ประเพณีขึ้นปีใหม่ ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

การนับวันเดือนปีมีความสำคัญต่อการกำหนดระยะเวลาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นปีใหม่เป็นประเพณีที่ทุกชาติทุกศาสนาถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาช้านาน

ความเป็นมาของการขึ้นปีใหม่

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ครั้งโบราณ แต่ละชาติถือตามคำนิยมและสภาพแวดล้อมทางสังคม อาทิ ต้นฤดูหนาว เมื่อพ้นจากฤดูฝน บรรยากาศทั่วไปจะแจ่มใสขึ้น หรือฤดูร้อนมีแสงสว่างเหมาะแก่การทำกิจกรรมต่างๆ จึงนิยมเลือกเป็นวันขึ้นปีใหม่ และถือปฏิบัติกันมาจนเป็นประเพณีที่คนรุ่นหลังยึดถือตาม

หลักฐานที่ปรากฏในสมัยโบราณเคยเริ่มมีใหม่วันที่ 21 ธันวาคม ต่อมาสมัยจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) มีการใช้ปฏิทินระบบซีซาร์เปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.497 อย่างไรก็ดี ประเพณีขึ้นปีใหม่มักเกี่ยวข้องกับศาสนาและการเมืองการปกครอง ดังนี้

Advertisement

การขึ้นปีใหม่ของชาวคริสต์

ปีใหม่ของชาวคริสต์คือ วันคริสต์มาส ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซู ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม วันนี้เป็นวันที่พระเยซูประสูติจริงหรือไม่ ไม่ทราบแน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่เชื่อว่าเกิดขึ้นราว 2 ปีก่อน ค.ศ.และ ค.ศ.7 ในช่วงต้นถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 ศาสนาคริสต์ตะวันตกกำหนดวันคริสต์มาสตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งต่อมาศาสนาคริสต์ตะวันออกได้รับวันดังกล่าวไปด้วย มีคำอธิบายว่า เหตุผลที่เลือกวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันเฉลิมฉลองคริสตสมภพนั้น เพราะเป็นเวลาเก้าเดือนพอดีหลังคริสต์
ศาสนิกชนสมัยแรกเฉลิมฉลองวันแม่พระมารีอารับสารจากพระเจ้า

ประเพณีการเฉลิมฉลองอันเป็นที่นิยมที่เหมือนกันในหลายประเทศมีการผสมผสานแนวคิดและกำเนิดก่อนศาสนาคริสต์ สมัยศาสนาคริสต์ และฆราวาสประเพณีสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในวันดังกล่าวมีการให้ของขวัญ เพลงคริสต์มาสและเพลงเทศกาล การแลกเปลี่ยนการ์ดคริสต์มาส การตกแต่งโบสถ์ มื้อพิเศษ และการจัดแสดงการประดับตกแต่งหลายอย่าง รวมทั้งต้นคริสต์มาส แสงไฟ ฉากการประสูติของพระเยซู มาลัย พวงหรีด นอกเหนือจากนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดและแทนกันได้บ่อยครั้งหลายคน เช่น ซานตาคลอส ฟาเธอร์คริสต์มาส นักบุญนิโคลัส และคริสต์ตินด์ เกี่ยวข้องกับการให้ของขวัญแก่เด็กในเทศกาลคริสต์มาส และต่างมีประเพณีและตำนานเป็นของตนเอง เพราะการให้ของขวัญและอีกหลายส่วนของเทศกาลคริสต์มาสเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในบรรดาคริสต์ศาสนิกชนและผู้ที่มิใช่

Advertisement

วันคริสต์มาสจึงเป็นเหตุสำคัญและช่วงลดราคาสำหรับผู้ค้าปลีกและธุรกิจ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของคริสต์มาสเป็นปัจจัยซึ่งเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาในหลายภูมิภาคทั่วโลก

การขึ้นปีใหม่ของชาวจีน

คือ วันตรุษจีน เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนไปจนถึงวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ซึ่งปฏิทินสากลอาจอยู่ในช่วงเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ สำหรับ พ.ศ.2563 ตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม

ตรุษจีนนั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี พิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีนนั้นมีมานานกว่าศตวรรษ (100 ปี) จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อใด

ตรุษจีนนั้นเป็นที่รู้จักและจดจำได้ทั่วไปว่าเป็นการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวันคริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านถึงท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้ายออกไป ประตูหน้าต่างมีการทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูกประดับด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร อย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น

ที่มาของวันตรุษจีน เกิดจากการจัดขึ้นเพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิดังได้กล่าวมาแล้ว เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า “วันตรุษจีน”

อาหารวันตรุษจีน ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่อาหารไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่ง เช่น ขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆ กัน อาหารอย่างเช่นกุ้ง จะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร

เสื้อผ้าวันตรุษจีน การใส่เสื้อผ้าสีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคล เป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งรวมกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

วันขึ้นปีใหม่ของมุสลิม

มุสลิม หมายถึง ผู้นับถือศาสนาอิสลาม กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (มุสลิมในไทยเรียกว่า “มะหะหร่ำ” เป็นวันไว้อาลัยต่ออิหม่ามฮุสเซน หลานตาศาสนทูตท่านนบีมูฮัมมัด) ความเป็นมาของปีใหม่มุสลิมเกิดขึ้นหลังจากท่านนบีมูฮัมมัดสิ้นชีวิตแล้ว

เมื่อแผ่นดินอิสลามได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคการปกครองของท่านเคาะลีฟะฮุอุมัร ซึ่งสืบทอดการปกครองอาณาจักรอิสลามเป็นเคาะลีฟะฮุคนที่ 2 ต่อจากท่านเคาะลีฟะฮุอบูบักร์ ท่านอุมัรได้จัดระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การเงิน การคลัง ให้เป็นระเบียบมีการทำสำมะโนประชากร มีการทำบันทึกรายได้รายจ่ายของรัฐอย่างเป็นระบบ จึงพบปัญหาว่าไม่สามารถระบุวันที่ได้แน่นอน เกิดความสับสนในการบันทึกเอกสารต่างๆ บางทีเดือนเดียวกันแต่ไม่ทราบว่าเป็นปีใด

ท่านอุมัรได้ปรึกษาหารือกับบรรดาสาวกของท่านนบีมูฮัมมัดที่ร่วมบริหารงานอยู่ก็มีมติให้ปรับปรุงการกำหนดปีกันใหม่ บางคนเสนอให้ใช้ศักราชโรมัน บางคนเสนอให้ใช้ศักราชเปอร์เซีย บ้างก็เสนอให้ใช้วันเกิดของท่านนบีมูฮัมมัดเป็นศักราชอิสลามบ้าง ให้ใช้วันที่ท่านนบีมูฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีบ้าง หรือให้ใช้วันเสียชีวิตของท่านเป็นจุดเริ่มต้นนับศักราชอิสลามบ้าง แต่ท่านอุมัรไม่เห็นด้วยที่จะรับวิธีคิดตามอย่างพวกที่พยายามหาทางทำลายล้างและเป็นปฏิปักษ์กับอิสลามมาใช้ และไม่เห็นด้วยที่จะเอาวันเกิดวันตายของท่านนบีมูฮัมมัดมากำหนดศักราชอิสลามเลียนแบบศาสนาอื่น

ในที่สุดท่านอะลีหนึ่งในคณะที่ปรึกษา (ซึ่งต่อมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮุคนที่ 4) ได้เสนอให้เอาการอพยพ (ฮิญจ์เราะฮฺ) ของท่านนบีมูฮัมมัดจากมักกะห์ไปสู่มะดีนะฮฺเป็นจุดเริ่มต้น นับศักราชใหม่ของอิสลาม เนื่องจากเป็นนิมิตหมายถึงความสำเร็จในการสถาปนารัฐอิสลามของท่านนบีมูฮัมมัด และยิ่งกว่านั้นการอพยพครั้งนั้นยังเป็นการจำแนกความจริงจากความเท็จและความหลงผิดได้อย่างชัดเจน

ท่านอุมัรเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอนี้ การปรึกษาหารือเรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณปีที่ 17-18 หลังจากการหิญเราะฮฺ จึงมีมติให้เริ่มนับศักราชอิสลามตั้งแต่ปีที่ท่านนบีมูฮัมมัดอพยพ เรียกว่า หิญเราะฮฺศักราช ส่วนวันขึ้นปีใหม่ที่เฉลิมฉลองกันทั่วไปนั้น มุสลิมไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมุสลิมมีวันรื่นเริงตามหลักการของศาสนาตนเองอยู่แล้วคือ วันอีดอีฎิ้ลฟิตริและช่วงวันอีฎิ้ลอัดฮา

วันอีฎิลฟิตริ เป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวมุสลิม ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด (รอมฎอน) จะจัดขึ้นในวันแรกของเดือนสิบ ถือเป็นวันหยุดของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก โดยทุกคนจะฉลองเทศกาลแห่งความสุขนี้ด้วยการแบ่งปันและแสดงความเอื้ออาทรต่อกัน

วันอีฎิลอัดฮา เป็นวันฉลองการพลีทานหรือบริจาคทานแก่เด็ก คนชรา หรือคนยากไร้ มีการออกไปเยี่ยมเยียนซึ่งกันและกัน ตรงกับวันที่ 10 เดือนซุลอิญญะห์ (เดือนที่มุสลิมเดินทางไปทำฮัจย์ที่นครมักกะห์)

การขึ้นปีใหม่ของไทย

ไทยหรือคนไทยเดิมคือ “สยาม” เปลี่ยนเป็นประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2482 มีลำดับการขึ้นปีใหม่ 4 ระยะ คือ

ระยะแรก คือตามจันทรคติ เมื่อเทียบปฏิทินสากลตามสุริยคติ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม

ระยะที่สอง สมัยอยุธยา แบ่งเป็น 2 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคส่วนของราชสำนักที่รับแบบแผนพิธีพราหมณ์หรือฮินดูจากอินเดียตั้งแต่ พ.ศ.1000 โดยถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ประมาณกลางเดือนเมษายน (จันทรคติเป็นเดือน 5) สำหรับภาคส่วนของราษฎรถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่

รายะที่สาม การขึ้นปีใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการนับวันปีใหม่ หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ อาจคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นจึงถือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในชนบทยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่

ระยะที่สี่ สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งใช้นโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสากล ซึ่งมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติมีปฏิทิน พุทธศักราช 2483 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2483

เพื่อให้สอดคล้องสมัยนิยมจึงให้ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งประกาศมา ณ วันที่ 24 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 และใช้มาถึงปัจจุบันนี้

ปีใหม่สากล

หมายถึงการขึ้นปีใหม่ที่ใช้ทั่วโลกคือ วันที่ 1 มกราคม โดยมีความเป็นมาจากสมัยของจูเลียส ซีซาร์ ยุคอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง ภายหลังพระเจ้าวิลเลียม (William the conqueror) เป็นกษัตริย์ของอังกฤษก็ใช้วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่

ถึงยุคกลางชาวอังกฤษได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 25 มีนาคม ต่อมา ชาวอังกฤษเชื้อสายแองโกลซักซอนได้เริ่มใช้ปีใหม่วันที่ 25 ธันวาคม ส่วนชาวคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิกกลับมาใช้ปฏิทินแบบกรีกอเรียนได้ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ และได้รับความนิยมในหลายประเทศ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง (พ.ศ.2488) มีการก่อตั้งสหประชาชาติ (united nation) ซึ่งประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก จึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ และใช้ปฏิทินทางสุริยคติเพื่อจัดประชุมและดำเนินงานของ UN เป็นต้นมา

สรุปภาพรวม

ประเพณีขึ้นปีใหม่แต่โบราณแต่ละชาติมีวันขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ หรือฤดูกาล ต่อมามีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสภาพสังคมแต่ละยุคสมัย ในที่สุดนานาชาติจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นสากล เพื่อความเข้าใจและการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม ประเพณีการเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ล้วนเป็นการรื่นเริง ส่งความสุข การทิ้งสิ่งไม่ดีไว้กับปีเก่าและเริ่มต้นในปีใหม่ ส่วนชาติใดจะจัดอยู่ที่ความเชื่อและความเหมาะสมตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ แต่ที่นิยมกันในปัจจุบันคือการนับถอยหลัง (Countdown) เมื่อเข้าสู่เวลา 00.00 น. (เที่ยงคืน) จะมีการโห่ร้องกึกก้อง ดีใจ จุดพลุเฉลิมฉลอง ต้อนรับการเข้าสู่ปีใหม่

ประการสำคัญที่ทุกคนทุกชาติทุกศาสนาควรรำลึก คือการทำความดีละเว้นการทำชั่ว และมีจิตใจอันสุจริต เพื่อต้อนรับวันขึ้นปีใหม่ และถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่บนพื้นฐานของความดีงามโดยทั่วกัน

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image