มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่อาจจะเกินความจำเป็น : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.
ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลปัจจุบันได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายวิธีการ หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นิยมใช้ คือ ลดค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินเพื่อกระตุ้นการซื้อขายที่ดิน ตามกฎหมายในการโอนกำหนดให้เสียภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน ภาษีเข้าคลังแผ่นดิน ส่วนค่าธรรมเนียมเป็นรายได้เข้าคลังท้องถิ่น ได้แก่ กทม. เทศบาล และ อบต. ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอเสนอความคิดเห็นเชิงวิจารณ์การลดค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน เนื่องจากผลได้อาจจะไม่คุ้มค่ากับผลเสีย อาจจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกินความจำเป็น

2.
พร้อมกันนี้ขอแสดงข้อมูลและเหตุผลประกอบความคิดเห็น ดังต่อไปนี้
หนึ่ง การทำธุรกรรมที่ดินในสถานการณ์ปัจจุบัน (2562) สะท้อนในสถิติดังแสดงในตารางที่ 1 มูลค่าซื้อขายที่ดินในปัจจุบันประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี แต่สถิติในปี 2562 เฉพาะ 9 เดือน ณ สิ้นเดือนกันยายน หากคำนวณให้เป็น 12 เดือน มูลค่าซื้อขายที่ดินใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ข้ออ้างที่ว่าจำเป็นต้องกระตุ้นตลาดที่ดินจึงไม่สมจริง

 

Advertisement

สอง แต่ผลเสียที่จะเกิดขึ้น คือรายได้การคลังท้องถิ่น คือ กทม. เทศบาล และ อบต. จะลดลงอย่างมาก ประมาณคร่าวๆ ว่า 2 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลาลดค่าธรรมเนียมยาวนาน และอัตราใหม่ลดลงกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด อัตราค่าธรรมเนียมตามปกติร้อยละ 2% หากปรับลดเหลือร้อยละ 0.01 ยกตัวอย่าง สมมุติว่ามูลค่าซื้อขายที่ดิน 1 ล้านบาทต่อแปลง ค่าธรรมเนียมเดิม 20,000 บาท จะเหลือเพียง 100 บาทต่อแปลง

สาม ในการกำหนดมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียม รัฐบาลไม่ได้สอบถามความเห็นของผู้บริหารท้องถิ่นแต่ประการใด ทั้งๆ ที่รายได้จากค่าธรรมเนียมเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงข้ดต่อหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น สำหรับภาษี 4 ประเภทที่เป็นรายได้เข้าคลังแผ่นดิน คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-นิติบุคคล-ธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ยังคงอัตราเดิม หากรัฐบาลยืนยันจะกระตุ้นการซื้อขายที่ดิน รัฐบาลควรจะชดเชยรายได้ให้กับท้องถิ่นที่รับผลกระทบต่อบริการสาธารณะ ผลเสียในท้ายที่สุดคือประชาชนเพราะว่าบริการสาธารณะลดลง

สี่ ฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เรียกว่ากำไรแบบลาภลอย (windfall profit)

Advertisement

ห้า จริงอยู่ มาตรการลดค่าธรรมเนียมอาจจะเพิ่มปริมาณซื้อขายที่ดินในระยะสั้น แต่เป็นภาพลวงตา เพราะถ้ามองให้ยาวกว่านั้น ระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว ผลบวกเกิดขึ้นในช่วงแรก แต่ช่วงหลังผลทางลบ ตำราเศรษฐศาสตร์ใช้คำศัพท์เรียกว่า ผลทดแทนระหว่างปัจจุบันกับอนาคต (temporal substitution) ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันอดีตมาตรการลดภาษีรถยนต์คันแรกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

3.
ขอนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาแสดงเป็นรูปกราฟ แสดงมูลค่าซื้อขายที่ดินตั้งแต่ 2554-ล่าสุด อยู่ภายใต้การบริหารของ 3 รัฐบาล (อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ และ พล.อ.ประยุทธ์) น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าที่ดินในรัฐบาลนี้ไม่พุ่งแรงเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รัฐบาลจัดสรรรายจ่ายลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่ามหาศาลดูเหมือนว่าตัวทวีคูณไม่ทำงาน
รูปภาพที่ 1 มูลค่าซื้อขายที่ดินทั่วประเทศ เป็นตัวเลขรายเดือนมูลค่าพันล้านบาท

4.
การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามหลักวิชาควรจะเลือกมาตรการที่ช่วยการจ้างงาน กระจายเงินให้ถึงมือแรงงานและประชาชนในวงกว้าง รายได้จะถูกนำไปใช้จ่ายบริโภคหรือลงทุนทำให้เกิดตัวทวีคูณ (multiplier effect) เราควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้และผลเสียอย่างรอบคอบ มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่ดินส่งผลเสียหายต่อคลังท้องถิ่นและประชาชนอย่างแน่นอน

การค้นข้อมูลเชิงประจักษ์มาประกอบ เจตนาก็ให้รับรู้ในวงกว้าง หากคนทำงานท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนหลายแสนคนเห็นด้วย รวมตัวกับแสดงความเห็น สภานิติบัญญัตินำไปเป็นวาระการอภิปราย ประชาชนจะได้รับฟังข้อมูลและการวิเคราะห์มุมมองใหม่ๆ อย่างกว้างขวางเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image