มอง กมธ. รธน. เห็น รัฐบาล-พปชร. ปรับทัพใหญ่

หลังจากญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจาก ม.44 มีอันต้องตกไป พร้อมๆ กันนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ “งูเห่า” ให้เกิดขึ้น และส่งผลสะเทือนมาจนถึงขณะนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ “เอกฉันท์”

ไม่มีเสียงคัดค้านการตั้งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว

คณะกรรมาธิการที่ตั้งมีทั้งสิ้น 49 คน กำหนดระยะเวลาพิจารณา 120 วัน

Advertisement

รายชื่อคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย โควต้า ครม. 12 คน คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายวุฒิสาร ตันไชย นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายกฤษ เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรค พปชร. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. นายสัมพันธ์ เลิศนุวัตร หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย นายโกวิทย์ ธาราณา สมาชิกพรรค พปชร. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

โควต้าพรรค พปชร. 9 คน คือ นายวิเชียร ชวลิต นายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ นายสิระ เจนจาคะ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ นายนิโรธ สุนทรเลขา นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายทศพล เพ็งส้ม น.ส.วลัยพร รัตนเศรษฐ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

โควต้าพรรคภูมิใจไทย 4 คน คือ นายศุภชัย ใจสมุทร นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง นายภราดร ปริศนานันทกุล นายบุญดำรง ประเสริฐโสภา โควต้าพรรคประชาธิปัตย์ 4 คน คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายเทพไท เสนพงศ์

Advertisement

โควต้าพรรคชาติไทยพัฒนา 1 คนคือ นายนิกร จำนง

โควต้าพรรคเพื่อไทย 10 คน ประกอบด้วย นายสุทิน คลังแสง นายจตุพร เจริญเชื้อ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายโภคิน พลกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ นายวัฒนา เมืองสุข นายยงยุทธ ติยะไพรัช

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ 6 คน คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายชำนาญ จันทร์เรือง นายรังสิมันต์ โรม นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยธวัช ตุลาธน ขณะที่พรรคเสรีรวมไทย 1 คน คือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โควต้าพรรคประชาชาติ (ปช.) 1 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง โควต้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) 1 คน นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรค

ดูจากรายชื่อแล้วมองเห็นแนวคิดและแก่นแกนของแต่ละพรรคการเมือง

สําหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว จำเป็นต้องโฟกัสที่ชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เพราะนายพีระพันธุ์มีความเป็นมาที่น่าสนใจ

นายพีระพันธุ์เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แข่งกับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าคนเดิมลาออก

เมื่อนายจุรินทร์ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ชื่อของ “พีระพันธุ์” เงียบหายไปพักใหญ่

แล้วจู่ๆ ก็มีกระแสข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า “เสียดายนายพีระพันธุ์” หลังจากนั้นก็ปรากฏความจริงว่านายพีระพันธุ์ยื่นลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากนั้นนายพีระพันธุ์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

และก็มีข่าวตามมาว่านายพีระพันธุ์จะเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

กระแสข่าวดังกล่าวไม่ธรรมดา เพราะหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะกรรมาธิการ และผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายพีระพันธุ์

คำตอบจากนายพีระพันธุ์คือ พร้อมทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการ

ความเคลื่อนไหวในการดึงบุคลากรจากที่ต่างๆ มาช่วยงานของรัฐบาลและเสริมทัพพรรคพลังประชารัฐนั้น กลายเป็นความเคลื่อนไหวที่แสดงความคึกคักให้เห็น

คึกคักเมื่อมีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐเองก็เตรียมตัวปรับปรุงโครงสร้างพรรค

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคยอมรับในเรื่องนี้ แต่รายละเอียดการปรับเปลี่ยนยังคงต้องรอมติที่ประชุม

ทั้งนี้ เพราะแม้มีแนวคิดอยากเปลี่ยนตัวเลขาธิการจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น นายอนุชา นาคาศัย

แต่ก็มีกระแสทัดทาน ไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลระดับแกนนำในช่วงนี้

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ก็แย้มให้ฟังว่าน่าจะมี

เป็นการตอบรับว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงที่รัฐบาลต้องแถลงผลงาน

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณที่มีความแรงขึ้นเรื่อยๆ

สัญญาณแห่งการปรับทัพของฝ่ายรัฐบาล

ปรับทัพภายในพรรคพลังประชารัฐ ปรับทัพภายในรัฐบาล

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองยังโยงใยกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางเศรษฐกิจจึงยังคงมีความสำคัญกับรัฐบาลเป็นอย่างมาก

ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจในช่วงส่งท้ายปี ยังคงตกวูบ แม้รัฐบาลจะพยายามอัดฉีดงบประมาณลงไปเป็นจำนวนมากแต่ก็ยังไม่ปรากฏผล

ขณะที่ความรู้สึกของคนเริ่มพะวงกับค่าใช้จ่าย และหนี้สินที่ต้องแบกรับไว้

ความรู้สึกดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับการเมือง

ดังนั้น การปรับทัพรัฐบาลและปรับทัพของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พปชร. จึงต้องสอดรับกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ปัญหาการเมืองย่อมได้รับการบรรเทาเบาบางลงไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image