จิตวิวัฒน์ : เมื่อกรุณา เราจะไม่ทำร้ายชีวิตอื่น : โดย จารุปภา วะสี

ยุคนี้เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราคุยกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รู้เรื่องมากขึ้น หลายคนคุยกับต้นไม้ และเข้าใจได้ว่าต้นไม้รู้สึกหรือต้องการอะไร อีกหลายคนเลี้ยงหมาแมวเหมือนลูก แถมลูกๆ เหล่านั้นก็สุดแสนฉลาด เข้าอกเข้าใจกันดีกับเจ้าของทุกอย่าง เหลือแค่ยังพูดภาษาคนไม่ได้เท่านั้น เหมือนว่าจะอีกนิดเดียว อีกนิดเดียวก็จะพูดได้แล้ว

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งน่าจะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้ชัดขึ้น บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสถาบันอนุกรมวิธานเชิงระบบ วิวัฒนาการ และความหลากหลายทางชีวภาพ (The Institut de Systématique, Evolution, Biodiversité-ISYEB) ประเทศฝรั่งเศส

บทความชื่อยาวๆ ว่า “ความรู้สึกร่วมและความกรุณาต่อชนิดพันธุ์อื่นๆ นั้นลดลงพร้อมช่วงเวลาของวิวัฒนาการที่แยกจากกัน” (อ่านบทความ “Empathy and compassion toward other species decrease with evolutionary divergence time evolutionary divergence time” ได้ที่ https://rdcu.be/bZDQu) นี้ เกิดจากการรวบรวมแบบสำรวจออนไลน์ 3,500 ชุด แต่ละชุดมี 22 คำถาม แต่ละคำถามมีภาพสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดที่สุ่มจากที่เตรียมไว้ทั้งหมด 52 ชนิด โดยมีสองคำถามย่อยให้ตอบ คือ “ฉันรู้สึกเหมือนจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของ …….. (เลือก 1 ใน 2 ชนิด) มากกว่า” และ “ถ้าทั้งคู่ตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต ฉันจะช่วยชีวิต …….. (เลือก 1 ใน 2 ชนิด) ก่อน” ทั้งนี้คำถามแรกเป็นการวัดความสามารถที่จะรู้สึกร่วม และคำถามหลังเป็นการวัดความกรุณาที่มีต่อพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด

ประเด็นสำคัญที่พบคือ มนุษย์สามารถรู้สึกร่วมหรือเข้าใจสภาวะอารมณ์ (empathy) ของสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับเราได้ดีกว่าชีวิตที่ต่างจากเรา โดยความรู้สึกร่วมจะลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับเวลาของวิวัฒนาการที่ห่างออกไปเป็นเส้นตรง แต่ความสามารถนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัยของผู้ตอบ เช่น เพศ อายุ ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ความเห็นเกี่ยวกับการตกปลาล่าสัตว์และเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตสัตว์ต่อมนุษย์ และพบว่าความรู้สึกกรุณาและอยากเข้าไปช่วยเหลือยามตกทุกข์ได้ยาก (compassion) ก็เกิดขึ้นสอดคล้องกับเหตุผลเรื่องลำดับวิวัฒนาการเช่นเดียวกับความรู้สึกร่วม และเปลี่ยนแปลงได้เช่นกันด้วยความคิดเชิงจริยธรรมหรือความรู้ที่มีต่อชนิดพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้น

Advertisement

บทความนี้ชี้ว่า มนุษย์มีธรรมชาติในการเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นอยู่ในยีน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเป็นชนิดพันธุ์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและร่วมมือกันได้อย่างเยี่ยมยอด นั่นเพราะเราถูกเลือกแล้วให้วิวัฒน์มาเป็นสัตว์สังคม และเราสามารถใช้พรสวรรค์นี้เพื่อรู้สึกร่วมได้กับสิ่งมีชีวิตที่มีรูปลักษณ์คล้ายเรา คือสิ่งที่มีลักษณะสมมาตรแบบมีข้างซ้ายข้างขวา ด้านหน้าด้านหลัง มีหัวที่มีปากและอวัยวะรับสัมผัสอื่นๆ แต่ถ้าเราเห็นสิ่งมีชีวิตแบบไม่สมมาตร หรือที่ยิ่งไม่มีหัวไม่มีหางด้วยแล้ว เราจะเชื่อมโยงกับตัวเองไม่ได้ นึกถึงความรู้สึกร่วมไม่ค่อยออก แล้วก็พาลสงสัยว่าสิ่งเหล่านั้นมีชีวิตหรือเปล่า

คงคล้ายๆ กับที่อยู่ๆ เราก็สงสัยขึ้นมาว่า ปะการังมีชีวิตไหม ยุง หนอน มด แมลง เจ็บเป็นหรือเปล่า ผู้เขียนเองก็เคยคิดว่าหอยแครงหอยแมลงภู่คงไม่รู้สึกอะไร คงเพราะมันไม่มีตาให้เราอ่านความรู้สึก จนเห็นมันดิ้นพล่านเวลาถูกเอาลงหม้อน้ำเดือดตอนเป็นๆ นั่นล่ะ ถึงรู้ว่าหอยก็รู้สึกได้ แม้แต่กับปลา ก็ยังมีนักมีนวิทยาแบ่งเป็นสองฝ่ายหาหลักฐานมาเถียงกันเป็นสิบๆ ปี ว่าปลารู้สึกได้จริงๆ ด้วยจิตสำนึกหรือเปล่า แล้วถ้าเรารู้ว่า ครีบอกและครีบท้องของปลาทำหน้าที่รับสัมผัสได้มากเหมือนมือทั้งสองข้างของเราล่ะ เราจะเข้าใจความรู้สึกของปลามากขึ้นไหม

ในส่วนของความกรุณา แม้ผลสำรวจจะพบเช่นเดียวกับงานวิจัยหลายชิ้นว่า ความกรุณาเกิดจากการมีความรู้สึกร่วมเป็นฐานรองรับอันแข็งแกร่ง แต่เมื่อมองจากมุมมองของวิวัฒนาการ ความปรารถนาดีต่อชีวิตสายพันธุ์อื่นจะเกิดยากมาก ถ้าเรารู้ว่าสายพันธุ์นั้นเป็นคู่แข่ง ผู้ล่า หรือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของเรา อย่างไรก็ตาม ขณะที่ความรู้สึกร่วมเป็นเหมือนสัญชาตญาณในยีน แค่ความกรุณานั้นมีโอกาสผันแปรได้มาก ทั้งยังพบว่าการตอบคำถามในประเด็นความกรุณา ผู้ตอบต้องใช้เวลาไตร่ตรองมากกว่าคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกร่วมอย่างชัดเจน และบางคนถึงกับรู้สึกอึดอัดเวลาต้องเลือกช่วยสายพันธุ์หนึ่งและทิ้งอีกสายพันธุ์หนึ่งไป

Advertisement

ความกรุณาจึงเป็นทั้งการเรียนรู้ ทักษะ และเป็นวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมอย่างเคารพซึ่งกันและกัน

แต่ตัวอย่างที่น่าสนใจในบทความนี้คือ ผู้คนให้คะแนนทั้งความรู้สึกร่วมและความกรุณากับต้นโอ๊คค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่วิวัฒนาการใกล้มนุษย์มากกว่า คนบอกว่า พวกเขารู้สึกร่วมกับต้นโอ๊คน้อยกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ตัวใหญ่ๆ แต่รู้สึกร่วมได้มากกว่าสัตว์น้ำพวกกุ้งหอยปูปลา และพืชพวกสาหร่าย เห็ด และกระบองเพชร แต่ต้นโอ๊คกลับเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับคะแนนความกรุณาสูงที่สุดในชนิดพันธุ์ทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยตีความว่า อาจเป็นเพราะต้นโอ๊คเป็นต้นไม้ใหญ่ โตช้า อายุยืน และยืนต้นตรงเหมือนเค้าโครงร่างกายมนุษย์ ซึ่งทำให้คนรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้น แม้จะไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของต้นโอ๊คมากนักก็ตาม ความรู้สึกนี้อาจพอเทียบเคียงได้กับความเคารพต้นไม้ต้นใหญ่ๆ ของบ้านเรา ที่มักเชื่อกันว่าเมื่อต้นไม้โตจนถึงอายุหนึ่งก็จะมีเทพารักษ์มาสถิตอยู่

ชนิดพันธุ์ที่ได้คะแนนความกรุณาต่ำหลุดลุ่ยกว่าชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัดคือเห็บ และไม่ใช่แค่ได้คะแนนน้อย แต่เป็นไปในลักษณะติดลบแบบเป็นปฏิปักษ์ด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามประสบการณ์ของการที่คนถูกเจ้าเห็บคุกคามเป็นประจำ แต่ที่น่าสนใจคือ สัตว์ที่มีโอกาสทำร้ายคนอย่างฉลามขาวยักษ์ กลับได้คะแนนความกรุณามากกว่ากุ้งหอยปูปลาขนาดเล็กอื่นๆ ซึ่งนักวิจัยตีความว่า อาจเกี่ยวกับการมีร่างกายใหญ่โตแบบเดียวกับต้นโอ๊คก็ได้

โดยสรุปแล้ว ประสาทสัมผัสของเรานั้นซื่อตรง เรารับรู้ความเหมือนหรือต่างของรูปลักษณ์ภายนอกที่เกิดจากความห่างของช่วงเวลาทางวิวัฒนาการได้ชัดเจน และส่งผลให้เราสามารถรู้สึกร่วมกับชนิดพันธุ์ต่างๆ ได้มากบ้างน้อยบ้างอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่ทำให้การรับรู้เฉไฉไปจากเดิมคือ จริยธรรมส่วนตัวของคนแต่ละคน รวมทั้งคุณค่าและความหมายที่เราให้กับสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมนุษย์ สิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้ความกรุณาต่อชีวิตอื่นๆ ลดลงก็คือ การดูถูกหรือเหยียดหยามว่าชนิดพันธุ์อื่นๆ นั้นต่ำกว่าหรือมีคุณค่าน้อยกว่ามนุษย์

ในการนี้ คำประกาศเบื้องต้นของแนวคิดนิเวศวิทยาเชิงลึก (Deep Ecology) ที่ว่า “สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนมีคุณค่าในตัวเอง และมีสิทธิที่จะเติบโตและงอกงามเช่นเดียวกับมนุษย์” น่าจะช่วยฝึกหัวใจของเราให้เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มความสามารถในการร่วมรู้สึกและความกรุณาต่อสายพันธุ์อื่นๆ ที่ต่างจากเราได้มากขึ้น

ขณะนี้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม มนุษย์ได้พาโลกเข้าสู่ช่วงเวลาของการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 อย่างเต็มตัว และโลกของเราก็ก้าวเลยเส้นตายของพื้นพิภพ (Planetary Boundaries) ในด้านการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปไกล ไกลมากแล้ว และนับจากนี้ โลกของเราไม่พร้อมต่อการสูญเสียชนิดพันธุ์ใดไปอีกแล้ว แม้จะเพียงชนิดเดียวก็ตาม

ในยุคที่มนุษย์มีจิตใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นความสามารถที่จะรักและใส่ใจชีวิตที่ใกล้ชิดกับเรา และทำให้ชีวิตหลายสายพันธุ์งอกงามและเบ่งบานด้วยความรักที่ได้รับ โปรดรู้ว่า เรานั่นเองที่มีศักยภาพในขยายขอบเขตของจิตให้ใหญ่ขึ้น จนสามารถเข้าใจ รัก และกรุณา ต่อชีวิตอื่นๆ เพื่อให้เราและโลกงอกงามไปด้วยกันอย่างเบิกบาน

และในวันที่น้องหมาน้องแมวของเราใกล้จะพูดคุยกับเราได้แล้ว ก็อาจเป็นวันที่เราใกล้จะพูดภาษาของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพื้นพิภพได้ด้วยเหมือนกัน

จารุปภา วะสี
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image