เศรษฐกิจจังหวัด และบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์, สมบัติ เหสกุล, พิชิต รัชตพิบุลภพ

รูปภาพที่ 1 สะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “อุบัติเหตุจราจร” accident 2 อุบัติเหตุจราจร

1.รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต พร้อมกับมอบนโยบายให้จังหวัดเร่งรัดการเจริญเติบโตของจังหวัด เพื่อร่ำรวยและรัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจเติบโต–อาจจะส่งผลกระทบอันไม่พึงปรารถนา ตัวอย่างเช่น สภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม อุบัติเหตุจราจร และปัญหาสุขภาพ ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำภาระด้านบริการการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัด

2.เรื่องราวที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังมาจากผลงานวิจัย ซึ่งประมวลข้อมูลจากสามแหล่งด้วยกัน คือ ฐานข้อมูลบริการการแพทย์ฉุกเฉินในปี 2561 เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ สะท้อนปฏิบัติการของหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศ บันทึกผู้รับบริการทุกรายจำนวนกว่า 1.6 ล้านราย จำแนกเป็นรายจังหวัด ตัวเลขนี้อาจจะไม่ครบถ้วน 100% แต่เชื่อได้ว่าเกินกว่า 90% แหล่งที่สองคือบัญชีประชาชาติ โดยสภาพัฒน์ จัดทำบัญชีเศรษฐกิจจังหวัดซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปี สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด แหล่งที่สามคือสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจดทะเบียนสถานประกอบการและแรงงานที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ มากกว่า 12 ล้านคน และเช่นเดียวกันสามารถแจกแจงเป็นรายจังหวัด

สามเรื่องนี้สัมพันธ์กันอย่างไร? ขอแสดงด้วยรูปกราฟ แกนนอนหมายถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP per capita) สำหรับแกนตั้ง ตัวแรกคือ I1 สัดส่วนของอุบัติเหตุจราจรต่อจำนวนราย (ems case) ตัวที่สอง I2 บริการแพทย์ที่เจ็บป่วยแบบวิกฤต (สีแดง) จะขอเรียกสองตัวแปรสั้นๆ ว่า “อุบัติเหตุ” และ “สีแดง”

Advertisement

แต่ละจุดในรูปภาพ หมายถึง จังหวัด 76 หน่วย (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) สะท้อนว่า ภาระของหน่วยกู้ชีพและบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม GPP per capita ยิ่งร่ำรวย-ภาระการบริการการแพทย์ยิ่งเพิ่มขึ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

3.สาเหตุที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่เพราะว่า GPP per capita สูง “ผู้วิจัยจึงสืบค้นข้อมูลต่อไปโดยวัดจำนวนสถานประกอบการและการจ้างงานในแต่ละจังหวัด (เปรียบเทียบกับประชากรพันคน) แสดงในรูปภาพข้างล่าง คือ ปฏิสัมพันธ์ทางบวกระหว่างสถานประกอบการและการจ้างงาน กับ GPP per capita หมายถึงจังหวัดรวย ย่อมมีสถานประกอบการและการจ้างงานอย่างเป็นทางการ (ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม) สูง จากสถิติสถานประกอบการต่อประชากรพันคน ค่าเฉลี่ย 6 แห่ง แต่ในจังหวัดรวย” สถิติตัวนี้กลายเป็น 20-30 แห่งสูงกว่ากัน 4-5 เท่าตัว ในจังหวัดร่ำรวยย่อมมีแรงงานอพยพไปพำนักอาศัย มีธุรกิจหอพัก บ้านเช่า ร้านค้าย่อย บริการนวด ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสุรายาสูบ ฯลฯ รถสิบล้อขนวัตถุดิบไปยังโรงงาน นำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกไปจัดจำหน่ายหรือส่งออก การจราจรหนาแน่น สี่แยกไฟแดง เป็นต้น ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเพราะขาดวินัยจราจรการละเมิดกฎหมายย่อมจะสูงตามไปด้วย เมื่อนำข้อมูลสามชุดมาประกบกันถึงบางอ้อได้สัจธรรมว่า จังหวัดที่เจริญ-ฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งโอกาสเกิดอุบัติเหตุจราจรและการเจ็บป่วยฉุกเฉินสูง สาเหตุที่แท้จริงก็คือคน-ปริมาณการขนส่งคมนาคม-วิถีชีวิตเร่งรีบของคนเมือง-ความเสี่ยงของการขาดวินัยและละเมิดต่อกฎหมายจราจร

4.ระบบบริการการแพทย์ของไทยเราเริ่มอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2551 ไม่ยาวนานแต่ถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่าชื่นชม โดยความร่วมมือระหว่างรัฐ-ท้องถิ่น-ประชาคม มีการลงทุนในรถกู้ชีพจำนวนกว่า 2 หมื่นคันทั่วประเทศ นำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ประสบอุบัติเหตุฟรี ทำให้ประชาชนรู้สึกอบอุ่นใจ นี้เป็นการมองภาพใหญ่ แต่ว่าถ้าใช้แว่นขยายแบบวิเคราะห์เจาะลึก จะเห็นปัญหาและความท้าทายในแง่การบริหารจัดการ อย่างน้อย 5 ประเด็น หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำมิติพื้นที่ หมายถึงระบบบริการแต่ละจังหวัดแตกต่างกันชัดเจน สอง ความ (ไม่) พอเพียงของรถกู้ชีพและบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นระบบจัดการแบบหลวมๆ (ภายใต้การกำกับของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน) หมายถึง มูลนิธิ เทศบาล อบต. อาจจะเข้าร่วมให้บริการ ไม่เข้าร่วมก็ได้ ไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ หรือทำแล้วไม่พอใจเลิกราไปก็ไม่ได้ติดระบบเบรก สาม งบประมาณรัฐบาลที่อุดหนุนให้รถกู้ชีพ ต่ำกว่าต้นทุนหรือความเป็นจริงซึ่งรัฐบาลควรจะทบทวน เพราะว่าอัตราที่จ่ายชดเชยให้รถกู้ชีพไม่ได้ปรับมาเลยกว่าสิบปีมาแล้ว ห้า ประสิทธิผลของการให้บริการภายใน 8 นาที (รถกู้ชีพควรถึงตัวผู้ประสบเหตุ คำศัพท์ทางการคือ response time) บรรลุผลประมาณ 75% อีก 25% เวลาที่ใช้เกินกว่าเกณฑ์ ซึ่งก็แตกต่างกันระหว่างจังหวัด

Advertisement

สรุปคือมีเรื่องราวที่ควรจะค้นคว้าวิจัยเพื่อยกประสิทธิภาพของการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS = emergency medical services) อีกหลายมิติ ซึ่งจะขอนำมารายงานในโอกาสหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image