อุบัติการณ์แห่งพลัง บน ‘สกายวอล์ก’ : โดย กล้า สมุทวณิช

ทุกฝ่ายไม่ว่าจะชื่นชมหรือเชียร์แช่ง คงต้องยอมรับตามข้อเท็จจริงว่าการชุมนุมแบบ Flash mob เมื่อเย็นถึงค่ำระหว่าง 17.00-18.00 นาฬิกา ของวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2562 นั้น ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุด นับจากวันที่ คสช.สิ้นสุดอำนาจ “อย่างเป็นทางการ” ลงไป

การชุมนุมในครั้งนี้มีลูกเล่นลูกหยอกทางภาษาหลายเรื่อง นับตั้งแต่การย้อนกลับวาทกรรมเรื่องการ “ลงถนน” ที่หมายถึงการลงมาชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน หากในวันเสาร์ที่แล้วไม่มีการ “ลงถนน” เพราะใช้พื้นที่บนทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างอาคารศูนย์การค้าในละแวกนั้นกับสถานีรถไฟฟ้า ที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า “สกายวอล์ก” (Skywalk) ซึ่งก็กลายเป็นอีกลูกหยอดหนึ่งที่ส่งไปถึงภาพยนตร์ชุดสตาร์วอร์ส ซึ่งจะเข้าฉายในวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2562 นี้ ที่จะเป็นตอนที่ 9 ของมหากาพย์เรื่องยาวที่กินเวลายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งมีชื่อตอนว่า The Rise of Skywalker – กำเนิดใหม่สกายวอล์กเกอร์

การลุกฮือของผู้คนบนสกายวอล์ก ก็จึงเป็นเหมือนกับคำแปลแบบเล่นคำของ The Rise of Skywalker ด้วยประการฉะนี้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ออกมาติเตียนตามประสาด้วยการตั้งคำถามว่า “…สมควรหรือไม่ มันเป็นปัญหาส่วนตัวของใครหรือเปล่า มันเป็นปัญหาของคนอื่นด้วยหรือเปล่า…”

Advertisement

จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะนับด้วยสูตรไหนตำราใด คงตอบได้แล้วว่า ต่อให้ตัดตัวคุณธนาธร และผู้เข้าร่วมที่เป็น ส.ส. หรือสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ออกไปแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกหลายพันที่อย่างน้อยเขาคงเห็นว่านี่คือปัญหาของพวกเขา

ดังเช่นที่ใครคนหนึ่งแสดงความเห็นไว้ชัดเจนตีแสกหน้าว่า “ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ไปจะรักธนาธร แต่เขาเกลียดพวกคุณนั่นแหละ”

พวกคุณที่ว่า ไม่ใช่เพียงตัวประยุทธ์ รวมไปถึงคณะพรรคร่วมรัฐบาลที่อุ้มสมและบรรดาผู้คนในองค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ แต่หมายถึงระบบระบอบใดๆ ก็ตามที่กำลังบิดเบี้ยวบิดเบือน เพื่อการรักษาอำนาจของผู้คนเหล่านั้น และที่สำคัญที่สุด คือการทำลายกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายและกติกาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่อาจจะต้องขอยืนยันด้วยประโยคนี้อีกครั้งว่า

Advertisement

ถ้าใครคิดว่าเรื่องนี้เป็นกลไกตามกฎหมายหรือกระบวนการปกติ ถ้าคุณไม่โง่จนเกินไป ก็คงจะเป็นตัวอะไรสักตัวหนึ่งที่ชื่อไม่ค่อยเป็นมงคลนัก

การเลือกปฏิบัติตามกฎหมายนานาประการ ที่แม้ข้อเท็จจริงจะยุติไปแล้วว่าน่าจะมีการละเมิดกฎหมาย แต่ก็หาช่องว่างช่องเว้ามาให้รอดเร้นจากการเอาผิดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการรุกที่ ส.ป.ก. ที่เกิดจะมีข้อสงสัยร้อยพันจนต้องให้ที่ปรึกษากฎหมาย “ของรัฐบาล” อย่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้รอบคอบว่าจะเอาผิดได้หรือไม่ หรือแม้แต่ที่ผู้ต้องหมายจับจากศาลฎีกาอันเป็นศาลสูงสุดประกาศออกทนโท่ แต่ก็สามารถเข้าร่วมประชุมสภา แสดงตนและลงมติได้อย่างสง่าผ่าเผยภายใต้ข้ออ้างว่าเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจสภานั้น “ยังไม่เห็นหมายจับ”

ก็ได้แต่กลอกตาว่า ระบบหมายจับออนไลน์ที่ตะครุบคนได้คาเคาน์เตอร์เช็กอินตามสนามบินนี่มันไม่มีอยู่จริงหรือไร

กระบวนการทางรัฐสภาที่เป็นการใช้อำนาจทางอ้อมของประชาชนผ่านผู้แทนของพวกเขา ที่อาศัยการลงมติออกกฎหมายหรือตัดสินใจกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยเสียงข้างมาก ก็กลับกลายเป็นว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลโหวตแพ้ ก็จะตั้งแง่ตั้งงัดจัดให้มีการโหวตใหม่ก็ได้ เพื่อที่จะได้เอากล้วยไปแจกลิง และเปิดกรงงูเห่าให้แสดงตนได้หน้าสลอน

การใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างสิ้นเปลืองถี่ยิบขนาดนี้ ก็เท่ากับวางตุ้มถ่วงวัดความอดทนของประชาชนลงไปครั้งละก้อนสองก้อนติดต่อกัน

ใครคนหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊กระบายความในใจว่า ไม่กล้าที่จะส่งต่อประเทศและระบบสองมาตรฐานแบบนี้ให้ลูกๆ ที่กำลังจะเติบโตมา โลกที่ลูกของเขาจะคาดเดาไม่ได้เลยว่ากฎหมายจะเข้มงวดกับใครแต่ปวกเปียกเปาะแปะให้ฝ่ายไหน

การฉ้อฉลด้วยกลไกแห่งกฎหมายและกติกานั้นเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ปรับใจยอมได้ยาก เพราะเหตุผู้คนในสังคมยอมรับปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐานก็เพราะกฎหมายนั้นเป็นกฎเกณฑ์นามธรรมที่แยกจากตัวมนุษย์ซึ่งมีผลประโยชน์และมาตรฐานทางศีลธรรมจริยธรรมที่แตกต่างหลากหลาย โดยเราเชื่อว่ากฎหมายคือกลไกที่เอาไว้เหนี่ยวรั้งสังคมให้ยังเป็นอารยะอยู่ภายใต้กฎและกติกาเดียวกันซึ่งประกาศล่วงหน้าให้เรารู้แล้วว่าการกระทำใดจะเกิดผลใดตามกฎหมาย การที่เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายก็ด้วยเชื่อมั่นว่ากฎหมายนั้นจะคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมอย่างเสมอหน้า เมื่อกฎหมายห้ามเราไปละเมิดต่อผู้อื่น เช่นกันนั้นกฎหมายก็จะห้ามคนอื่นมาละเมิดต่อเราด้วย

แต่ความเชื่อถือในระบบกฎหมายนั้นก็สั่นคลอนได้เมื่อมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งสามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขี่กดขู่ผู้คนให้ยอมจำนน เอารัดเอาเปรียบด้วยกลไกแห่งการบังคับใช้และตีความกฎหมายอย่างที่แม้ไม่ได้ร่ำได้เรียนมาก็รู้ได้ว่าผิดปกติ เพราะการตีความกฎหมายนั้นเกิดผลประหลาดไปหมดในทุกทาง

แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีการชุมนุมมาบ้างของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกซึ่งความไม่ยอมรับในบทบาทของบรรดาองค์กรอิสระในหลายต่อหลายครั้ง แต่ถ้ายอมรับกันตรงๆ ก็คือการชุมนุมก่อนหน้านั้นไม่อาจเรียกร้องผู้เข้าร่วมที่หลากหลายได้นอกจากคอการเมือง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ผู้คนยังเชื่ออยู่ว่าจะช้าจะเร็วก็จะต้องมีการเลือกตั้ง และพวกเขาก็ได้แสดงพลังความไม่พอใจผ่านการกากบาทบนบัตรเลือกตั้งไปแล้ว แม้ขั้นตอนในภายหลังจะคลุมเครือไม่น่าเชื่อ มีทั้งบัตรเขย่งและ ส.ส. ปัดเศษ แต่มันก็อาจจะพอยอมรับได้ว่าอย่างเลวเราก็ยังมี ส.ส. “ฝ่ายค้าน” ที่ไปทำหน้าที่อย่างแข็งขันในสภา เข้าไปตรวจสอบคัดง้างเรื่องที่ไม่มีใครเคยพูดถึงหรือตั้งคำถาม โดยเฉพาะฝ่ายค้านเหล่านั้นคือพรรคอนาคตใหม่

แต่เมื่อเรื่องมันมาถึงว่า แม้แต่ผู้แทนของพวกเขาก็กำลังจะถูกริบและรอนไป ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายแบบดูหน้าคนและกลไกรัฐสภาแบบตามใจท่าน มันก็ทำให้คนส่วนใหญ่หมดความอดทนมาพร้อมกัน

ดังนั้น การส่งสัญญาณของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่จึงได้รับการตอบรับกลับมาอย่างล้นหลามตามที่เห็น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งได้มาจากการพิจารณาคร่าวๆ เกี่ยวกับกลุ่มคนบนสกายวอล์กเมื่อค่ำวันเสาร์ ที่น่าจะเป็นนัยสำคัญนอกเหนือจากจำนวนคน ก็คือ “ความหลากหลายของคน”

เพราะถ้าใครเคยเข้าร่วมหรือเฉียดกรายกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยมีก่อนหน้านี้ ทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการชุมนุมของ กปปส. ก็คงจะยอมรับว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมของแต่ละกลุ่มจะมีภาพลักษณ์หรือคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป

แต่สำหรับผู้คนบนสกายวอล์กเมื่อวานนี้ คล้ายกับเป็นการผสมผสานกันของผู้คนจากแต่ละคาแร็กเตอร์ที่เคยเห็นในแต่ละการชุมนุม ซึ่งมีตั้งแต่ลุงป้าน้าอาที่ดูมีอายุและผ่านการชุมนุมมาหลายครั้ง แสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนรุนแรงว่าอยู่ฝ่ายไหนและกำลังด่าฝ่ายไหนแบบไม่ออม คนทำงานอิสระ ศิลปิน นักเขียน นักวิชาการ เรียกว่างานนี้เดินสวนกับคนดังๆ ที่เราเห็นหน้าค่าตากันผ่านหน้าจอกันแบบใกล้ชิด รวมถึงคนหนุ่มสาวกลุ่มที่ดูเป็นคนทำงานพนักงานทั่วไปทุกระดับและทุกช่วงอายุ

และที่เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหม่ คือเด็กเยาวชนนักเรียนนักศึกษา (ที่บางส่วนมากันในเครื่องแบบเพราะเพิ่งเสร็จธุระจากการเรียนการศึกษา) คนกลุ่มที่อายุตั้งแต่ 16-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งได้เลือกตั้งครั้งแรกในปีนี้ หรือรอเลือกตั้งในคราวหน้า และคนกลุ่มนี้เองที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคอนาคตใหม่

ซึ่งเป็นคนกลุ่มนี้เองที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นนักต่อสู้หน้าจอผ่านแฮชแท็ก (#) (ที่แม้แต่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันยังหมิ่นหยาม) เป็นพวกลูกหลานคนชั้นกลางที่ได้รับความสบายจนเชื่องเชื่อ คงจะไม่ออกมาทำอะไรเสี่ยงต่อความเป็นอยู่อันสนุกลุกนั่งสบายของพวกเขากันสักเท่าไรหรอก

แต่คนกลุ่มนี้ก็มาแสดงตัวกันแบบกะประมาณด้วยสายตาได้ราวๆ ร้อยละ 30-35 ของผู้คนที่มาชุมนุมกันที่สกายวอล์ก ฉีกทิ้งทุกทฤษฎีและคำสบประมาท

และภาพหนึ่งที่หลายคนได้เห็นและถ่ายรูปมาได้ คือรถยนต์ที่แล่นอยู่บนถนนใต้ทางเดินลอยฟ้านั้น บ้างก็มีที่เปิดหน้าต่างหรือหลังคาซันรูฟออกมาชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ร่วมสมัยที่แสดงถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ และเป็นสัญลักษณ์เดียวกับที่ ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน แสดงออกมาเพื่อ “ส่ง” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากสภาเป็นการชั่วคราวตามคำสั่งศาลในวันแรกเปิดสภา หรือบางคนก็โบกเสื้อสีส้มอันเป็นสีประจำของพรรคอนาคตใหม่

ภาพนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่บนสกายวอล์กเท่านั้นที่ร่วมแสดงออกถึงการจะไม่อดทนต่อความอยุติธรรมและความบิดเบี้ยวของสังคมอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าจะติดภารกิจหรือไม่มีโอกาสเข้าร่วมด้วย แต่พวกเขาก็แสดงความจำนงประสงค์จะให้ “นับรวม” พวกเขาเข้าไป ผ่านการแสดงสัญลักษณ์เช่นว่านี้

ความน่ากลัวของเรื่องนี้คือสัญญาณการสลายสีเสื้อของผู้คนเพื่อมุ่งตรงไปยังประเด็นประเด็นเดียว คือการไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ และใช้อำนาจนั้นอย่างย่ามใจของรัฐบาลที่แปรรูปมาจากคณะรัฐประหารก่อนหน้า

ประกอบกับรูปแบบการชุมนุมที่จัดขึ้นกลางเมืองซึ่งเดินทางมาง่ายดาย (แต่ก็ยากขึ้นเพราะรถไฟฟ้าบังเอิญจะมาเสียเอาตั้งแต่บ่ายถึงเย็นแบบพอดิบพอดี) และเป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ กระทบสิทธิหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนในละแวกนั้นน้อยที่สุด สั้นที่สุด

เชื่อว่าฝ่ายไหนก็ไม่มีประสบการณ์กับการชุมนุมในรูปแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเรา และก็ไม่รู้เช่นกันว่าในการ “เตรียมลงถนน” ในครั้งหน้าของธนาธรนั้นจะออกมาในรูปแบบไหน ที่ไหน อย่างไร และการชุมนุมแสดงพลังในครั้งแรกนี้จะจุดติดส่งกำลังไฟต่อเนื่องไปถึงการลงถนนจริงได้หรือไม่

ดังนี้ แม้การชุมนุมเมื่อเย็นค่ำวันเสาร์ไปจะพ้องคล้ายกับชื่อภาพยนตร์สตาร์วอร์ส ตอนที่ 9 The Rise of Skywalker ก็ตาม

แต่ถ้าพิจารณากันดีๆ แล้ว ชื่อของภาพยนตร์ตอนที่ 7 อาจจะอธิบายได้ดีกว่า ภาพยนตร์ตอนดังกล่าวมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “The Force Awakens” หรือชื่อไทยว่า “อุบัติการณ์แห่งพลัง”

สุดท้ายนี้ – ขอพลังจงสถิตอยู่กับท่าน May the Force be with you.

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image