เรื่องล้อที่ไม่ใช่เล่น โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

การล้อเลียนฝังรากลงสู่ผู้คนในสังคมเรานับตั้งแต่วัยเยาว์

เอาเป็นว่านับตั้งแต่เราเข้าเรียนชั้นประถม ชื่อเล่นที่พ่อแม่ตั้งให้ก็ถูกวางไว้หน้ารั้วโรงเรียน เพราะในอาณาเขตนั้น เพื่อนๆ จะตั้งชื่อเล่นให้คุณตามลักษณะที่เขาเห็น เช่น โย่ง ดำ เตี้ย อ้วน ตี๋ แว่น ฯลฯ บางโรงเรียนถึงกับมี “ประเพณี” ในการตั้งชื่อเล่นใหม่ด้วยนัยล้อเลียนให้แก่รุ่นเพื่อนรุ่นน้องเลยก็มี อย่างที่คอการเมืองคงทราบว่า อดีตนายกฯทักษิณไม่ได้มีชื่อเล่นที่พ่อแม่ตั้งให้ว่า “แม้ว” หรืออดีตนายกฯอีกท่านก็ไม่ได้ชื่อเล่นจริงๆ ว่า “จิ๋ว”

ชีวิตในรั้วโรงเรียนจึงเป็นฝันร้ายสำหรับเด็กที่มีลักษณะทางกายภาพปรากฏออกมา “แตกต่าง” เด่นชัดจากคนอื่น และโหดร้ายเป็นพิเศษขึ้นอีกสำหรับเด็กพิการหรือมีรูปร่างหน้าตาผิดจากเด็กอื่น อาจจะโดยกำเนิดหรือโดยอุบัติเหตุ หรือมีเพศสภาพไม่ตรงกับกายภาพก็ตาม ก็เป็นเหยื่อชั้นดีของการล้อเลียน

หากรื้อค้นเข้าไปในความทรงจำรางเลือนวัยเยาว์ เราทุกคนต่างมีเพื่อนสักคนในห้อง เพื่อนที่อ่อนแอที่สุด มีลักษณะแปลกประหลาดทางกายภาพ เช่น ใส่แว่นหนา ขาเป๋ มีนิ้วเกิน เขาพวกนั้นจะถูกตั้งฉายาและล้อเลียน เป็นมนุษย์ที่อยู่ในสถานะต่ำสุดในชั้นเรียน เป็นใครที่อาจถูกแกล้งและรังเกียจ เช่น เด็กผู้หญิงที่รูปร่างหน้าตาไม่ดีที่สุดในชั้นจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้อเลียนของเด็กชาย ใครที่ถูกล้อให้เป็นแฟนกับ “ยัยอัปลักษณ์” ประจำห้องจะต้องเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ นี่คือความทรงจำมืดเทาที่เรามักมีร่วมกันในวันวาน

Advertisement

ต่อให้มีการสร้างข้อห้ามหรือมารยาททางสังคมใหม่ผ่านกระบวนการกำหนด “วาทจรรยา” หรือ political correctness แต่ก็ปรากฏว่าคนก็อดไม่ได้ที่จะล้อเลียนกันอยู่ดี จนกระทั่งการล้อเลียนบางอย่างนั้นมีนัยเหยียดหยามที่รุนแรง จนต้องมีกฎหมายหรือระเบียบอื่นใดมาห้ามไว้ เช่น การโยนกล้วยให้คนผิวดำนั้นในบริบทตะวันตกถือเป็นการ “ล้อเลียน” ที่เป็นการเหยียดผิว และอาจจะผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน

ทำไมคนเราถึงชอบล้อเลียนกันหรือ มีผู้อธิบายว่าการล้อเลียนนั้นลดทอนบุคคลที่ถูกล้อเลียนให้กลายเป็นตัวตลก และเมื่อเป็นตัวตลกเสียแล้ว ผู้ที่ถูกล้อเลียนนั้นก็จะสูญเสียความเป็นตัวตนบางอย่างไป เช่น การตั้งฉายาล้อเลียน ก็เพื่อสร้าง “ตัวตน” ใหม่ ในสายตาของผู้ล้อเลียนให้ผู้ถูกล้อเลียน ไม่ว่าก่อนหน้านี้คนนั้นจะถูกเรียกมาอย่างไร แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ล้อเลียนแล้ว แกคือไอ้เตี้ย ไอ้เป๋ ไอ้เหล่ ไอ้แว่น การล้อเลียนแบบนี้คือการกดอีกฝ่ายลงต่ำกว่าเพื่อแสดงอำนาจเหนือ

กระนั้นในบางครั้ง การล้อเลียนก็อาจจะถูกนำมาใช้เป็น “อาวุธของผู้อ่อนแอกว่า” หรือ Weapon of the weak ได้แก่ การล้อเลียนผู้อยู่ในระดับสูงกว่า เช่น ผู้ปกครองหรือจอมเผด็จการผู้ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญ น่ากลัว แต่ในอีกนัยหนึ่ง ผู้อยู่สูงเหล่านั้นต่างก็เป็นเป้าที่ดีของการถูกล้อเลียน ในนิทานพื้นบ้านหลายเรื่อง จะมีเนื้อหาที่ตรงกันหลายๆ ที่ในโลกว่าบรรดา “ผู้ยิ่งใหญ่” นี้ก็โง่เง่าได้ไม่แตกต่างจากชาวบ้าน เช่นเรื่อง “พระราชาเปลือย” หรือนิทานชุด “เซี่ยงเมี่ยง” ซึ่งแกล้งได้ทั้ง “พระภิกษุ” ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในทางธรรม และ “พระยา” ผู้ยิ่งใหญ่ในทางโลก นิทานเหล่านั้นอาจจะแสดงถึงการล้อเลียนในความหมายนี้ และจนกระทั่งบัดนี้ การล้อเลียนในลักษณะดังกล่าวก็ปรากฏในรูปของการ์ตูนภาพล้อ หรือในยุคโซเชียลมีเดียก็ได้แต่การตัดต่อภาพล้อเลียนต่างๆ แต่การล้อเลียนผู้อยู่ “เหนือกว่า” ดังว่านั้น ก็เป็นการล้อเลียนในเชิงสถานะและอำนาจมากกว่า แม้จะมีการหลุดล้อเลียนเรื่องลักษณะทางกายภาพและเพศสภาพบ้างก็ตาม หากเป็นกรณีหลัง การล้อเลียนที่อาจเป็น “อาวุธของผู้อ่อนแอ” ก็ออกจะเป็นอาวุธที่ยิงเข้าไปใต้เข็มขัดและถลำลึกลงไปในส่วนเทาเข้มของการละเมิดสิทธิในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Advertisement

ในทางกฎหมายแล้ว เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาว่าเพียงการล้อเลียนนั้นยังไม่ถือเป็นหมิ่นประมาท โดยฎีกานั้นเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปล้อเลียนผู้ยิ่งใหญ่ประจำจังหวัดว่าทำตัวยิ่งกว่านายตำรวจเสียอีก ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายผู้ซึ่งอยู่ในฐานะที่อาจถูกบุคคลอื่นล้อเลียนได้ แม้จะมีข้อความหยาบคายหรือกล่าวเกินไปบ้าง แต่ก็รวมอยู่ในข้อความล้อเลียนย่อมไม่เป็นหมิ่นประมาท (คำพิพากษาฎีกาที่ 1752/2514) หรือถ้าใครสักคนถูกล้อเลียนแล้วอดรนทนไม่ไหวก็โต้ตอบทางกายภาพต่อผู้มาล้อเลียนบ้าง จะอ้างบันดาลโทสะเพื่อจะได้รับโทษน้อยลงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่นั้น ยังไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลออกมา จึงต้องขึ้นกับว่า ศาลจะมองว่าการล้อเลียนนั้นถึงขนาดว่าเป็นการ “ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” หรือไม่ ก็อาจจะต้องรอดูบรรทัดฐาน แต่ถ้าถึงขั้นรังแกกันหนักๆ เช่น เอาฝ่าเท้าไปลูบศีรษะเขา หรือเที่ยวพูดไปทั่วว่าแม่ของใครเป็นโสเภณี ก็มีแนวว่าใครที่ถูกกลั่นแกล้งรังแกเอาแบบนั้นอาจจะอ้างบันดาลโทสะและตอบโต้เอาได้

ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นคดีครึกโครมเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายผู้พิการจนตายที่เป็นข่าวฮือฮาและดรามากันไปมาในโลกโซเชียลนั้น ก็เป็นเรื่องที่มีชนวนเหตุมาจากการ “ล้อเลียน” เรื่องความพิการด้วยเช่นกัน

การล้อเลียนจึงไม่ใช่เรื่องสนุกเท่าไร เพราะสำหรับผู้ล้อเลียนแล้ว เราอาจจะเป็นคนแรกที่เริ่มต้นล้อเลียนเขา ล้อแค่ประโยคนั้นคำนั้นคำเดียว หรือเราอาจจะเป็นแค่คนหนึ่งที่เรียกเขาด้วยชื่อสมญาที่ใครๆ เขาก็เรียกกัน แต่สำหรับผู้ตกเป็นเป้าแห่งการล้อเลียนแล้ว นี่อาจจะเป็นครั้งที่หนึ่งล้านเจ็ดแสน ที่ถูกเรียกว่าอ้วน เป๋ แว่น ตุ๊ด ฯลฯ หรือเรียกด้วยสมญานามที่ทำร้ายจิตใจ

ยิ่งในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เทคโนโลยีทำให้การล้อเลียนนั้นสามารถส่งต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด และไม่อาจลบไปเสียทั้งหมดได้ ข้อความล้อเลียนนั้นอาจจะหลอกหลอนผู้ถูกล้อเลียนไปนานนับสิบปี จากการตัดต่อล้อเลียนเพียงครั้งเดียวและเผยแพร่เท่านั้น การล้อเลียนนั้นก็จะกรีดแผลลงไปยังจิตใจของผู้เป็นเหยื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชั่วกัปชั่วกัลป์

เรื่องล้อเลียนจึงไม่ควรเป็นเรื่องล้อเล่น และทุกคนในฐานะปัจเจกชนควรจะมีสิทธิในการแสดงออกโดยเต็มที่ว่าตนเองไม่ต้องการจะถูกล้อเลียนอีกต่อไป และสิทธินั้นต้องได้รับการเคารพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image