อุบลราชธานี สู่เป้าหมายจังหวัดน่าอยู่ สำหรับเด็กและเยาวชน : โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน – นวพร สุนันท์ลิกานนท์

ขอบคุณภาพจากเพจ 4ct PED

การขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน จังหวัดอุบลราชธานี มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี เล็งเห็นว่าประเด็นด้านเด็กและเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการส่งเสริมและผลักดันเป็นพิเศษ โดยประกาศเป็นวาระของจังหวัดในงานตุ้มโฮมแต้มฮัก มหกรรมพลังเด็กและเยาวชนเปลี่ยนโลก ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2562

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562 จึงเกิดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีขึ้น โดยมีข้อสรุปสำคัญให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน และยกขึ้นเป็นวาระการพัฒนาระดับจังหวัด ภายใต้การขับเคลื่อน “เมืองน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน” อันประกอบไปด้วย 7 มิติ ได้แก่ เมืองปลอดภัย เมืองสุขภาพ เมืองการเรียนรู้ เมืองคุ้มครองสิทธิเด็ก เมืองพื้นที่สร้างสรรค์ เมืองที่เด็กมีส่วนร่วม และเมืองครอบครัว

การขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กใน 7 มิติ จำเป็นต้องอาศัยทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของจังหวัด ในส่วนกลไกภาครัฐ นอกจากมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในคณะกรรมการการขับเคลื่อนแล้ว ยังมีนางอภิญญา ชมพูมาศ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

นอกจากนี้ กลไกภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ส่งเสริมการทำงานด้านเด็กและเยาวชนให้เกิดความต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการจับมือร่วมกันระหว่างพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี กับโครงการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปฏิบัติหน้าที่ร่วมในฐานะทีมเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โดยมีนายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานเปิดการประชุม

Advertisement

ข้อคิดที่น่าสนใจจากนายวิรุจ วิชัยบุญ ถึงการขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชน คือการระดมกำลังความคิด ทรัพยากรในการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบันจากการสร้างจุดเปลี่ยนด้วยเทคโนโลยี หรือ digital disruption ซึ่งสร้างความท้าทายต่อการทำงานพัฒนาด้านเด็กและเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ว่ายากจะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ การวางแผน การระบุเป้าหมาย และขับเคลื่อนร่วมกัน

การขับเคลื่อนทั้ง 7 มิตินี้ได้รับแรงหนุนเสริมในระดับนโยบายเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการวางเป้าหมายและแผนงาน (roadmap) ผ่านการนำเสนอของนางอภิญญา ชมพูมาศ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึงการชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ในการทำงานเชิงบูรณาการผ่านข้อปฏิบัติในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 (เพิ่มเติม พ.ศ.2560) พ.ร.บ.พัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้ง 4 ฉบับ เป็นต้น

ด้วยกฎหมายและข้อบัญญัติต่างๆ ได้ระบุบทบาท หน้าที่ และสิทธิของเด็กและเยาวชนไว้ หากแต่การบังคับใช้กฎหมายหรือการปฏิบัติตามกฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้นย่อมต้องเกิดจากการประสานการทำงาน บูรณาการทรัพยากรเชิงระบบ เนื้องาน บุคลากรและงบประมาณ โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอุบลราชธานีเป็นสำคัญ

Advertisement

นอกจากกฎหมายที่ให้อำนาจในการดูแลและพัฒนาเด็กและเยาวชนแล้ว ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีหลักคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ผู้เขียนได้สรุปหลักคิดและทฤษฎีสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนจากบทเรียนการทำงานร่วมกับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย และต้นแบบแนวคิดการทำงานด้านเด็กและเยาวชนในต่างประเทศ ดังนี้

1)กระบวนการทางความคิด (mindset) มุ่งเน้นให้ผู้ทำงานกับเด็กและเยาวชนมีความคิดแบบเติบโต ไม่ติดกรอบระเบียบแบบแผนที่ยึดติดไม่เชื่อมโยงสู่การสร้างแนวทางปฏิบัติแบบสร้างสรรค์ ดังตัวอย่างแนวปฏิบัติในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในประเทศอังกฤษ สวีเดน การสนับสนุนงบประมาณให้เยาวชนทำกิจกรรมทางเลือกในโปแลนด์ เป็นต้น

2) ความเข้าใจถ่องแท้ต่อประเด็นสำคัญในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 4 ประเด็น คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม

3) หลักการกระจายอำนาจแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นการบูรณาการทรัพยากร สร้างเครือข่ายการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน

4) หลักการสร้างการมีส่วนร่วม โดยใช้หลักบันได 8 ขั้นของการมีส่วนร่วมของ Roger A. Hart

5) หลักคิดของการพัฒนาพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) และ

6) การสร้างพลเมืองควบคู่กับเสริมสร้างสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 และการรู้เท่าทัน มีสติ สมาธิ และปัญญา ผู้เขียนได้เสนอกลไกขับเคลื่อนสำคัญซึ่งเป็นกลไกบูรณาการ หาได้เป็นหน่วยงานภาครัฐหรือฝ่ายราชการเพียงฝ่ายเดียวที่เป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน หากแต่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพร่วมที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคประชาชนก็สามารถเข้ามามีส่วนเป็นกลไกหนุนเสริมการขับเคลื่อนได้ทั้งสิ้น

ฉะนั้น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กทั้ง 7 มิตินี้ จำเป็นต้องออกแบบให้มีกลุ่มขับเคลื่อนเฉพาะด้านเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการออกแบบแผนการดำเนินงาน ออกแบบการบูรณาการทรัพยากร การติดตามและประเมินผลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

ซึ่งคาดหวังว่าการค้นหาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 14-15 ธันวาคม จะนำไปสู่การพบตัวจริงเสียงจริงในการทำงานตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของกว่า 40 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่มาเข้าร่วม

การประชุมเชิงปฏิบัติการของกว่า 40 องค์กร 60 กว่าชีวิตได้แลกเปลี่ยนความคิดผ่านกระบวนการกลุ่ม โดยกิจกรรมแรกเป็นการแลกเปลี่ยนในประเด็นวิกฤตหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน รวมถึงตัวเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานีเอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเขียนประเด็นวิกฤตหรือปัญหาลงในกระดาษแผ่นเล็ก ใช้การวิพากษ์ ให้เหตุผลว่าประเด็นที่เขียนเป็นปัญหาของการขับเคลื่อนมิติใดบ้าง

กิจกรรมต่อมาผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน โดยเขียนทรัพยากร แผนงาน โครงการที่องค์กรของตนเคยทำมาเพื่อสำรวจให้เห็นทรัพยากรทั้งหมดที่มี ทีมวิทยากรจากศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ประมวลข้อมูลจากทั้งสองประเด็นเพื่อค้นหาประเด็นเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนเป็นมิติแรก

จากข้อมูลสะท้อนว่ามิติครอบครัวเป็นมิติที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดและมีทรัพยากรในการจัดการปัญหาไม่มากนัก หรือไม่ใช่การจัดการปัญหาในเชิงรุก จึงได้เป็นโจทย์ในการร่วมกันวางเป้าหมายการขับเคลื่อนมิติเมืองครอบครัวน่าอยู่สำหรับเด็ก เป็นมิติที่ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มต้องร่วมกันวางเป้าหมาย ออกแบบกลวิธีสู่เป้าหมาย และระดมทรัพยากรจากภาคีในจังหวัด โดยค้นหาเจ้าภาพหลัก เจ้าภาพร่วม ก่อนจบการประชุมผู้เข้าร่วมมีโอกาสในการเยี่ยมชมเป้าหมายของเพื่อนแต่ละกลุ่มเพื่อช่วยให้ข้อเสนอแนะต่อกลวิธีในการไปถึงเป้าหมาย รวมทั้งยังพิจารณาว่าหน่วยงาน องค์กรที่ตนสังกัดมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายนั้นๆ ได้หรือไม่

การวางแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนอุบลราชธานีผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี ไม่เพียงเพื่อค้นหาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีต้นทุนที่เข้มแข็ง อันเกิดจากภาคีเครือข่ายด้านเด็กและเยาวชน ฝ่ายนโยบายที่ให้ความสนใจ ฝ่ายปฏิบัติการที่พร้อมทำงานเชิงรุก ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีความเข้าใจงานพัฒนาด้านเด็กและเยาวชนที่มีประสบการณ์สูง

ฉะนั้น การพัฒนาแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนวาระจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนอุบลราชธานีที่จะเกิดขึ้นในวาระต่อๆ ไป คงจะสร้างรูปธรรมความสำเร็จให้อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่น่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนได้ไม่ยาก

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน
นวพร สุนันท์ลิกานนท์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image