เหยี่ยวถลาลม 20ธ.ค.62 : อันตรายในประวัติศาสตร์

ไปหยิบหนังสือ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ : ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ที่ ภาณุ ตรัยเวช เขียน “มติชน” จัดพิมพ์มานั่งอ่านใหม่ พบเรื่องราวที่น่าสนใจของทนายความ 2 คน ที่อยากจะเล่าสู่กัน

1.มักซ์ เฮียร์ชแบร์ก (Max Hirschberg) ผู้ซึ่งมองเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของอุดมการณ์สุดโต่งทั้งสองค่าย แต่เขาจะไม่ยอมให้จิตสำนึกทางการเมืองมาปะปนกับรูปคดี

เฮียร์ชแบร์กว่า ความเละเทะของกระบวนการยุติธรรมในบาวาเรียมีต้นเหตุมาจากบรรดาผู้พิพากษาที่ฝักใฝ่แนวคิดอนุรักษนิยมและชาตินิยม

ตั้งแต่ปฏิวัติจนถึงปี 1922 ฝ่ายขวาก่อคดีฆาตกรรมมาแล้วทั้งสิ้น 354 คดี แต่ยังไม่มีใครถูกตัดสินประหารชีวิต มีเพียง 1 ราย ที่ติดคุกตลอดชีวิต

Advertisement

อีก 326 ราย “ได้รับการปล่อยตัว”

ขณะที่ฝ่ายซ้ายก่อคดีฆาตกรรม 22 คดี 10 รายถูกตัดสิน “ประหารชีวิต” อีก 3 ราย ติดคุกตลอดชีวิต และ 4 รายเท่านั้นที่ได้รับการปล่อยตัว

เฮียร์ชแบร์กจึงเขียนเอาไว้ว่า

Advertisement

“ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเคยเชื่อมั่น อย่างใสซื่อในความยุติธรรม บัดนี้ ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ศาลตัดสินแบบสองมาตรฐานอย่างเปิดเผย ศาลจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับอาชญากรรมที่ฝ่ายชาตินิยมและฟาสซิสต์เป็นผู้ก่อ แต่จะไร้เมตตา ถ้าฝ่ายปฏิวัติหรือกรรมาชนทำความผิดเพียงเล็กน้อย”

2.ออตโต เคิร์ชไฮเมอร์ (Otto Kirchheimer) ทนายความแห่งไวมาร์ เขียนถึงปัญหาดาบสองคมของความ (อ) ยุติธรรมที่อิงการเมืองว่า

“เมื่อใดก็ตามที่รูปคดีเกี่ยวข้องกับจุดยืนทางการเมือง แค่การรักษาความเป็นกลางตามความหมายอันคับแคบแบบเดิมที่ว่า ตุลาการไม่ได้เสียผลประโยชน์หรือไม่รู้จักอะไรเป็นการส่วนตัวกับทั้งโจทก์และจำเลย ย่อมไม่สามารถรับประกันความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้อีกต่อไปแล้ว เพราะต่อให้ไม่ได้มีผลประโยชน์ทางตรง แต่ผู้พิพากษาก็ยังสามารถตัดสินให้คุณให้โทษสอดคล้องกับอุดมการณ์ส่วนตัวได้

ลัทธิชาตินิยม ความคลั่งชาติและฮิตเลอร์ มีชีวิตชีวาโลดแล่นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองเยอรมันเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน นั่นไม่ได้นานนักหรอกถ้าจะเทียบกับ “ไทย” ก็แค่ก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครองราวๆ สิบปีเท่านั้นเอง

จึงยกมาเพื่อเป็นอุทาหรณ์ว่า มนุษย์เรานั้นเมื่อลุ่มหลงงมงายก็จะสำคัญผิด ความคิดจิตใจจะผิดเพี้ยนพิสดารไปจนยากจะคาดคิดคำนวณ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image