อุบัติภัยบนท้องถนนกับเทศกาลวันหยุดยาว ปรากฏการณ์แห่งปัญหาที่รอการแก้ไข โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดปรากฏการณ์อุบัติภัยบนท้องถนนสูงสุดติดอันดับสองของโลก และถึงแม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขด้วยรูปแบบของการรณรงค์ที่หลากหลาย แต่อุบัติภัยและปัญหาดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องและยิ่งในเทศกาลวันหยุดยาวด้วยแล้วทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงเป็นหนึ่งในประเพณีและวิถีที่คนไทยได้ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าเทศกาลที่จะมาถึงนี้ย่อมนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากอุบัติภัยบนท้องถนนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อกล่าวถึงปรากฏการณ์หากนับย้อนหลังไปดูข้อมูลหรือสถิติที่กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการจะพบว่าในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2562 ที่ผ่านมา พบว่าช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ขับรถดีมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ถึง 2 มกราคม 2562
เกิดอุบัติเหตุรวม 3,791 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 463 ราย บาดเจ็บ 3,892 คน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุในเส้นทางตรงร้อยละ 64.89 บนถนนกรมทางหลวงร้อยละ 39.30 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 34.90 โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่เวลา 16.10-20.00 น. ร้อยละ 27.78

จากตัวเลขและการสูญเสียดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนหรือปริมาณที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลากลับมีความแตกกัน แต่ที่เป็นปรากฎฏการณ์ให้เห็นในเชิงประจักษ์ได้แก่อุบัติเหตุและอันตรายที่มาจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดังที่เกิดขึ้นในทุกปีที่ผ่านมา และในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุและปัญหานับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต่อกรณีนี้หากไปศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยบนท้องถนนอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจราจร (Road Traffic Accidemts) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลกของสังคมที่มีการใช้รถใช้ถนนในการคมนาคมขนส่ง และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นนี้องค์การอนามัยโลกคาดว่าในปี พ.ศ.2573 หากแต่ละประเทศไม่มีมาตรการที่ดีสำหรับการป้องกันอุบัติภัยทางถนนจะทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเฉลี่ยปีละ 2.4 ล้านคน ซึ่งจะทำให้อันดับของสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะล้ำหน้าจากมหันตภัยของโรคร้ายหลายโรคโดยเฉพาะมะเร็งและเอดส์

Advertisement

และจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้มีการคำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาเฉลี่ยมีการสูญเสียต่อปีคิดเป็นมูลค่า 545,435 ล้านบาท ซึ่งเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งจากการศึกษายังพบว่าในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างร้ายแรงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถขับเคลื่อนให้มีการลดลงและเป็นไปตามความต้องการขององค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับรัฐบาลเองก็ยังตระหนักและให้ความสำคัญกับแนวนโยบายสำหรับการป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่องดังที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวไว้ในการเป็นประธานพิธีเปิดและมอบนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ อิมแพค เมืองทองธานี ความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาที่นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่าไม่ได้ และเป็นโศกนาฏกรรมของสังคมไปถึงระดับชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันความปลอดภัยบนท้องถนนแบบองค์รวมไม่ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว”

ด้วยความมุ่งมั่นในการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไปนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมยังกล่าวว่า “ภายใต้ปฏิญญามอสโก ได้ตั้งเป้าลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคนภายในปี 2563 ซึ่งในระยะเวลาที่กำหนดผมอยากให้ลดให้เร็วที่สุดให้เหลือศูนย์ให้ได้ โดยมีความกังวลหากมีคนเจ็บคนตายและมีความสูญเสียเกิดขึ้น ดังนั้น ทุกคนไม่ว่าทำอะไรก็ตามอย่าให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น ขณะเดียวกันผมตั้งเป้าอยากให้รักษาความปลอดภัยได้ตลอดทั้งปีทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญไม่ต้องการให้มีการเจ็บกับตายทั้งสิ้น” (มติชน 17 ธันวาคม 2562 หน้า 9)

Advertisement

ในขณะที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ว่าศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้ดำเนินการตามแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ถนนสายรองเน้นให้เจ้าหน้าที่บูรณาการความร่วมมือกับท้องถิ่นดูแลพื้นที่เป็นหลักและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตลอดจนควบคุมยานพาหนะ การห้ามรถบรรทุกหยุดวิ่ง 7 วัน ในส่วนของสาธารณะก็เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยและการตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ เน้นขับรถดีมีน้ำใจ เป็นต้น

ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ระบุว่า หลังจากที่พบว่าสถิติมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยวันละ 45 คน สูงกว่า 20,000 คนต่อปีต่อจำนวนประชากร 100,000 คน เกินเกณฑ์ที่สหประชาชาติกำหนดไว้ จึงเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำหนดให้การดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับ โดยใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขับเคลื่อนดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน และผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ส่วนกลางจะมีการติดตามสถานการณ์ปัญหาผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ทั้งรายเดือน และรายไตรมาสผ่านระบบโดยช่องทางที่ ศปถ.กำหนดอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนั้น รมช.มหาดไทย ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาอันเนื่องมาจากอุบัติภัยทางถนน โดยได้หยิบยกผลการประชุมวิชาการการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ว่าจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตามเส้นทางต่างๆ ของประเทศไทย พบว่าถนนในประเทศไทยทั้งหมดมีระยะทางประมาณ 452,238 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ประมาณ 51,813 กิโลเมตร ทางหลวงชนบท 47,960 กิโลเมตร และถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับประมาณ 352,465 กิโลเมตร

ที่น่าสนใจ รมช.มหาดไทยได้ยกตัวอย่างผลการสำรวจข้อมูลอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีพบว่า อุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดบนถนนของ อปท.สูงถึงร้อยละ 82 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด และผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนบนถนนของ อปท.ถึงร้อยละ 85 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมด

เมื่อกล่าวถึงการเตรียมการที่จะรองรับอันเนื่องจากภัยอันตรายที่คาดว่าจะเกิดเป็นปรากฏการณ์ให้เห็นอย่างแน่นอน ขณะนี้องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างขานรับและกำหนดมาตรการไว้อย่างหลากหลายทั้งรูปแบบเดิมๆ ที่เคยดำเนินการตลอดจนนำนวัตกรรมใหม่มาดำเนินการ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถือว่าใกล้ชิดกับประชาชนในระดับต้นๆ ของประเทศ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ตร.ได้ออกมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยของประชาชนด้วยมาตรการต่างๆ

สําหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับจราจรนั้น ทาง ตร.จะเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก เช่น เมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ขับขี่ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนดพร้อมคุมเข้มสถานีขนส่ง สถานีรถไฟและท่าอากาศยาน โดยตำรวจได้ประสานกับพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและตามด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังปีใหม่ โดยให้ตำรวจในพื้นที่ประสานกับฝ่ายความมั่นคงในการจับกุมผู้ต้องหาในคดีค้างเก่าทั่วประเทศพร้อมติดตามสถานการณ์ข่าวทุกพื้นที่โดยเฉพาะจุดสำคัญ รวมทั้งมาตรการด้านการเฝ้าระวังมุ่งเน้นหาข่าวทั้งในและต่างประเทศ และโครงการประชารัฐร่วมใจดูแลความปลอดภัยบ้านประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้ตรงจุดหรือเกาให้ถูกที่คันลำพังการปล่อยให้เป็นการบ้านหรือความรับผิดชอบของภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงจะไม่เหมาะกับสภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน ที่จะต้องมีการระดมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมโดยเฉพาะภาคเอกชน หรือ NGO ที่มีความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมและเมื่อองค์กรเหล่านั้นพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเมื่อเขาแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะต่างๆ ภาครัฐควรที่จะเปิดใจกว้างยอมรับและนำไปสู่การบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการที่ระบุไว้

ตัวอย่างหนึ่งสำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชนที่มีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงมหาดไทยผ่าน รมช. นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้แก่การที่ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนนและภาคีเครือข่ายในโอกาสที่เข้าพบ รมช.มหาดไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งข้อเสนอประกอบด้วย ควรมีนโยบาย เป้าหมายและแผนงานเพื่อประเมินความปลอดภัยและปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนตามมาตรฐาน Roads Assessment Program บนถนนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยหารือกับกรมทางหลวงชนบทและ iRAP Excelent Center จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตามด้วยมอบนโยบายให้กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดทำเป้าหมายและแผนงานพัฒนาศักยภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน อาทิ การฝึกอบรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถอดบทเรียนความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ มาจัดทำเป็นคู่มือดำเนินงานและแนวทางดำเนินงาน รวมทั้งเสนอให้จัดสรรงบประมาณให้ ศปถ.อำเภอสำหรับพัฒนาข้อมูลและจัดการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับ ศปถ.อปท.ได้ต่อเนื่องทั้งปี โดยเน้นในด้านเรื่องการรวบรวมวิเคราะห์และนำเสนอสาเหตุอุบัติเหตุกรณีเสียชีวิต จัดทำแผนแก้ไขติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของ ศปอ. อปท. อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุบัติภัยบนท้องถนนอันเนื่องมาจากเทศกาลวันหยุดยาวหรือในสภาวะการณ์ปกติจะลดลงและนำไปสู่ตัวเลขเป็นศูนย์ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลได้นั้น หนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญคือการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจ เข้าถึงในพิษภัยที่จะได้รับอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจหากย้อนไปดูรูปแบบหรือนวัตกรรมที่ภาครัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์แห่งต้นทางของปัญหายังไม่ได้ลดลงและดูทีท่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันนี้หากการดำเนินการยังไม่สามารถตอบโจทย์หรือนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นอยู่เองที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขให้เป็นวาระแห่งชาติ

การป้องกันหรือแก้ไขปัญหาด้วยการที่องค์กรภาครัฐตระหนักและให้ความสำคัญดังแนวปฏิบัติเพียงเพื่อรณรงค์เฉพาะในห้วงเวลาหรือเทศกาลวันหยุดยาวคงจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หรือตอบโจทย์เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง คำถามจึงมีอยู่ว่า จากวันนี้และอนาคตถ้าตัวเลขการสูญเสียยังไม่ลดแต่นับวันจะเพิ่มขึ้นทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ไขให้ผ่านพ้นหลุมดำที่เป็นปรากฏการณ์ ใครคือผู้ที่จะให้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image