ภาษีคาร์บอนช่วยลดระดับ ปัญหาควันพิษได้หรือไม่ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์

หลายคนอาจพอได้ทราบข่าวมาบ้างแล้วว่าจะมีการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์อัตราใหม่ โดยมีการคิดตามระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่รถจักรยานยนต์ปล่อยออกมาแทนการจัดเก็บตามขนาดกระบอกสูบ และจะเริ่มบังคับใช้ในวันขึ้นปีใหม่ที่จะมาถึง คือ 1 ม.ค.2563 ภาษีคาร์บอนนี้ไม่ใช่เป็นการเสนอใช้ประเภทภาษีใหม่ เพียงแต่เป็นการขยายการเก็บภาษีคาร์บอน จากเดิมที่จัดเก็บกับรถยนต์เท่านั้น

การเปลี่ยนโครงสร้างอัตราภาษีใหม่นี้เปลี่ยนการจัดเก็บภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากที่เคยเป็นภาษีที่เก็บเพราะรถยนต์และรถจักรยานยนต์ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย กลายมาเป็นภาษีที่จัดเก็บเพราะสิ่งเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างปัญหามลภาวะจากภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม

การเก็บภาษีรถยนต์และรถจักรยานยนต์เดิมเป็นการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยประเภทหนึ่ง ซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ โดยทั่วไปภาษีสรรพสามิตมีการจัดเก็บ ณ โรงงานหรือ จุดนำเข้า นั่นก็คือเก็บจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ดังนั้นจึงมีการจัดเก็บเพียงครั้งเดียว โดยการเก็บดั้งเดิมส่วนใหญ่เก็บจากมูลค่าของสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งก็สอดคล้องกับคำว่า “สินค้าฟุ่มเฟือย” ซึ่งมีนิยาม คือสินค้าที่มีราคาเกินกว่าความจำเป็นต้องใช้ในการอุปโภคบริโภค

ต่อมาสินค้าฟุ่มเฟือยถูกเก็บภาษีตามปริมาณหรือขนาดมากขึ้น เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันที่เกิดจากการเก็บภาษี เพราะแน่นอนว่าของผลิตนอกประเทศ แม้เครื่องยนต์ขนาดเท่ากัน คุณภาพเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ย่อมแพงกว่าของที่ผลิตในประเทศ

Advertisement

สำหรับภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่นี้ เป็นการเปลี่ยนจากการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์เดิมที่เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยตามขนาดเครื่องยนต์หรือกระบอกสูบ ซึ่งก็มักจะมีความสัมพันธ์กับราคา มาเป็นการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

ไม่ว่าจะภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยหรือภาษีสิ่งแวดล้อมต่างก็จัดเป็นประเภทของภาษีสรรพสามิต จึงยังคงเป็นการเก็บภาษีหน้าโรงงานหรือ ณ จุดนำเข้า และจึงมีผลบังคับใช้กับการซื้อรถคันใหม่ แต่ไม่ได้เป็นการจัดการปัญหามลพิษที่ถูกปล่อยจากรถที่วิ่งอยู่แล้วบนท้องถนน ตราบใดที่ยังไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกหรือฝุ่นควัน

อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีคาร์บอนทั้งกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ซื้อใหม่ ทำให้ต้นทุนในการใช้รถส่วนตัมีเพิ่มขึ้น และหากผู้ผลิตมีการปรับตัวพัฒนาระบบเครื่องยนต์ให้มีการปล่อยก๊าซลดลงก็อาจทำให้การปล่อยฝุ่นควันบนท้องถนนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ซึ่งก็คงดีกว่าไม่ทำอะไรเลยและปล่อยให้มีการปล่อยก๊าซพิษในอัตราเร่งเดิม

Advertisement

อัตราภาษีใหม่

ภาษีใหม่ที่จะเริ่มเก็บตั้งแต่วันที่1 ม.ค.2563 แบ่งการจัดเก็บตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา สำหรับรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันและแบบไฮบริดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร และรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะถูกเก็บภาษีต่ำสุด คือ 1% ของราคาขายปลีกหน้าโรงงาน หรือราคานำเข้า สำหรับรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 10 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร จะถูกคิดภาษี 3% ถ้าปล่อยเกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 90 กรัมต่อกิโลเมตร คิดภาษี 5% สำหรับรถที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 90 กรัมต่อกิโลเมตร แต่ไม่เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตร จะคิดภาษี 9% สำหรับรถที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 130 กรัมต่อกิโลเมตร จะคิดภาษีสูงสุดที่ 18%

นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ มีการคิดอัตราภาษีที่สูงกว่าคือร้อยละ 20

ซึ่งความจริงแล้วก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซที่เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดภาวะฝุ่นควันปกคลุม (หรือที่เรียกว่า smog) ไม่ใช่มีเพียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถจักรยานยนต์มีการปล่อยออกมาน้อยกว่ารถยนต์ แต่ยังมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งรถจักรยานยนต์มีอัตราการปล่อยก๊าซเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ดังนั้นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับยานพาหนะควรจะครอบคลุมการปล่อยกลุ่มก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด มิใช่เพียงแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

และการจะจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่มีความยุติธรรม โปร่งใส ควรต้องมีกระบวนการวัดที่ชัดเจนหรืออย่างน้อยมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (หรือเรียกสั้นๆ ว่า carbon footprint) ของรถทุกรุ่นจากหน่วยงานกลาง ไม่ใช่เป็นการให้ข้อมูลจากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า

ภาษีคาร์บอนในต่างประเทศ

ในต่างประเทศ มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมานานมากแล้ว โดยธนาคารโลกและหน่วยงานชื่อ Ecofys รายงานในปี 2558 ว่ามีทั้งสิ้น 39 ประเทศและอีก 23 รัฐที่มีการใช้ภาษีคาร์บอนและอนุญาตให้มีการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่เพียงแต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่รวมก๊าซชนิดอื่น)

ประเทศแรกๆ ที่ใช้ภาษีคาร์บอน คือ ประเทศฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์ ที่มีการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี 2533 โดยเป็นส่วนหนึ่งในภาษีเชื้อเพลิง กล่าวคือ การเก็บภาษีเชื้อเพลิงนั้นมีส่วนที่เรียกเก็บตามประเภทพลังงานและภาษีคาร์บอนที่มีการปล่อยจากเชื้อเพลิงประเภทนั้นๆ จากเดิมที่เก็บภาษีจากผู้ผลิตพลังงานเปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บจากผู้ใช้พลังงาน

ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้มีการลดระดับการอุปโภคบริโภคที่สร้างคาร์บอนในเนเธอร์แลนด์กำหนดให้รายรับภาษีส่วนนี้ถูกเอามาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ในสหราชอาณาจักร เก็บภาษีคาร์บอนนี้จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การค้าและหน่วยราชการ มาตั้งแต่ปี 2544 โดยคิดในอัตราภาษีต่ำสุด 0.07 เพนซ์ต่อ 1 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง (kWh) สำหรับการอุปโภคบริโภคที่ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (หรือที่เรียกว่า LPG) 0.15 เพนซ์ต่อ 1 kWh สำหรับการอุปโภคบริโภคที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ 0.44 เพนซ์ต่อ kWh สำหรับการบริโภคที่ใช้ไฟฟ้า และจัดเก็บภาษี 0.12 เพนซ์ต่อ kWh หากใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ โดยรายรับที่ได้จากการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของงบกองทุนประกันสุขภาพ งบสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์พลังงาน โดยไม่ถูกนำส่งเข้ารัฐหรือจัดเป็นรายได้ของรัฐ

จะเห็นได้ว่านอกจากประเทศเหล่านี้จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนที่ครอบคลุมการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าประเทศไทยที่มีการเลือกจัดเก็บจากรถจักรยานยนต์เท่านั้นแล้ว ยังมีแผนการใช้เงินที่ได้จากการเก็บภาษีคาร์บอน ส่วนนี้หมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบเศรษฐกิจโดยไม่เก็บเข้าเป็นรายได้ของรัฐ ทำให้เกิดการใช้เงินภาษีสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมกับกระตุ้นให้มีการพัฒนาพลังงานสะอาด และใช้ไปเพื่อประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น

ภาษีสิ่งแวดล้อมที่จัดเก็บได้ควรใช้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมิใช่เพื่อกระตุ้นการบริโภคที่ก่อให้มลภาวะขึ้นใหม่

เมื่อครั้งกรมสรรพสามิตออกมาประกาศว่าจะมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ได้ประมาณตัวเลขไว้ว่าการจัดเก็บอัตราภาษีใหม่นี้จะทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปี 500-700 ล้านบาท

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เงินภาษีคาร์บอนที่จัดเก็บนี้จะเอาไปทำอะไร เพราะการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมที่ดี ควรเป็นการจัดเก็บที่กระตุ้นให้มีการลดการอุปโภคบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันเม็ดเงินดังกล่าวควรถูกนำมาใช้เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ลดมลพิษ รักษาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มากกว่าจะเก็บเข้าเป็นเงินคงคลังหรือรายได้รัฐเพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นการบริโภคที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ มลภาวะเพิ่มขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image