พรรคกู้ยืมเงิน…กม.ไม่ห้าม ก็ทำไม่ได้ กก.สรรหาเป็น ส.ว….กม.ไม่ห้าม แต่ทำได้ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พรรคกู้ยืมเงิน...กม.ไม่ห้าม ก็ทำไม่ได้ กก.สรรหาเป็น ส.ว....กม.ไม่ห้าม แต่ทำได้ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พรรคกู้ยืมเงิน…กม.ไม่ห้าม ก็ทำไม่ได้ กก.สรรหาเป็น ส.ว….กม.ไม่ห้าม แต่ทำได้ : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงหลักการตามกฎหมายมหาชนตามมา จนถึงขณะนี้ยังไม่จบสิ้น

หลักการที่ว่า กฎหมายห้ามกระทำการใดๆ ไว้ หากผู้ใดฝ่าฝืน ขืนกระทำย่อมถือเป็นความผิด แต่หากกฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ย่อมสามารถกระทำได้ ไม่ถือเป็นความผิด

กรณีของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงินเพื่อไปดำเนินกิจการของพรรคโดยมีสัญญาชัดเจน เป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 2 ถือเป็นความผิด กระทำการขัดต่อกฎหมาย

Advertisement

ขณะที่ผู้เห็นตรงข้ามกับคำตัดสินของ กกต. มองว่า กฎหมายพรรคการเมืองเขียนไว้เฉพาะการรับบริจาค โดยห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาท หากเกินกว่านั้นถือเป็นความผิด

กฎหมายไม่ได้เขียนเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินไว้และการกู้ยืมก็ทำโดยเปิดเผย การกู้ยืมเงินย่อมทำได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย

การที่กรรมการการเลือกตั้งฝ่ายเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติเรื่องการกู้ยืมเงินไว้ การให้กู้ยืมก็ผิดกฎหมาย เข้าลักษณะนิติกรรมอำพราง

Advertisement

ด้วยเหตุนี่แหละครับ จึงเกิดข้อถกเถียงถึงหลักการตามกฎหมายมหาชน ที่ว่ามา

แต่จนถึงวันนี้สังคมยังไม่ได้รับรู้ในรายละเอียดเท่าที่ควร นอกจากคำแถลงสั้นๆ ไม่กี่บรรทัด กกต.เสียงข้างมาก เป็นใคร เสียงข้างน้อยเป็นใคร แต่ละคนมีคำวินิจฉัยส่วนตัวอย่างไร ฝ่ายที่ตัดสินว่าผิดอ้างข้อกฎหมายอย่างไร ฝ่ายที่เห็นว่าทำได้ อ้างข้อกฎหมายประการใด

เรื่องนี้ยังเป็นความลับดำมืด

ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะปรากฏออกมาอย่างไร จะชี้ว่าพรรคการเมืองกู้ยืมเงินได้ หรือไม่ได้ แม้กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ก็ตาม

กรณีนี้น่าเทียบเคียงกับอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนนี้ การแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ไงครับ

รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และบัญญัติอีกว่าให้กระบวนการสรรหาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กรรมการสรรหากำหนด

รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนชัดว่า ห้ามกรรมการสรรหาดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก

เมื่อ คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหาตามคำสั่งที่ 1/2562 ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช.และรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานวุฒิสภา ซึ่งลาออกจากการเป็นกรรมการในเวลาต่อมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้แทน คสช.

ผลการสรรหาฯปรากฏว่า มีกรรมการสรรหาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นวุฒิสมาชิก 6 คน ได้แก่ นายพรเพชร พล.อ.ธนะศักดิ์ พล.ร.อ.ณรงค์ พล.อ.อ.ประจิน พล.ต.อ.อดุลย์ และ พล.อ.ฉัตรชัย

ในขั้นตอนการพิจารณา สาธารณชนไม่ได้รับรู้ความจริงที่แท้เป็นอย่างไร กรรมการสรรหาไม่ได้เสนอชื่อตัวเองแต่มีผู้อื่นเสนอ และในการตัดสิน ไม่ได้ลงคะแนนให้ตัวเองหรือไม่ได้อยู่ร่วมการประชุม จริงหรือไม่ กรณีนี้จึงไม่เข้าข่าย เสนอแต่งตั้งตัวเอง

อ้างหลักการเมื่อกฎหมายไม่ห้าม กรรมการสรรหาฯย่อมเป็นได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด ส่วนจะเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางหรือไม่ โดยเฉพาะวันที่ลาออกจากตำแหน่งเดิม เพื่อไปรับการเสนอชื่อ เป็นไปตามขั้นตอน และระยะเวลา ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ยังเป็นความลับอยู่ในมุมมืดอีกเช่นกัน

เมื่อเทียบเคียงกับกรณีนายธนาธรให้พรรคกู้เงิน ถูก กกต.ชี้ขาดว่า แม้กฎหมายไม่ห้าม แต่ถือว่ามีความผิด โทษหนักถึงขั้นยุบพรรค

จากสองกรณีนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า มาตรฐานการใช้ดุลยพินิจ ระหว่างหลักการ กฎหมายไม่ห้ามย่อมทำได้ กับ กฎหมายไม่ห้าม ก็ทำไม่ได้ ควรเป็นอย่างไร

ใครจะผู้ให้คำตอบที่เป็นบรรทัดฐาน มีความเป็นธรรม กับทุกฝ่าย

ภายใต้บทสรุปว่า กฎหมายมีมาตรฐานเดียว แต่การใช้ดุลยพินิจของคน ผู้ใช้กฎหมาย ต่างหาก สองมาตรฐาน

เหตุนี้เองถึงมีคำกลอนสอนใจที่ว่า กฎหมายอยู่ที่กระดาษ ความสามารถอยู่ที่คน ยังไงเล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image