โรงไฟฟ้า (ขยะ) ชุมชน : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ในตอนที่แล้วได้นำเสนอเรื่อง “จาก Cluster การจัดการขยะสู่ Regional” เพื่อเป็นอีกทางเลือกของการพัฒนาระบบกำจัดขยะที่ไม่ติดอยู่กับกรอบของ Cluster หรือการรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใช้ระยะทางการขนส่ง 30-40 กิโลเมตรของรถเก็บขนขยะเป็นตัวกำหนด โดยสามารถขยายพื้นที่และระยะทางขนส่งออกไปแล้วใช้สถานีขนถ่ายและรถขนส่งขนาดใหญ่มาสนับสนุน

การขยายพื้นที่การจัดการขยะเช่นนี้เรียกกันว่า “Regional” สรุปได้ว่า “Regional” ก็คือการรวม “Cluster” หลายกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบกำจัดขยะที่มีศักยภาพจริงๆ

กลุ่มพื้นที่การจัดการขยะของท้องถิ่นแบบ “Regional” จึงเป็นอีกทางเลือกในการพัฒนาระบบกำจัดขยะด้วยการขยายขนาดของโครงการให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้มีความเหมาะสมในการลงทุน (Economy of Scale) โดยเฉพาะเมื่อต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วม แต่ทางเลือกนี้จะย้อนศร ส่วนทางกับนโยบายของรัฐที่จะทำให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยกำลังการผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ กระจายตามพื้นที่ต่างๆ และเมื่อใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงก็จะเป็น “โรงไฟฟ้า (ขยะ) ชุมชน”

ในอดีตเคยมีข้อเสนอที่ให้ “เจ้าของชีวมวลเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า” ซึ่งรัฐได้ตอบสนองด้วยการอุดหนุนราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าแบบ VSPP (Very Small Power Producer) แต่ด้วยกระบวนการแข่งขันที่รัฐกำหนดทำให้เจ้าของชีวมวลตัวจริงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดเล็กไม่สามารถยื่นข้อเสนอแข่งกับผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ที่กระโดดลงมาร่วมวง จนโรงไฟฟ้า VSPP จำนวนมากตกเป็นของผู้ประกอบการด้านพลังงาน

Advertisement

ผลักให้เจ้าของชีวมวลตัวจริงมีสถานะเป็นเพียงคนขายเชื้อเพลิง

ดังนั้น การกลับมาของโครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ในรอบนี้ จึงเกิดความหวังที่จะเห็นชุมชนหรือเจ้าของเชื้อเพลิงตัวจริงจะมีโอกาสเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้จริง และหากเป็นจริง ก็นับเป็นความสำเร็จของก้าวแรกในการกระจายอำนาจด้านการจัดการพลังงานของประเทศ

ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าขยะหรือการนำขยะเป็นเชื้อเพลิงไปผลิตพลังงานไฟฟ้ามีความแตกต่างไปจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากขยะมีองค์ประกอบที่หลากหลายไม่แน่นอน แม้มีความพยายามจะผลิตเชื้อเพลิงจากขยะชุมชนด้วยการคัดแยกเอาส่วนที่ไม่เหมาะสม มีความชื้นมากๆ ออกที่เราเรียกว่า Refuse Derived Fuel หรือ RDF แต่ก็ยังมีความปนเปื้อนค่อนข้างมากจนทำให้ผลผลิต RDF ด้อยค่าไม่จูงใจที่จะนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือแม้แต่กับโรงไฟฟ้าเอง เว้นแต่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ซึ่งใช้เทคโนโลยีการเผาที่แตกต่างออกไป

Advertisement

เชื้อเพลิงขยะแตกต่างไปจากชีวมวลซึ่งเป็นเศษหรือของเหลือจากการเกษตรหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น แกลบ เศษไม้ ชานอ้อย เป็นต้น คุณสมบัติและคุณภาพของเชื้อเพลิงที่แตกต่างกันต้องใช้เตาเผาที่มีลักษณะแตกต่างกัน

และด้วยความซับซ้อนของขยะ เตาเผาจึงแตกต่างและมีต้นทุนสูงกว่าเตาเผาชีวมวล อีกทั้งระบบบำบัดมลภาวะทั้งน้ำเสียและอากาศมีต้นทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลธรรมดาด้วย

ด้วยเหตุนี้โรงไฟฟ้าขยะจึงต้องการการสนับสนุนจากรัฐมากกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล รัฐจึงกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะไม่ว่าจะในรูปแบบ Adders หรือ Feed in Tariff (FiT) ที่สูงกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ พร้อมกันนั้นรัฐยังใช้มาตรการผ่อนปรนด้านสิ่งแวดล้อม โดยยกเว้นการจัดทำ “การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)” ให้ใช้ “ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice)” แทน

นอกจากนั้น ยังยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการด้านกำจัดขยะตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เพื่อให้โรงไฟฟ้าขยะไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเลือกสถานที่ตั้ง

มาตรการสนับสนุนและผ่อนปรนเหล่านี้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐที่ต้องการให้เกิดโรงไฟฟ้าขยะได้ง่ายและสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการด้านการจัดการขยะเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐและท้องถิ่น แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะหลายโครงการประสบอุปสรรคไม่เป็นที่ยอมรับจากชุมชน เหตุผลสำคัญคือความกังวลเรื่องผลกระทบจากกลิ่น มลพิษทางอากาศ แมลงและน้ำเสีย

ขณะเดียวกันจากมาตรการผ่อนปรนด้านสิ่งแวดล้อมได้ทำให้โรงไฟฟ้าขยะให้ความสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นลำดับแรกเพราะเป็นรายได้หลักที่สำคัญของโครงการ ส่วนการจัดการกับปัญหามลภาวะซึ่งเป็นต้นทุนและค่าใช้จ่าย ถูกจัดให้เป็นรายการที่ต้องทำเมื่อจำเป็น

โรงไฟฟ้าขยะบางแห่งจึงมีปัญหากับการบำบัดมลพิษโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน ก่อให้เกิดทรรศนะเชิงลบต่อโรงไฟฟ้าขยะซ้ำเติมเข้าไปอีก

จะเกิดอะไรขึ้น หากขยะจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนและกลายเป็นโรงไฟฟ้า (ขยะ) ชุมชน กระจายอยู่ตามชุมชน/ท้องถิ่น

โรงไฟฟ้าขยะมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตได้มากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเผาขยะที่มีพลาสติกประเภทโพลีไวนิลคลอไรด์ปะปนอยู่ เช่น ท่อพีวีซี พลาสติกในรูปของหนังเทียม สลากพลาสติกใส รวมถึงการเผาไหม้เศษอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือโซเดียมคลอไรด์ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในขยะ หรือแม้กระทั่งขยะที่ถูกปรับสภาพเป็นเชื้อเพลิง (RDF) หากอุณหภูมิในการเผาไม่สูงพอและไม่มีระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพ

มลพิษทางอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งโรงไฟฟ้าขยะที่มีขนาดเล็กเกินไปย่อมไม่สามารถลงทุนติดตั้งเตาเผาและระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพได้

ดังนั้น หากโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็กกระจายอยู่ตามชุมชนและท้องถิ่นก็เท่ากับทำให้มีแหล่งปลดปล่อยมลพิษทางอากาศกระจายไปทั่ว

ด้วยเหตุที่ระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ กลิ่นและน้ำเสียเป็นปัจจัยสำคัญของโรงไฟฟ้าขยะต้องลงทุนและมีค่าเดินระบบสูงกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น และโดยหลักการแล้ว โรงไฟฟ้าขยะมีวัตถุประสงค์หลักในการกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะจึงไม่ควรถูกนำไปร่วมในนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน

แม้กระทั่งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้ชีวมวลหรือเศษวัสดุจากภาคเกษตรเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีปัจจัยก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตน้อยกว่าโรงไฟฟ้าขยะ เมื่อรัฐสนับสนุนรัฐก็ต้องมั่นใจว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีความพร้อมในการตรวจวัดผลกระทบไม่ให้เกินมาตรฐาน เช่นฝุ่นขนาดเล็กจากการเผา น้ำเสียและเถ้า

โดยต้องมีมาตรการที่สามารถบังคับใช้ได้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องออกแรงปิดโรงงานกันเองเหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image