สัญญาณเตือน จากฉายา ครม. ถึงกรณีที่ ‘หมอชิต’

2562 กำลังผ่านไป

เศรษฐกิจในกระแสเปลี่ยนแปลงเกรี้ยวกราดของโลก กลายเป็นโจทย์หินสำหรับผู้นำประเทศทุกหนแห่ง

ส่งผลต่อการเมือง และสังคม ในทุกพื้นที่ของโลก รวมถึงประเทศไทย

ใครเข้ามาเป็นรัฐบาล มีแต่เหนื่อยสถานเดียว

Advertisement

กฎกติกาที่ดีไซน์ไว้ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 กำหนดให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้ามาแก้โจทย์ที่ตัวเองผูกเอาไว้

เหมือนตกหลุมพรางที่ขุดไว้เอง ด้วยรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้ทุกเรื่องดูเหมือนจะยากไปหมด

รัฐบาลเดินหน้าตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญใหม่ บริหารประเทศโดยไม่มีอาญาสิทธิมาตรา 44

Advertisement

ผลงานเป็นอย่างไร เห็นได้จากเสียงวิจารณ์ที่กระหึ่มอยู่ทั่วไป

ตัวชี้วัดสำคัญ อาจจะเห็นได้จากฉายารัฐบาลที่ตั้งโดยนักข่าวทำเนียบในปีนี้

รัฐบาลได้ชื่อว่า “รัฐเชียงกง” พร้อมกับคำอธิบายว่า สะท้อนภาพรัฐบาล คล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจาก ข้าราชการยุคก่อน และนักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือสะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฉายา “อิเหนาเมาหมัด” ตามสุภาษิต “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”

พร้อมกับคำอธิบายว่า แนวทางปฏิบัติและนโยบายของนายกฯหลายเรื่อง มักตำหนิ หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต สุดท้ายกลับมาทำเอง

เช่น โครงการประชานิยม บอกไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา ไม่อยากเล่นการเมืองก็หนีไม่พ้น หนีการตอบกระทู้ในสภา มองข้ามข้อครหาเรื่องงูเห่าการเมือง การซื้อตัว ส.ส. ตั้งคนมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา

ยอมให้พรรคที่สนับสนุนใช้นโยบายค่าแรงหาเสียงทั้งที่เคยตำหนิว่าการขึ้นค่าแรงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

อีกทั้งไม่สามารถควบคุมให้รัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ เกิดปัญหาติดขัดการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และฝ่ายตรงข้ามรุมเร้า คล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี

นั่นคือความเห็น ข้อสังเกตจากกลุ่มนักข่าวที่ทำงานเกาะติดใกล้นายกฯ มากที่สุด

และที่เป็นข่าวหน้า 1 ของสื่อต่างๆ เมื่อเช้าวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นประธานเปิดงาน “ปีใหม่ปลอดภัยเมาไม่ขับ” ที่สถานีขนส่งหมอชิต กรุงเทพฯ

ก่อนออกเดินทักทาย แจกยา ลูกอม และไปพบหญิงสาวที่มารอขึ้นรถโดยสาร นั่งหน้าเรียบเฉย

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำถามนำ ถามว่า “เบื่อนายกฯใช่ไหม” หญิงดังกล่าวพยักหน้ารับ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เบื่อใช่ไหม โอเค ไม่เป็นไร คุณเบื่อผมอย่างไร ผมก็เบื่อคุณไม่ได้ เพราะคุณเป็นคนไทย จำไว้ ไม่เป็นไร ขอบคุณที่เบื่อ”

นับว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์เผชิญสถานการณ์เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สถานีขนส่งหมอชิต ถือเป็นภาพสะท้อนที่ตรงไปตรงมา ซึ่งนายกฯ และทีมงานควรรับฟัง

แน่นอนว่าผู้ที่ชื่นชมนายกฯ มีอยู่ไม่น้อย และมักจะมีโอกาสได้ต้อนรับและเข้าถึงนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อเดินสายตรวจราชการ

แต่ผู้ที่เห็นต่างออกไปก็น่าจะมีไม่น้อยเช่นเดียวกัน เห็นได้ง่ายๆ จากผลการเลือกตั้ง 24 มี.ค.

พรรคที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้รับคะแนนล้นหลาม

การบริหารงานต่อๆ มาของรัฐบาล ก็ยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่าสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในภาพกว้าง

เข้าสู่ปีใหม่ 2563 กรณีที่ขนส่งหมอชิต จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการยกระดับการทำงานของรัฐบาล

ที่ผ่านมา ในสภาผู้แทนฯ บรรดา ส.ส.ก็พยายามสะท้อนความเห็นของประชาชน เพื่อให้รัฐบาลรับทราบไปหาแนวทางแก้ไข

แต่เสียงจาก ส.ส. ที่มีพรรคสังกัด พล.อ.ประยุทธ์อาจจะยังไม่มั่นใจว่า มาจากอคติทางการเมืองหรือไม่

หลังจากนี้ไป หากรัฐบาลพยายามใช้กลไก ส.ส.พรรครัฐบาล สดับตรับฟัง รวบรวมความคิดความเห็นของประชาชน

อาจจะเห็นอาการเดียวกับกรณีที่ “สถานีขนส่งหมอชิต” มากขึ้นก็ได้ และอาจจะมีรายละเอียดประกอบเพิ่มขึ้น

ที่มาที่ไปของฉายารัฐบาลจากสื่อทำเนียบ และอาการของผู้โดยสารสตรีที่สถานีขนส่งหมอชิต คงไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม

แต่มาจากเหตุ คือ การทำงานของรัฐบาล ที่ยังไม่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน

โดยเฉพาะประชาชนที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ รับเงินค่าจ้าง ค้าขายในระดับสายป่านไม่ยาวมากนัก หรือทำการเกษตร หมุนเวียนเงินทุนปีต่อปี

เป็นส่วนหนึ่งของสภาพกระแสความนิยม หรือ “เรตติ้ง” ของรัฐบาลที่กำลังเริ่มเป็นปัญหา และอาจจะหนักหน่วงมากขึ้นในปี 2563

คำถามก็คือ รัฐบาลจะเรียกความเชื่อถือเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างไร

ภายใต้ระบบการเมือง และกฎกติกาปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทำได้ยากมาก ไม่ว่าผลการบริหารจะเป็นอย่างไรก็ตาม

เพราะสุดท้าย นายกรัฐมนตรีต้องได้รับไฟเขียวจากวุฒิสภา 250 คน จากการแต่งตั้งของ คสช.

นับเป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของการเมือง

และปรากฏการณ์เหล่านี้ ประมวลรวมกันแล้ว คือที่มาของอาการ “เบื่อ”

เป็นสถานการณ์อันอ่อนไหว และจัดการด้วยการห้ามปรามไม่ได้
แต่จะต้องแก้ไขที่รากฐานที่มาของอาการเบื่อ

และต้องระวังด้วยว่า หากไม่ระมัดระวังการบริหารจัดการให้ดี

ขณะที่ฝ่ายบริหาร “เหนื่อย” ประชาชนผู้รอคอยการแก้ปัญหา ก็จะ “เบื่อ”

และอาจกลายเป็นวิกฤตได้ง่ายๆ หากอาการ “เบื่อ” ลุกลามออกไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image