‘เสถียรภาพ’ ต่างมุมมอง : โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

การเมืองหลังปีใหม่ดูจะชัดเจนขึ้นในความเป็นไปที่ว่า “เสถียรภาพรัฐบาล” เป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น และคงอยู่

ฉายา “อิเหนาเมาหมัด” แห่ง “รัฐเชียงกง” ที่ “นักข่าวทำเนียบรัฐบาล” ตั้งให้

ตามด้วยกระแส “เบื่อนายกฯ” อันเริ่มต้นจากสายตาประชาชนที่มอง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในวันที่ไปแจกของที่สถานีขนส่งหมอชิต

เมื่อย้อนไปดูสภาวะเศรษฐกิจซึ่งกระทบต่อปากท้องประชาชน

Advertisement

ไม่ว่าใครย่อมเล็งเห็นได้ว่า “รัฐบาล” หลังปีใหม่น่าจะต้องรับแรงกดดันหนักแน่นอน

และเมื่อผสมกับความเป็นไปทางการเมืองที่อาการของ “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะประชาธิปัตย์เริ่มส่อแววให้เห็นว่าอาจจะควบคุมให้เหมือนเดิมยากขึ้น

พร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มเข้าสู่วาระของ “คณะกรรมาธิการ” ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมา เช่นเดียวกับ “คณะกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องคนสูญหาย” ชัดเจนว่าการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรเริ่มเข้าสู่ประเด็นซึ่งอ่อนไหวต่อการแตะต้องการใช้อำนาจมากขึ้น

Advertisement

เหล่านี้ “รัฐบาล” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับมือในแบบเข้มข้น

หากติดตามอารมณ์ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะพบว่ามีการแสดงออกที่จะสะท้อนว่าอยู่ในสภาวะถูกกดดันถี่ขึ้นในช่วงนี้

เริ่มจะพูดถึง “ความสงบ รัฐบาลต้องการเสถียรภาพ” บ่อยขึ้น

ด้วยอาการโดยรวมเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะมีการวิเคราะห์รัฐบาลอาจจะหนีไม่พ้นต้องถูกเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหากมองด้วยความคิดที่คล้อยไปตามประสบการณ์ที่เคยเป็นมา

อาการเช่นนี้ของรัฐบาลย่อมสะท้อนว่าไปต่อไม่ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างไม่มากก็น้อย

การ “ปรับ ครม.” เป็นขั้นต่ำที่สุด

อย่างไรก็ตาม นั่นอาจจะเป็นการมองผ่านประสบการณ์เก่าที่อาจจะไม่ใช่แนวโน้มที่เป็นไปในยุคสมัยเช่นนี้

อำนาจอธิปไตยที่ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” อย่างเข้มข้น สร้างกลไกที่เปิดทางให้รักษาเสถียรภาพได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

“อำนาจบริหาร” ที่รองรับไว้ด้วยโครงสร้างอันมั่นคงจากกลไกราชการที่เกื้อหนุนรับใช้เต็มที่ในทุกบริบท

“อำนาจนิติบัญญัติ” ที่สัดส่วนของผู้จงรักเพราะต้องกตัญญูต่อผู้แต่งตั้งในจำนวนที่คุ้มครองได้สบายๆ และในส่วนของผู้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเหลือผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบจริงเพียงน้อยนิด กระทั่งฝ่ายค้านด้วยกันเองยังไว้วางใจว่าจะทำหน้าที่อย่างมั่นคงไม่ได้

“อำนาจตุลาการ” ที่มีการแต่งตั้ง “องค์กรอิสระ” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผู้พิพากษาในศาลปกติ

เหล่านี้ล้วนคุ้มครองให้ผู้มีอำนาจยังเชื่อมั่นในเสถียรภาพได้เต็มที่

ในช่วงท้ายของปียิ่งชัดเจน ว่าในกลไกตรวจสอบที่มีน้อยนิด ยังมีการจัดการอย่างเข้มข้นให้พลังถอยลง

ซึ่งส่อเค้าจะเป็นการจัดการที่รุนแรงในระดับที่ทำให้พ้นจากบทบาทการตรวจสอบ

นี่เป็นเสถียรภาพอีกมุมหนึ่ง

ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน และกลุ่มการเมืองที่ห่วงใยความเป็นไปของประเทศ อาจจะคิดเอาว่าไม่มีทางที่รัฐบาลจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ ท่ามกลางความเสื่อมทรุดในศรัทธาต่อฝีมือความสามารถในการบริหารประเทศ และคุณธรรมการใช้อำนาจ

ความเบื่อหน่าย และสิ้นหวังของประชาชนจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง

แต่ในซีกของกลไกอำนาจ ที่จะผลึกกำลังกันอย่างเข้มข้น และเอาเป็นเอาตายต่อทุกอย่างที่สร้างแรงกดดัน บีบคั้น ตรวจสอบ กลับไปอีกทาง ในมุมมองซีกนี้ “เสถียรภาพของรัฐบาล” ไม่มีปัญหาแรงกดดันจนจัดการไม่ได้

มีความเชื่อว่าไม่มีแรงกดดันอะไรที่มีพลังพอทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

รัฐบาลจะยังมีความมั่นคง

ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนไม่ได้มีความหมายในเชิงพลังที่กระทบต่อกลไกอำนาจที่วางไว้ได้

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image