จนไม่จริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

จนไม่จริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

จนไม่จริง : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กระทรวงการคลังเตรียมเปิดรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิได้รับบัตรคนจนรอบใหม่ต้นปี 2563 หลังจากที่แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้วเมื่อปี 2560 รวม 14.6 ล้านใบ

นั่นหมายความว่าจากจำนวนประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน มีผู้มีรายได้ไม่ถึงปีละ 1 แสนบาท หรือเดือนละ 8,333 บาท มากถึง 14.6 ล้านคน คิดเป็น 20.85%

ถ้าตัดประชากรที่เป็นเด็ก ผู้ที่ยังไม่มีรายได้ออกไป จำนวน % คนจนยิ่งสูงขึ้น

Advertisement

ตัวเลขคนจนดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมาตลอดว่า สูงเกินความเป็นจริง หรือไม่ เพราะมีคนจนไม่จริง หรือคนอยากจน ส่วนหนึ่ง รวมอยู่ในนั้นด้วย

เหตุนี้เองการเปิดรับลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ จึงกำหนดมาตรการติดตามโดยให้ผู้ที่มีบัตรรอบที่แล้วมาแสดงตนผ่านเว็บไซต์ เพื่อตรวจสอบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจนเกินข้อกำหนดหรือไม่ ซึ่งก็จะหมดสิทธิสวัสดิการนี้

นอกจากนี้ ให้นำรายได้ของทั้งครัวเรือน การมีรถยนต์ และบัตรเครดิต มาพิจารณาร่วมด้วย เพราะผู้มีบัตรเครดิตได้ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน

Advertisement

การนำทั้งสามปัจจัย ดังกล่าวมาพิจารณา จะส่งผลให้จำนวนคนจนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐลดลงหรือเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

เพราะโดยหลักการที่ถูกต้อง หากภาครัฐดำเนินนโยบายได้ผล มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้จริง จำนวนคนจน สมควรที่จะลดลงตามลำดับ

ไม่ใช่ยิ่งจดทะเบียนจำนวนคนจนยิ่งเพิ่มมาก ซึ่งสะท้อนว่า การดำเนินงานไร้ประสิทธิภาพ เกิดจุดบกพร่อง หรือมีนโยบายแอบแฝงเกิดขึ้น

ว่าไปแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ควรนำมาติดตามร่วมด้วยอีกมาก เป็นต้นว่า บัญชีธนาคาร การใช้โทรศัพท์มือถือ การถือครองทรัพย์สิน อาทิ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ของผู้ถืบัตรและของครอบครัว รายจ่ายอื่นๆ ที่ต้องมีการแจ้งเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก ซึ่งภาครัฐประชาสัมพันธ์มาตลอดว่า E-Government สามารถเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ถึงกันได้หมด

อย่างไรก็ตาม การติดตามตรวจสอบข้อมูล ที่ผ่านมามักมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ ว่า ไม่เป็นธรรมกับคนจน คนรายได้น้อย ไม่ควรจ้องรีดเลือดกับปู ไล่เบี้ยแต่คนจนที่ไม่มีอันจะกินอยู่แล้วและไม่มีกำลังต่อรองอะไรกับภาครัฐ แทนที่จะไปจ้องเล่นงานกับเศรษฐี คนมีเหลือกินเหลือใช้ทั้งหลายมากกว่า เป็นเสียงสะท้อนที่ควรรับฟังอย่างน่าเห็นอกเเห็นใจ

แต่มองอีกด้านไม่ใช่การเข้มงวดกวดขันเอากับคนจน แต่เป็นการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นหลัก ว่าใช้จ่ายเงินจากภาษีอากรของส่วนรวมไปในจุดที่ควรจะได้รับ คือ คนจนจริง จริงหรือไม่

ที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคการเมืองดำเนินนโยบายประชานิยม ลดแลกแจกแถม สะบั้นหั่นแหลก ใช้คนจนเป็นเครื่องมือหาเสียง เพิ่มคะแนนนิยมในการเลือกตั้งให้กับตัวเอง พรรคหรือกลุ่มการเมืองที่สังกัด จนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม

การออกนโยบาย แจกบัตรคนจนรอบใหม่แต่ละครั้ง จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการติดตามตรวจสอบ กวดขันรัดกุมขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้สมบัติสาธารณะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง นั่นเอง

ขณะเดียวกันทำให้คนจน ผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ได้รับสวัสดิการ มีความสะดวกในการดำเนินชีวิต และพยายามเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้กับตนเองและครอบครัวให้มากขึ้น

สวัสดิการแห่งรัฐ ถ้าดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมจริง เป็นมาตรการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างคนมี กับคนไม่มีก็ตาม

แต่หากความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมือง ไม่สามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ คู่ขนานกันได้ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะเป็นเพียง ยาแก้ไข บรรเทาอาการให้ลดลงได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

เพราะความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบทางการเมือง เป็นพื้นฐาน ปัจจัยสำคัญ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ ตามมา

หากการเมืองไม่เป็นธรรม กฎ กติกา มีปัญหา เปิดช่องให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งดำรงอยู่นานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้แนวโน้มความรุนแรงมาถึงเร็วขึ้นเท่านั้น

ครับ ผมไม่ได้หมายถึง กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ที่จะมีขึ้นวันที่ 12 มกราคม 2563 แต่หมาถึงการตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เพิ่งผ่านการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวานนี้

ยิ่งยื้อเวลาออกไปมากเท่าไหร่ ไม่จริงใจและจริงจัง ไม่เข้าถึงตัวบทกันเสียที คนถือบัตรคนจน จะลงมาร่วมเวที การเมืองบนท้องถนนมากขึ้น หรือ ปฏิเสธ ไม่ขอร่วมด้วย

เหตุนี้เอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ กับ ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง จึงต้องไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image