สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระอภัยมณี make love, not war วรรณกรรมต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น

พระอภัยมณีเป่าปี่ ที่อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อ. แกลง จ. ระยอง (ภาพโดย ปานตะวัน รัฐสีมา)

พระอภัยมณีเป็นวรรณคดีการเมืองต่อต้านสงครามล่าเมืองขึ้น แต่ใช้กลวิธีแต่งเป็นนิทานกลอนเคลือบไว้อย่างสนิท จนคนอ่านไม่ทันคิดหรือคิดไม่ทัน
สุนทรภู่ไม่ได้เขียนบอกว่าลงมือแต่งพระอภัยมณีเมื่อไร แต่นักวรรณคดีรุ่นก่อนๆ เห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะเริ่มแต่งตอนเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม ราว พ.ศ. 2376 ในแผ่นดิน ร.3 ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุราว 47 ปี
ก่อนหน้าสุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี อังกฤษส่งกองทัพยึดเมืองหงสาวดี เมื่อ พ.ศ. 2368 พม่ายอมสงบศึก เสียดินแดนด้านยะไข่ลงมาถึงดินแดนตอนล่างด้านตะนาวศรี ทั้งหมด ปัจจุบันถ้าเทียบดินแดนไทยก็ตั้งแต่ราว จ. ตาก ลงไปถึง จ. ระนอง  อังกฤษยึดครองอินเดียตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา แล้วยึดครองลังกาเป็นอาณานิคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2338 ในแผ่นดิน ร.1 ขณะนั้นสุนทรภู่อายุ 9 ขวบ
พฤติกรรมล่าเมืองขึ้นของอังกฤษด้วยการสงครามล้างผลาญอย่างรุนแรง ย่อมเป็นที่รับรู้ในหมู่คนชั้นนำของกรุงสยาม ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงแผ่นดิน ร.3

สุนทรภู่ซึ่งเป็นปราชญ์ราชสำนักใน ร.2 มาก่อน ย่อมรู้อยู่แก่ใจ เลยจินตนาการสร้างเป็นนิทานกลอนขึ้นมาชื่อพระอภัยมณี ใช้ปี่เป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาวิชาความรู้ให้แก้ปัญหาด้วยปัญญาและสันติภาพ
อังกฤษขยายอิทธิพลเข้าแหลมมลายู ตั้งแต่สมัย ร.1 เริ่มด้วยขอเช่าเกาะหมาก(ปีนัง) แล้วพยายามขยายไปที่อื่นๆ ล้วนเป็นอันตรายต่อกรุงสยาม
ร.2 ทรงฟื้นฟูเมืองถลาง จนทวีความสำคัญขึ้นเป็นเมืองภูเก็ต

บรรยากาศการค้ากับการเมืองเหล่านี้ มิได้รอดพ้นความรับรู้ของสุนทรภู่ จึงสร้าง นิยายนานาชาติเรื่องพระอภัยมณีขึ้นมา โดยใช้ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเป็นฉากให้สมจริง

เมืองผลึก คือ ถลาง “จังซีลอน” จ. ภูเก็ต

เมืองผลึก เป็นเมืองสำคัญ “คู่รัก-คู่แค้น-คู่สงคราม” กับเมืองลังกาตลอดเรื่อง พระอภัยมณี
กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องพระอภัยมณี ก็คือกรณีพิพาทระหว่างเมืองผลึก กับเมืองลังกา อยู่ตรงข้ามกันทางทะเลอันดามัน มีบอกไว้ตอนฝ่ายลังกาจะยกกองทัพไปตีเมืองผลึก ดังนี้

Advertisement

ฝ่ายลังกาฝรั่งอยู่หลังถนน      พอพักพลฝึกทหารชาญสนาม
ออกจากฝั่งวังวนถนนพระราม     แล้วยกข้ามฟากมาสิบห้าคืน
ถึงเขตคุ้งกรุงผลึกนึกประหลาด ไม่เห็นลาดตระเวนแขวงมาแข็งขืน
เข้าปากน้ำสำคัญให้ลั่นปืน     เสียงปึงปังดังครืนทั้งธรณี

ตรงที่บอกว่า “ยกข้ามฟาก” จากถนนพระราม (ระหว่างอินเดีย-ลังกา) ย่อมหมายถึงข้ามทะเลอันดามัน แสดงว่าเมืองผลึกอยู่ตรงข้ามถนนพระราม

แผนที่ภูเก็ตเกาะจังซีลอน และชายฝั่งเคดาห์ (ทางขวาคือทิศเหนือ) วาดโดย Joannes van Keulen พิมพ์ในอัมสเตอร์ดัม เมื่อปี พ.ศ. 2296 (ภาพจาก สไตล์อันดามัน อารยธรรมคาบสมุทรสยาม โดย ปิงคล์สวัสดิ์ อัมระนันทน์, กรุงเทพฯ : Amulet Production, 2545)
แผนที่ภูเก็ตเกาะจังซีลอน และชายฝั่งเคดาห์ (ทางขวาคือทิศเหนือ) วาดโดย Joannes van Keulen พิมพ์ในอัมสเตอร์ดัม เมื่อปี พ.ศ. 2296 (ภาพจาก สไตล์อันดามัน อารยธรรมคาบสมุทรสยาม โดย ปิงคล์สวัสดิ์ อัมระนันทน์, กรุงเทพฯ : Amulet Production, 2545)

ในทางกลับกันเมื่อนางสุวรรณมาลีมีใบบอกเมืองรมจักรกับเมืองการะเวกซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน ให้ยกกองทัพไปลังกาก็ระบุว่า “ให้รีบตามข้ามฝั่งไปลังกา” – “ก็ถึงฟากฝั่งลังกาท่าสงคราม”

Advertisement

ฝั่งตรงข้ามลังกาโดยประมาณก็คือบริเวณที่ทุกวันนี้เป็นเกาะ จ. ภูเก็ต แต่ในสมัย สุนทรภู่ยังเรียก “เมืองถลาง”

สุนทรภู่บรรยายเมืองผลึกไว้ว่า จะกล่าวเรื่องเมืองผลึกราชฐาน ป้อมปราการเชิงเทินล้วนเนินผา

ซุ้มทวารบานบังใบเสมา        ล้วนศิลาเลื่อมลายดูพรายแพรว
มีปราสาทสูงเยี่ยมขึ้นเทียมเมฆ       อดิเรกรุ่งฟ้าเวหาหาว
นภศูลแสงแก้วดูแวววาว       ดังดวงดาวเด่นกระจ่างอยู่กลางวัน
พระโรงธารชานพักตำหนักแก้ว      แต่ล้วนแล้วด้วยมุกดาฝาผนัง
ทั้งเสื้อผ้าเงินทองสิบสองคลัง      ก็มั่งคั่งยิ่งกว่าทุกธานี
อันไพร่ฟ้าประชาชนออกล้นหลาม      นิคมคามประเทศล้วนเศรษฐี
ทั้งโหราพฤฒามาตย์ราชกวี          ชาวบุรีเริงรื่นทุกคืนวัน

สมรภูมิศึกถลางที่ ต. เทพกระษัตรี และ ต. เชิงทะเล อ. ถลาง จ. ภูเก็ต ที่สุนทรภู่รับรู้ แล้วยกเหตุการณ์มาจำลองไว้ในพระอภัยมณี (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 12, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542)
สมรภูมิศึกถลางที่ ต. เทพกระษัตรี และ ต. เชิงทะเล อ. ถลาง จ. ภูเก็ต ที่สุนทรภู่รับรู้ แล้วยกเหตุการณ์มาจำลองไว้ในพระอภัยมณี (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 12, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542)

 

อันที่จริงการบรรยายบ้านเมืองเอกในนิยายอย่างเมืองผลึกนี้เป็น “ขนบ” ที่สืบมาแต่ยุคก่อนๆ ฉะนั้นไม่อาจยึดเป็น “จริง” ได้ทั้งหมด เช่น ปราสาท, ราชวัง, นภศูล, พระโรงธาร ฯลฯ รวมทั้ง “ชาวบุรีเริงรื่นทุกคืนวัน” แต่กลอนที่ว่า “ป้อมปราการเชิงเทินล้วนเนินผา” – “ล้วนศิลาเลื่อมลายดูพรายแพรว” – “แต่ล้วนแล้วด้วยมุกดาฝาผนัง” พยายามสะท้อนความเป็นเมืองที่ชื่อ “ผลึก” ซึ่งตรงกับธรรมชาติของเมืองถลาง
สุนทรภู่ไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวไปแถบชายทะเลตะวันตกถึงเมืองถลาง แต่ “ลูกศิษย์” สุนทรภู่เคยไปคือนายมี หรือ “เสมียนมี” ที่มีบรรดาศักดิ์ หมื่นพรหม สมพัตสร แล้วเขียนนิราศไว้เล่มหนึ่งคือ นิราศฉลาง (ฉลาง คือถลาง) บรรยายสภาพของเมืองถลางสมัยนั้น ทำให้สุนทรภู่รู้จักแล้วเก็บมาจินตนาการสร้างเรื่องเมืองผลึก

นิราศฉลางยังบรรยายชายหาดเมืองถลางอย่างงดงามราว “ผลึก” ว่า

มีเนินทรายชายหาดสะอาดเลี่ยน          เป็นที่เตียนเบื้องขวาเป็นป่าสน
มีเบี้ยหอยพรอยพรายลายชอบกล       ระคนปนกรวดทรายชายชลา
ทั้งเบี้ยจั่นเบี้ยไทลูกใหญ่น้อย      มากกว่าร้อยโกฏิแสนดูแน่นหนา
มีทั้งเบี้ยประหลาดสะอาดตา      ดาษดาดีดีสีต่างกัน
บ้างก็แดงแดงก่ำดังน้ำฝาง      บ้างดำด่างพร้อยพรายลายขยัน
บ้างก็เหลืองเหลืองดีดั่งสีจันทร์       ประหลาดพรรณพิศดูน่าชูชม
มีหอยสังข์สูงศักดิ์ทักขิณวัฏ        สารพัดของดีก็มีถม
มีตัวมุกสุกใสไข่กลมกลม        ในย่านยมนานั้นอำพันมี
ถูกคลื่นจัดซัดสาดขึ้นหาดกว้าง      เข้าเกยค้างกลิ่นเหม็นเหมือนเซ่นผี
ครั้นแห้งหอมกลิ่นรสหมดราคี      เนื้อเป็นสีสุวรรณอำพันทอง
พี่ดูพลางเดินพลางมากลางหาด      เลียบลีลาศริมสมุทรก็สุดหมอง
เห็นกรวดทรายพรายแพรวเป็นแก้วกอง      คิดถึงน้องนึกตรมระบมใจ

นอกจากความงามตามธรรมชาติแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การค้าและการเมือง ของชายทะเลด้านตะวันตกที่สุนทรภู่ประมวลเข้าไว้ด้วย
เหตุการณ์สำคัญอันเป็นที่รู้อยู่ทั่วกันคือ “ศึกถลาง” ที่พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางคราวสงครามเก้าทัพสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วเชื่อกันว่าสุนทรภู่ยกเอาเหตุการณ์นี้ไปใส่ฉากศึกเก้าทัพตีเมืองผลึก ดังกลอนว่า

เมืองมะหุ่งกรุงเตนกุเวนลวาด       เมืองวิลาสวิลยาชวาฉวี
ถึงเมืองเงาะเกาะวลำสำปะลี       จะชิงตีเมืองผลึกเป็นศึกรุม

เรารู้จากตัวบทแล้วว่าเมืองผลึกอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะแก้วพิสดาร ดังคำบอกของฤๅษีว่า “อันกรุงไกรไปทางทิศอิสาน แสนกันดารสารพัดจะขัดขวาง” เพราะมีคลื่นลมหนักหนาสาหัสซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้วในหมู่นักเดินเรือ

เมื่อเรือจะออกจากเกาะแก้วพิสดาร นายเรือจึงตั้งเข็มทิศไปทางอีสาน พวกพหลพลนิกรถอนสมอ บ้างขันช่อชวนกันเข้าขันกว้าน
ฝ่ายฝรั่งตั้งเข็มเต็มชำนาญ หมายอิสานสำคัญเป็นมั่นคง

ถ้าเกาะแก้วพิสดารอยู่แถบเหนือเกาะสุมาตรา (ของอินโดนีเซีย) เมืองผลึกก็จะอยู่ทางทิศอีสานตรงตำแหน่งเมืองถลาง หรือเกาะภูเก็ตพอดี

เมืองลังกา คือ ศรีลังกา เมืองขึ้นของอังกฤษ

เมืองลังกา ในเรื่องพระอภัยมณี คือเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาทุกวันนี้ ตรงกับกรุงลงกาของทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ (ชาวลังกานับถือยักษ์เป็นบรรพบุรุษ ทุกวันนี้ยังมีศาลทศกัณฐ์กับศาลพิเภก)

สุนทรภู่รู้เรื่องเมืองลังกาจากสมุดภาพไตรภูมิ และข่าวสารจากฝรั่งที่เข้าไปในบางกอก ทั้งพระสงฆ์และฝูงศรัทธาจากสยาม ต้องอาศัยโดยสารสำเภากำปั่นของพ่อค้าต่างชาติจาริกแสวงบุญไปลังกาทวีป (ซ้าย) เมื่อถึงลังกาทวีปจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาอยู่ทั่วไป (ขวา) แต่สำคัญที่สุดคือรอยพระพุทธบาท ที่จอมเขาสุมนกูฏ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2, กรมศิลปากรพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542)
สุนทรภู่รู้เรื่องเมืองลังกาจากสมุดภาพไตรภูมิ และข่าวสารจากฝรั่งที่เข้าไปในบางกอก ทั้งพระสงฆ์และฝูงศรัทธาจากสยาม ต้องอาศัยโดยสารสำเภากำปั่นของพ่อค้าต่างชาติจาริกแสวงบุญไปลังกาทวีป (ซ้าย) เมื่อถึงลังกาทวีปจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาอยู่ทั่วไป (ขวา) แต่สำคัญที่สุดคือรอยพระพุทธบาท ที่จอมเขาสุมนกูฏ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2, กรมศิลปากรพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542)

ลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทำให้สุนทรภู่วางตัวละครในลังกาเป็น “ฝรั่ง” ชาวยุโรปมีกษัตริย์เป็นผู้หญิง เหมือนพระราชินีวิกตอเรียของอังกฤษ

ลังกาเป็นชื่อประเทศ แต่ประชาชนเป็นชาวสิงหล พูดภาษาสิงหลซึ่งเป็นภาษา ตระกูลอินโด-ยูโรเปียน

ชาวสิงหลนับถือพุทธศาสนา และนับถือรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ เป็นยอดเขาสูงสุดของลังกา ชาวอังกฤษเรียกยอดเขานี้ว่า Adam’s Peak แล้วสุนทรภู่เรียกในพระอภัยมณีว่า “เขาสิงคุตร์” ดังกลอนตอนพระอภัยมณีออกบำเพ็ญพรตว่า พอเดือนยี่สี่ค่ำนำพระบาท ทรงรถราชญาติวงศ์ตามส่งหมด

เป็นสิ้นความสามพระองค์อยู่ทรงพรต      ที่บรรพตสิงคุตร์ดุจนิมนต์
ยอดคิรีมีต้นโรทันใหญ่      น้ำปลายใบหยดย้อยเหมือนฝอยฝน
ครั้นแสงแดดแผดส่องต้องมณฑล      เป็นหมอกมนมีอยู่แต่บูราณ
ด้วยคิรีนี้เป็นหลักลังกาทวีป      ยอดเหมือนกลีบจงกลมณฑลสถาน
ครั้นถึงสิบห้าวันก็บันดาล      เป็นฝนซ่านโซมสาดไม่ขาดคราว

โซ่เหล็กล่ามสามสายฝ่ายเหนือใต้         ต่างกระไดปีนป่ายเหนี่ยวสายสาว
จึงนับถือลือเลื่องเป็นเรื่องราว        มีรูปเจ้าสิงคุตร์สุดคิริน
เมื่อแรกตั้งลังกาลงมาเกิด     กล่าวกำเนิดน่าฟังหวังถวิล
ว่ารูปทรงองค์สิงคุตร์บุตรพระอินทร์      ดำเหมือนนิลกินถั่วงากินสาคู
ครั้นสิ้นเหล่าชาวลังกาจึงฝรั่ง      ยกมาตั้งทั้งเจ็ดจีนจึงกินหมู
แต่ก่อนเขาเล่ามาถึงเราจึงรู้     เท็จจริงอยู่กับผู้เฒ่าที่เล่ามา

นางละเวงวัณฬา คือ “ควีนวิกตอเรีย” ของอังกฤษ

นางละเวงวัณฬา ในพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ได้ชื่อจากพระนามควีนวิกตอเรียของอังกฤษ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1837-1901 ตรงกับ พ.ศ. 2380-2444 ตั้งแต่แผ่นดิน ร.3 ถึง ร.5)

“ควีนวิกตอเรีย” เมื่อพระชนมายุประมาณ 18 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจาก “ปิตุลา” พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2380 พระยาไทรบุรีทูลเกล้าฯ ถวายภาพวาดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2380 ขณะนั้นสุนทรภู่ออกบวชแล้วแต่งเรื่องพระอภัยมณี ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงที่ “ห้องของเล่น” บนพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ
“ควีนวิกตอเรีย” เมื่อพระชนมายุประมาณ 18 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจาก “ปิตุลา” พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2380 พระยาไทรบุรีทูลเกล้าฯ ถวายภาพวาดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2380 ขณะนั้นสุนทรภู่ออกบวชแล้วแต่งเรื่องพระอภัยมณี ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงที่ “ห้องของเล่น” บนพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ

ควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ โปรดให้ช่วยเขียนวาดภาพเหมือนของพระองค์ แล้วพระราชทานฉบับก๊อบปี้ให้บ้านเมืองต่างๆ จนตกมาถึงกรุงสยามแล้วน่าจะล่วงรู้ถึงสุนทรภู่ด้วย
ไกรฤกษ์ นานา เล่าเรื่องภาพเขียน “จ้าววิลาด” (วิลาด เป็นชื่อที่คนไทยเรียกตามภาษาปาก หมายถึงประเทศอังกฤษ) ไว้ในหนังสือ ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคต รัชกาลที่ 5 จะคัดมาให้อ่านดังนี้

หลังจากที่ควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษเสวยราชสมบัติแล้ว พระนางได้ทรงโปรดให้ เชื้อเชิญวินเตอร์ฮอลเตอร์ จิตรกรฝีมือดีชาวเยอรมัน (ปรัสเซียเดิม) เข้ามาวาดพระรูป ถวาย

ต้นแบบของพระรูปที่เขาวาดก็คือพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดเต็มพระองค์ ในวันบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2380 (ค.ศ. 1837) เมื่อควีนมีพระชนมายุ 18 พรรษา ควีนโปรดปรานพระรูปภาพนี้มาก มีพระบัญชาให้เขาวาดซ้ำ (ทำซ้ำอีกรูปหนึ่ง ในลักษณะเดียวกัน) แต่เปลี่ยนเครื่องทรงออกเล็กน้อย โดยเปลี่ยนมงกุฎเพชร เป็นมงกุฎดอกหญ้า และไม่ทรงสวมพระภูษาคลุมไหล่
พระรูปควีนภาพ “ต้นแบบจำแลง” นี้มีอยู่จริง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในพระราชวังบักกิ้งแฮม ลอนดอน
แต่ในภายหลังนายวินเตอร์ฮอลเตอร์ได้นำต้นแบบจำแลงรูปนี้ ไปทำซ้ำบนแผ่นกระดาษด้วยกรรมวิธี “พิมพ์หิน” ที่เขาชำนาญเพื่อถ่ายสำเนาออกเป็นหลายๆ ภาพ สำหรับพระราชทานไปให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และทูตานุทูตโพ้นทะเล

ภาพพิมพ์หิน “รูปจ้าววิลาด” ในเมืองไทย (ขวามือ) จัดแสดง อยู่ภายในห้อง “ห้องของเล่น”ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ “รูปจ้าววิลาด” ในเมืองไทยเป็นภาพพิมพ์หิน สร้างจากรูปวาดฝีมือนายวินเตอร์ฮอลเตอร์ ถอดแบบมาจากต้นแบบที่ 2 ซึ่งเขานำมาพิมพ์ซ้ำด้วยระบบพิมพ์หินเพื่อให้ได้ปริมาณมากๆ สำหรับควีนจะได้พระราชทานออกไปยังบุคคลต่างๆ
ภาพพิมพ์หิน “รูปจ้าววิลาด” ในเมืองไทย (ขวามือ) จัดแสดง อยู่ภายในห้อง “ห้องของเล่น”ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ “รูปจ้าววิลาด” ในเมืองไทยเป็นภาพพิมพ์หิน สร้างจากรูปวาดฝีมือนายวินเตอร์ฮอลเตอร์ ถอดแบบมาจากต้นแบบที่ 2 ซึ่งเขานำมาพิมพ์ซ้ำด้วยระบบพิมพ์หินเพื่อให้ได้ปริมาณมากๆ สำหรับควีนจะได้พระราชทานออกไปยังบุคคลต่างๆ

รูปที่ตกมาถึงเมืองไทยน่าจะเป็นรูปที่ข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอินเดียมอบให้พระยาไทรบุรีเป็นที่ระลึก หรือเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเข้ามายังกรุงเทพฯ อีกต่อหนึ่ง พระยาไทรบุรี (ตนกูดายี) จึงได้นำเข้ามาถวายประมาณปี พ.ศ. 2384 หรือ พ.ศ. 2387 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชบัญชาให้ติดไว้ภายในท้องพระโรงกลางของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเพื่อประดับพระบารมี คนไทยในสมัยนั้นเรียก รูปจ้าววิลาด

ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ ค้นพบในอังกฤษ
ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดเมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ ค้นพบในอังกฤษ

ต่อมาอีก 6 รัชกาล กินเวลาไม่ต่ำกว่า 165 ปี (พ.ศ. 2387-2552) รูปจ้าววิลาดตกทอดลงมาถึงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันเก็บรักษาและเปิดให้คนเข้าชมได้ภายใน “ห้องของเล่น” ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ
สุนทรภู่ต้องรู้เรื่องควีนวิกตอเรียกับภาพเขียน “จ้าววิลาด” จึงสร้างบุคลิกนางละเวงวัณฬาให้วิลิศมาหราคล้ายกัน แล้วให้มีรูปวาดนางละเวงที่เจ้าเมืองทั้งหลาย รวมทั้งพระอภัยมณี “หลงรูปนางละเวง” ด้วย
พระอภัยมณีได้รูปเขียนนางละเวง (จากเจ้าละมาน) เมื่อเห็นก็หลงใหลรูปเขียนนั้น มีบทพรรณนาดังนี้

ฝ่ายองค์พระอภัยเจ้าไตรจักร      ยิ่งหลงรักรูปเสน่ห์ในเลขา

ถึงยามหลับทับไว้ริมไสยา     ครั้นเวลาฟื้นองค์ก็ทรงชม
โฉมแฉล้มแก้มคางสำอางเอี่ยม        ประโลมเลียมลืมสุรางค์นางสนม
ทุกคืนค่ำรำลึกนึกนิยม      จะใคร่ชมเชยประโลมโฉมวัณฬา
—–
แล้วกลับมาหากระดาษที่วาดรูป       ประโลมจูบพักตร์น้องให้ผ่องใส
เข้าสู่ที่คลี่กระดาษรูปวาดไว้      ให้คลั่งไคล้เคลิ้มอารมณ์ไม่สมประดี

ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดฝีมือ วินเตอร์ฮอลเตอร์ ค้นพบในอังกฤษ
ควีนวิกตอเรีย ภาพวาดฝีมือ วินเตอร์ฮอลเตอร์ ค้นพบในอังกฤษ

สุนทรภู่ไม่ได้แต่ง “ตำรา” แต่แต่ง “นิยาย” ฉะนั้นย่อมเอาชื่อจากที่ต่างกัน มาอยู่รวมกันได้ เพราะเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น เช่น ละเวงวัณฬา ตั้งจากชื่อ วิกตอรีอา(Victoria) ฯลฯ
แต่ฉากจริงและชื่อจริงก็มีอยู่ เช่น ถนนพระราม มีกลอนตอนอุศเรนเกณฑ์ทัพจะไปรบเมืองผลึกว่า แล้วเดินบกยกมาลงท่าข้าม ถนนพระรามเรือแพแซ่สลอน
ยั้งหยุดจัดหัดทหารให้ราญรอน ข่าวขจรทั่วทั้งเกาะลังกา
ถนนพระราม คือแนวหินธรรมชาติจากปลายแหลมอินเดียใต้ลงไปเชื่อมเกาะลังกา แล้วผู้รจนารามเกียรติ์มีจินตนาการว่านี่คือถนนพระราม ที่พระรามให้หนุมานไปจอง(สร้าง)ถนนเพื่อยกทัพข้ามไปรบทศกัณฐ์
บันทึกจากพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปลังกาก็กล่าวถึงถนนพระรามว่าเดินทางจากเกาะนาควารี สำเภากำปั่นแล่นไป 7 วัน 7 คืน ก็ถึง “ถนนพระราม” แล้วเรือแตกเพราะไปชนแนวหิน “ถนนพระราม” นี้เอง

อังกฤษ เป็น “นายโจรใจฉกาจ” ล่าเมืองขึ้น

อังกฤษขยายอิทธิพลเข้ามาในแหลมมลายูตั้งแต่สมัย ร.1 เริ่มด้วยการขอเช่าเกาะหมาก (ปีนัง) แล้วพยายามขยายไปที่อื่นๆอีก ล้วนเป็นอันตรายต่อกรุงสยาม ทั้งนั้น
จากรายงานของครอว์เฟิร์ดที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯในสมัย ร.2 ระบุว่า “ดีบุกในกรุงสยามอุดมสมบูรณ์และมีกระจายอยู่ทั่วไปมากกว่าที่อื่นใดในโลก” แล้วย้ำว่าการผลิตดีบุกที่ “จังซีลอน” (หมายถึงเมืองถลางหรือเกาะภูเก็ต) มีปริมาณมาก แต่ยังไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสันเท่านั้น สะท้อนให้เห็นความต้องการบางอย่างของอังกฤษด้วย

ฝ่ายกรุงเทพฯ เองก็พยายามที่จะเข้าไปควบคุมหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกมาตั้งแต่สมัยต้นๆ แล้วยิ่งเมื่อรู้ว่าตลาดดีบุกเปิดกว้างขึ้น ประกอบกับมีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นที่หัวเมืองปักษ์ใต้ ทำให้ ร.2 ทรงตั้งเมืองถลางขึ้นใหม่อยู่ที่เมืองพังงาก่อน แล้วภายหลังจึงย้ายไปอยู่เมืองถลาง นับแต่นั้นมาเมืองถลางก็ทวีความสำคัญจนกระทั่งเป็นเมืองภูเก็ต
บรรยากาศด้านการค้ากับการเมืองเหล่านี้คงมิได้รอดพ้นความรับรู้ของสุนทรภู่ไปได้ ท่านจึงสร้าง “นิยาย” นานาชาติขึ้นมา โดยใช้ทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียเป็นฉากในเรื่องพระอภัยมณี
ทั้งเป็นที่รู้อยู่ทั่วกันว่าทะเลแถบนี้มีโจรสลัดชุกชุม สุนทรภู่ก็ไม่ละทิ้งความจริงข้อนี้ จึงให้สลัดกลุ่มหนึ่งเป็นพวกยุโรปมีชาติอังกฤษเป็นหัวหน้า เมื่อเรือสุวรรณมาลีแตกก็พบเรือสลัดโจรสุหรั่งอังกฤษ มีกลอนพรรณนาดังนี้

จะกล่าวฝ่ายนายโจรใจฉกาจ        เป็นเชื้อชาติอังกฤษริษยา
คุมสลัดอัศตันวิลันดา         เป็นโจราห้าหมื่นพื้นทมิฬ
มีกำปั่นนั้นยาวยี่สิบเส้น          กระทำเป็นตึกกว้านสถานถิ่น
หมากมะพร้าวส้มสูกปลูกไว้กิน         ไม่รู้สิ้นเอมโอชโภชนา
เลี้ยงทั้งแพะแกะไก่สุกรห่าน       คชสารม้ามิ่งมหิงสา
กำปั่นห้าร้อยลอยล้อมมา        เครื่องศัสตราสำหรับรบครบทุกลำ
คอยตีเรือเหนือใต้ได้สิ่งของ         เที่ยวแล่นล่องตามคลื่นทุกคืนค่ำ
มาถึงกลางหว่างบรรพตพออดน้ำ         จึงทอดกำปั่นใหญ่ในนที

ให้เรือน้อยลอยแล่นเข้าเหลี่ยมเขา       แต่ล้วนเหล่าวิลันดากะลาสี
ประทับจอดทอดท่าหน้าคิรี       พวกโยธีหาบหามตามกันมา

การที่สุนทรภู่ให้หัวหน้าโจรสลัดเป็นชาติอังกฤษ น่าจะเกี่ยวข้องกับสำนึกของคนกลุ่มหนึ่งในยุคนั้นที่รู้ว่าอังกฤษเป็นหัวโจกหรือ “โจร” ล่าอาณานิคม ดังที่มีข่าวบุกดินแดนพม่า ทำให้คนชั้นนำสยามยุคนั้นอยู่ไม่เป็นสุข

ความ “ทันสมัย” ของสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องพระอภัยมณี โดยเอาความเคลื่อนไหวทาง “เศรษฐกิจ-การเมือง” ร่วมสมัยไปสอดแทรกใส่เป็นสัญลักษณ์ไว้ จึงทำให้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งของคนอ่านสมัยนั้น ซึ่งไม่ใช่สามัญชน เพราะสามัญชนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อ่านหนังสือไม่ออก

make love, not war

สุนทรภู่ใช้ปี่เป็นสัญลักษณ์ของวิชาความรู้แก้ปัญหาด้วยปัญญา ด้วยสันติภาพ ไม่ใช้ความรุนแรง ในลักษณะเดียวกับคำขวัญของคนรุ่น “ฮิปปี้” ต่อต้านสงครามเวียดนาม ว่า make love, not war
เมื่อพบนางละเวงครั้งแรกในสนามรบนอกกรุงลังกา พระอภัยมณีก็หลงนางละเวง แล้วมีวาจาด้วยสันติภาพ ว่า

พระน้องหรือชื่อละเวงวัณฬาราช       อย่าหวั่นหวาดวิญญาณ์มารศรี
จงหยุดยั้งรั้งราจะพาที       ไม่ฆ่าตีศรีสวัสดิ์เป็นสัจจา
พี่จงจิตติดตามข้ามสมุทร       มาด้วยสุดแสนสวาทปรารถนา
จะถมชลจนกระทั่งถึงลังกา       เป็นสุธาแผ่นเดียวเจียวจริงจริง

จงแจ้งความตามในน้ำใจพี่         ไม่ราคีเคืองข้องแม่น้องหญิง
อย่าเคลือบแคลงแหนงจิตคิดประวิง      สมรมิ่งแม่วัณฬาจงปรานี
รักแรกพบของพระอภัยมณี        ทำให้ต้องเป่าปี่ชี้ชวน make love, not war ว่า
ต้อยตะริดติดตี๋เจ้าพี่เอ๋ย          จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย             แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด                 จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย               ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล
เสนาะดังวังเวงเป็นเพลงพลอด                      เสียงฉอดฉอดชดช้อยละห้อยหวน
วิเวกแว่วแจ้วในใจรัญจวน                    เป็นความชวนประโลมโฉมวัณฬา

เรือรบอังกฤษยึดพม่าทางแม่น้ำย่างกุ้ง (ภาพจาก Art of Asia, 1994)
เรือรบอังกฤษยึดพม่าทางแม่น้ำย่างกุ้ง (ภาพจาก Art of Asia, 1994)

ต่อจากนี้เป็นเหตุให้พระอภัยมณีออดอ้อนขอความรักจากนางละเวงวัณฬา ดังกลอนสุนทรภู่ตอนที่รู้กันกว้างขวาง ว่า

ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร               ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร              ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้เนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ              พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา                เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำอำไพขอให้พี่                เป็นราชสีห์สิงสู่เป็นคู่สอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง         เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป

ท้ายที่สุดบรรลุวัตถุประสงค์ make love, not war เมื่อพระอภัยมณีลวงนางละเวงวัณฬาสำเร็จ จนมีเพศสัมพันธ์เสพสมเป็นบทอัศจรรย์ ว่า

พลางโอบอุ้มจุมพิตสนิทถนอม               งามละม่อมละมุนจิตพิสมัย
ร่วมภิรมย์สมสองทำนองใน             แผ่นดินไหวจนกระทั่งหลังอานนต์
ในนทีตีคลื่นเสียงครื้นคึก              ลั่นพิลึกโลกาโกลาหล
หีบดนตรีปี่พาทย์ระนาดกล               ไม่มีคนไขดังเสียงวังเวง
อัศจรรย์ลั่นดังระฆังฆ้อง                 เสียงกึกก้องเก่งก่างโหง่งหง่างเหง่ง
ปืนประจำกำปั่นก็ลั่นเอง               เสียงครื้นเครงครึกโครมโพยมบน
สุนีบาตฟาดเสียงเปรี้ยงเปรี้ยงเปรื่อง                 กระดอนกระเดื่องดินฟ้าเป็นห่าฝน
ทุกธารถ้ำน้ำพุทะลุล้น               ท่วมถนนแนวฝั่งเกาะลังกา
สองสนิทชิดชมอารมณ์ชื่น             ระเริงรื่นเริ่มแรกแปลกภาษา
พระลืมองค์พงศ์พันธุ์สวรรยา           นางลืมวังลังกาไม่อาลัย

พระหลงรื่นชื่นกลิ่นดินถนัน             นางหลงชั้นเชิงชิดพิสมัย
แต่คลึงเคล้าเย้ายวนรัญจวนใจ             จนระงับหลับไปในไสยา ฯ

เมื่อพระอภัยมณีกับนางละเวงวัณฬา make love เรียบร้อยแล้วก็ส่งผลยิ่งใหญ่คือ not war

ปืนใหญ่ประจำเรือรบอังกฤษระดมยิงป้อมเมืองย่างกุ้ง (ภาพจาก Art of Asia, 1994)
ปืนใหญ่ประจำเรือรบอังกฤษระดมยิงป้อมเมืองย่างกุ้ง (ภาพจาก Art of Asia, 1994)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image