งานกระบวนการกับการสร้างความรู้ : มองผ่านเส้นทางการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรม : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

การพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเป็นประเด็นงานที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เนื่องจากงานส่งเสริมคุณธรรมเป็นงานที่เน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

และด้วยจุดยืนในการทำงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมที่ผ่านมาภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ในการส่งเสริมสังคมคุณธรรมหัวข้อ พัฒนาดัชนีชี้วัดพอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ สนับสนุนโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงออกแบบให้มีวิทยากรกระบวนการหรือกระบวนกรมาช่วยในการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้นคือแนวปฏิบัติ (Guideline) ในการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมที่พัฒนาร่วมกันจากผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ที่องค์กรหรือชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามบริบทของตนเอง

“กระบวนกร” จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการสร้างความรู้ของโครงการนี้ โดยหนังสือคู่มือวิถีกระบวนกร จัดทำโดยโครงการพัฒนาภาวะการนำด้วยพุทธกระบวนทัศน์ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้ให้ความหมาย “กระบวนกร” ว่าหมายถึงผู้สร้างและดำเนินกิจกรรมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ต่างจากวิทยากรที่เป็นผู้ให้ความรู้

การนำงานกระบวนการมาใช้ในการดำเนินงานส่งผลให้แนวปฏิบัติในการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมพัฒนาขึ้นมาจากชุดประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการ และเพื่อจะต่อยอดแนวปฏิบัตินี้ไปสู่ตัวชี้วัดที่นำไปใช้ขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงได้จัดทำโครงการ “พัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม” โดยการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งแนวทางการทำงานนั้นยังคงให้ความสำคัญกับการนำงานกระบวนการมาใช้พัฒนาตัวชี้วัด โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดเชิงพฤติกรรมด้านคุณธรรมที่มาจากการประเมินตนเอง ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายนี้ได้ ทีมวิจัยออกแบบให้การรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดเกิดขึ้นจาก 3 กระบวนการ คือ

Advertisement

1.การสำรวจและประมวลผลข้อมูลผ่านระบบออนไลน์

2.การทบทวนวรรณกรรม

3.งานกระบวนการ และนำข้อมูลที่เกิดขึ้นจาก 3 กระบวนการนี้มาสังเคราะห์พัฒนาตัวชี้วัด

ปัจจุบันได้มีการดำเนินการในส่วนที่ 1 ด้วยการสำรวจ “พฤติกรรมทางคุณธรรมของคนไทยเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรม” ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 11-25 ตุลาคม 2562 เพื่อสำรวจความเห็นและความเข้าใจด้านพฤติกรรมที่สะท้อนถึงการมีคุณธรรม ใน 5 ด้าน คือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และรับผิดชอบ” ของประชาชนทั่วไป และวิเคราะห์จัดหมวดหมู่พฤติกรรมด้านคุณธรรมในเบื้องต้นดังนี้

“พอเพียง” ประกอบไปด้วย 4 หมวดหมู่ คือ 1.การใช้จ่าย 2.การใช้ทรัพยากร 3.การวางแผนทางการเงิน การเก็บออม การลดรายจ่าย 4.แนวทางการดำเนินชีวิต

“วินัย” ประกอบไปด้วย 4 หมวดหมู่ คือ 1.การรักษาเวลา 2.การปฏิบัติตามกฎระเบียบ/กติกาของสังคม 3.การปฏิบัติตามหน้าที่ 4.การควบคุมฝึกฝนตนเองอย่างสม่ำเสมอ

“สุจริต” ประกอบไปด้วย 11 หมวดหมู่ คือ 1.ความซื่อสัตย์ 2.การใช้ทรัพยากรส่วนรวม 3.ความจริงใจ 4.การไม่ลักขโมย 5.การไม่เอารัดเอาเปรียบ 6.การไม่คดโกง/ไม่ทุจริต 7.การรักษาเวลาในทำงาน 8.การไม่อดทนต่อการทุจริต 9.การเปิดเผยข้อมูล 10.การประกอบอาชีพ/การทำงาน 11.การปฏิบัติตามกฎระเบียบ

“จิตสาธารณะ” ประกอบไปด้วย 6 หมวดหมู่ คือ 1.การรักษาสาธารณประโยชน์และสิ่งแวดล้อม 2.การบริจาค 3.กิจกรรมจิตอาสา/สาธารณประโยชน์ 4.การเสียสละ 5.ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ 6.การช่วยเหลือ

และ “รับผิดชอบ” ประกอบไปด้วย 5 หมวดหมู่ คือ 1.รับผิดชอบต่องาน 2.กล้ารับผิดรับชอบ 3.รับผิดชอบต่อตนเอง 4.รับผิดชอบต่อสังคม 5.ดูแลรับผิดชอบบุคคลใต้อาณัติและสัตว์เลี้ยง

ทางทีมวิจัยได้นำข้อมูลเบื้องต้นนี้แลกเปลี่ยนกับกระบวนกรเพื่อนำไปเตรียมออกแบบกระบวนการ โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะมาร่วมกันพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมแบ่งตามช่วงวัยเป็น 4 ช่วงวัย (Generation) ได้แก่

Baby Boomer (ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2489-2507 หรือ อายุระหว่าง 55-73 ปี) Gen X (ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2508-2522 หรืออายุระหว่าง 40-54 ปี) Gen Y (ผู้ที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2522-2540 หรืออายุระหว่าง 22-53 ปี และ Gen Z (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.2541 ลงมา โดยเน้นกลุ่มอายุ 13-21 ปี)

ที่มาจาก 6 ภาคส่วน คือ 1.ภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 2.ธุรกิจ/เอกชน 3.ศาสนา 4.ชุมชน/ประชาสังคม/ครอบครัว 5.สื่อมวลชน 6.การศึกษา ในพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนงานของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเริ่มจัดกระบวนการตามพื้นที่ต่างๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2563

เส้นทางการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมหลังจากนี้จึงเป็นการทำงานควบคู่กันไประหว่างงานในเชิงวิชาการและงานเชิงกระบวนการ ซึ่งงานทั้งสองส่วนนี้จะต้องมีการออกแบบ และทำงานร่วมกัน ด้วยการสร้าง “พื้นที่สนทนา” กับผู้คนที่มีความหลากหลายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้กระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ สร้างความรู้ และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมต่อไป

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image