาการจาก สถาบันออกซ์ฟอร์ด อินเตอร์เน็ต ที่เคยทำวิจัยเรื่องการชวนเชื่อออนไลน์และการครอบงำสื่อ บอกกับบีบีซีไว้ว่า การโฆษณาทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ยังคงมีปัญหาเดิมๆ ที่แม้จะชัดเจน โปร่งใสมากขึ้นอยู่บ้าง แต่ยังไม่สามารถตอบคำถามสำคัญหลายคำถามได้

เธอชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการเปิดเผยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างบนยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งดีขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นคนว่าจ้างให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวนั้น

พรรคการเมืองทำอะไรบ้าง? ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง (กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ไม่ใช่พรรค) ทำอะไรบ้าง? พวกเหล่านี้ซื้ออะไร?

Advertisement

ข้อมูลเรื่องเหล่านี้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดูได้ในสื่อออฟไลน์ แต่ในสื่อออนไลน์ ไม่มีให้เห็น

แซม เจฟเฟอร์ส แห่ง ฮู ทาร์เก็ตส์ มี ที่ทำวิจัยเรื่อง ทาร์เก็ตเต็ด แอด บนเฟซบุ๊ก ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งอังกฤษหนนี้มีโฆษณาชนิดนี้นับเป็นแสนๆ ล้านๆ ครั้ง บนเฟซบุ๊ก ส่วนหนึ่งเป็นของกลุ่มที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

ในวันเลือกตั้ง โฆษณาจำพวกนี้ของกลุ่มที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ปรากฏให้เห็นมากกว่าของพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป

คำถามของเจฟเฟอร์ส ก็คือ พวกนี้ต้องควบคุมอย่างไร? กฎหมายเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ต้องเร่งปรับปรุงโดยด่วน

อามล ราชัน บรรณาธิการมีเดียของบีบีซีเวิร์ลด์นิวส์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้น่าสนใจมากว่า เอาเข้าจริงแล้ว ทาร์เก็ตเต็ด แอด ที่เคยเป็นปัญหามากมายในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 กลับไม่ได้ตอบโจทย์เลือกตั้งในอังกฤษเท่าใดนัก

และชี้ให้เห็นว่า พรรคที่ใช้เงินไปกับการโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลในเลือกตั้งหนนี้มากที่สุดคือ พรรคเสรีประชาธิปไตย (ลิบเด็ม) คือพรรคที่ได้ผลเลือกตั้งแย่ที่สุด

พรรคที่ได้ผลเลือกตั้งดีที่สุด คือพรรคอนุรักษนิยม กลับใช้เงินไปกับสื่อออนไลน์น้อยที่สุด (ทั้งๆ ที่ระดมทุนได้มากที่สุด)

เหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้ที่บีบีซีสรุปไว้ ก็น่าสนใจครับ

เขาบอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ปัจจัยที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงการลงคะแนน หรือการตัดสินใจของผู้มีสิทธิจริงๆ เกิดขึ้นในกลุ่มแชต กลุ่มย่อย ที่เป็นกลุ่มปิดในท้องถิ่นย่อยๆ ลงไปมากกว่าที่จะเกิดจากการโฆษณาใน
กลุ่มยูสเซอร์แบบเปิดกว้าง

“อินฟลูเอนเซอร์” ในกลุ่มแชต ทั้งที่ผ่านเฟซบุ๊ก หรือกลุ่มวอตส์แอพพ์ ในกลุ่มย่อยๆ ระดับพื้นที่หน่วยต่างหากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนความคิด ไม่ใช่โฆษณาหรือข้อมูลผ่านนิวส์ฟีดทั้งหลาย

ผู้มีสิทธิใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มแชตมากกว่ามากมายนัก

ที่สำคัญก็คือ กลุ่มใหญ่ที่เปิดกว้างอย่างเป็นทางการอย่างเช่น ในกรณีของทวิตเตอร์เต็มไปด้วยข้อมูลจำพวกล้อเลียน เฟค นิวส์ และข่าวบิดเบือนมากกว่าในกลุ่มแชตย่อยๆ

ข้อมูลผ่านกลุ่มทวิตเตอร์ที่จำเป็นต้องคัดแยก จำแนก และกลั่นกรอง จึงลดทอนอิทธิพลลงอย่างเห็นได้ชัด

ถึงขนาดพูดกันว่า “ทวิตเตอร์แพ้เลือกตั้ง” ในอังกฤษ กันเลยทีเดียว

ข้อสรุปที่ชวนคิดประการสุดท้ายก็คือ บีบีซีชี้ว่า “ไวรัล” ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งครั้งนี้เกือบทั้งหมดมาจาก “สื่อกระแสหลัก” หรือ “เทรดิชั่นแนล มีเดีย”

ดังนั้น อิทธิพลของสื่อหลักแต่เดิมก็ยังมีอยู่ในระดับที่น่าคิดเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image