ปีนี้ต่อจากปีกลาย : วีรพงษ์ รามางกูร

วันนี้เป็นวันทำงานวันแรกของปีนี้ สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจและการเมืองทุกสำนักต่างก็ทำนายทายทักกันว่า จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ทำท่าจะเป็นไปในทางไม่ดี ตามภาษาสื่อมวลชนว่าปีกลาย 2562 เป็นปีเผาหลอก ส่วนปีนี้ 2563 จะเป็นปีเผาจริง

ดูท่าจะเป็นจริงตามทฤษฎี “กบต้ม” หรือ Boiling frog ที่ฝรั่งว่า เพราะธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางต่างก็ต้องปิดตัวไปตามๆ กันตามลำดับ แม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์ “ต้มยำกุ้ง” อย่างเมื่อปี 2540 ก็ตาม แต่สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจซบเซายาวหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ภาวะซึมยาว” คล้ายกับสมัยหลังภาวะวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 จนถึง พ.ศ.2531 สมัย ป๋าเปรม ติณสูลานนท์ เป็นเวลานาน 10 ปี

แต่ครั้งนี้ปัญหาดูจะเบาบางกว่า เพราะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่ขาดดุลอย่างหนัก ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีฐานะที่ค่อนข้างมั่นคง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นระบบที่ยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ โอกาสที่ค่าเงินบาทจะตกต่ำลงอย่างกะทันหันเหมือนเมื่อครั้งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เอาเงินทุนสำรองจากการกู้ไอเอมเอฟไปทุ่มต่อสู้นักเก็งกำไรค่าเงิน อย่างที่ผ่านมาคงไม่มีแล้ว และนักค้าเงินก็คงไม่มาเก็งกำไรจากการปั่นอัตราแลกเปลี่ยนอีกแล้ว

แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเจ้าเดิม ยังจะเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ความที่ยังให้คนที่ทำความเสียหายยับเยินเมื่อปี 2540 ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในคณะกรรมการนโยบายการเงิน แม้ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่นั่นก็สายเกินกาล และการไม่ยอมแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในโลกในช่วงต้นปี 2562 ถึงปลายปี 2562 เป็นการทำลายความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างเลือดเย็น

Advertisement

มีการทำนายกันว่า ถ้าขืนปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้าง “กรรมการนโยบายการเงิน” บังหน้า มีอำนาจอิสระ ไม่ขึ้นกับใครอยู่อย่างนี้ ประเทศไทยคงไม่พ้นต้องพบกับวิกฤตการณ์ค่าเงินแข็งในปี 2563 นี้อีก ถ้ายังไม่เปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ถูกครอบโดยคนที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งจากการเอาทุนสำรองไปกู้กับปีศาจการเงิน ภาวะเศรษฐกิจซึมยาวคงหนีไม่พ้น

ปี 2563 นี้ ถ้ารัฐบาลจะทำคุณูปการกับบ้านเมือง ก็ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับไปสู่ระบบให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามเดิม เลิกความคิดเอาอดีตนายธนาคารพาณิชย์มาเป็นรัฐมนตรีคลังเสีย เพราะงานนโยบายการเงินการคลังนั้นไม่เหมือนนโยบายบริหารธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งนายธนาคารพาณิชย์นั้นล้วนแล้วแต่เคยอยู่ใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะเลือกมาจากข้าราชการกระทรวงการคลัง เพราะมีวิสัยทัศน์กว้างขวางกว่า ส่วนพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยที่เคยเก่งในการเรียนหนังสือจนมี “ปมเด่น” แต่ไม่เคยทำงานในสนามจริง ทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ

Advertisement

สังเกตจากการแสดงวิสัยทัศน์ก็ดี ปาฐกถาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงถึงความ “ไม่รู้” โลกในความเป็นจริงของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือไม่รู้ “เศรษฐศาสตร์มหภาค” เพราะเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้เหมือน “เศรษฐศาสตร์จุลภาค” เวลาเรียนหนังสือก็พยายามหลีกเลี่ยงวิชานี้ ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือผู้วางนโยบายการเงินที่มีรากฐานมาจากวิชาบริหารธุรกิจ ไม่ใช่วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยตรง ถ้าสังเกตให้ดี ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชาเศรษฐศาสตร์

สาเหตุพื้นฐานของระบบการเงินของบ้านเราก็คือ การปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระเกินไปจนไม่มีการถ่วงดุล หรือ check and balance ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปัจจุบัน

ทุกครั้งที่มีวิกฤตการณ์การเงิน เกิดจากความโง่เขลาและดื้อด้านของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคราวมีความจำเป็นต้องลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ตามกฎหมายฉบับเก่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็ดี นโยบายอัตราดอกเบี้ยก็ดี แม้จะมีการถ่วงอำนาจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ดี แต่มาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาก็ต้องเสนอโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
การคลัง การเข้าสู่ตำแหน่งและการอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

การลดค่าเงินบาทและการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสมัยนั้นไม่ต้องการจะทำ เพราะกลัวจะถูกโจมตีจากสื่อมวลชนและวงการธุรกิจ ห่วงตัวเองมากกว่าบ้านเมือง จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องใช้อำนาจปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนเดิม แล้วตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ จึงสามารถลดค่าเงินบาทและปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนได้ มิฉะนั้นวิกฤตการณ์การเงินคงเกิดขึ้นอีกรอบแล้ว

คราวนี้ผลของการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็น “เป้าหมาย” ของนโยบายการเงิน เป็นเหตุให้ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในโลกในรอบปี 2562 และอาจจะแข็งต่อไปในปี 2563 คาดกันว่าอาจจะถึง 27 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งไม่มีอุตสาหกรรมใดสามารถดำรงอยู่ได้แม้แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปี 2562 อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กล้มละลาย ปี 2563 นี้ก็จะลามมาถึงมหภาคต่อไป

ปี 2563 นี้ ต้องระมัดระวังตัวจากการไม่มีนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศ ไทย โดยอ้างว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะขัดเคือง แล้วจะใช้นโยบายตอบโต้ไทยเช่นเดียวกับที่ทำกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะไทยก็เกินดุลกับสหรัฐอเมริกาแต่เป็นการกังวลที่เกินเหตุ อย่างไรเสียจีนกับอเมริกาบัดนี้ก็หย่าขาดจากกันไม่ได้เสียแล้ว เพราะผู้บริโภคและผู้ผลิตของทั้ง 2 ประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันในกิจการการค้าและการลงทุนระหว่างกันเสียแล้ว ข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไร้สาระ สำหรับประเทศที่ค่าเงินแข็งที่สุดในโลกในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

ถ้าค่าเงินจะแข็งบ้างพอประมาณ หรืออ่อนพอประมาณ อยู่กลางๆ ของโลกก็พอแล้วกันถูกเขาว่า เพราะความสามารถในการแข่งขันของเราน้อยที่สุดในประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามและอินโดนีเซีย ค่าเงินเขาอ่อนกว่าของเรา เสถียรภาพของค่าเงินจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ไม่ฟื้นตัว

การเมืองก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สืบเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งที่สุดในโลก ทำให้เศรษฐกิจซบเซาฝืดเคืองหนักกว่าปีกลาย ความที่เศรษฐกิจแบบ “กบต้ม” ซึมยาวมาหลายปี ผู้คนอดทนระบอบเผด็จการทหารที่บริหารเศรษฐกิจการเงินไม่เป็น ยอมเป็นเบี้ยล่างให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะนี้ธุรกิจสื่อสารมวลชนทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ พิมพ์ วารสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ล้มหายตายจากกันไปหมด นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งนักอ่านข่าววิทยุโทรทัศน์ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยนายทุนหาเงินมาจ่ายเลี้ยงลูกน้อง ลำพัง
รายได้จากโฆษณาอยู่ไม่ได้ เพราะธุรกิจที่เคยโฆษณาล้มระเนระนาดไปเกือบหมดแล้ว

ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจมักจะนำไปสู่ความไม่พอใจ จนเกิดกระแส “เบื่อ” ปรากฏอยู่ทั่วไปในโลกออนไลน์ ซึ่งทางการควบคุมไม่ได้เหมือนสมัยก่อน ดีแต่ว่านักข่าวรุ่นเด็กที่ไปทำข่าวที่ทำเนียบละทิ้งวิญญาณสื่อมวลชน หันไปเสพเสวนาเฮฮากับผู้นำเผด็จการ แทนที่จะอยู่ฝ่ายประชาชนก็กลับไปอยู่ฝ่ายเผด็จการ ปี 2563 นี้อาจจะต้องกลายเป็นจิ้งจกเปลี่ยนสี ถ้ากระแส “เบื่อเผด็จการ” ยกระดับขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลับเป็นฐานันดรที่ 4 ในระบอบศักดินาตามเดิม คิดเสียว่าหลับไหลไปชั่วขณะ

ปี 2563 นี้ ผู้นำที่ตั้งวุฒิสภาเอง มาเลือกตัวเองเป็นหัวหน้ารัฐบาลเอง การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมปีกลายจึงเป็นเพียงพิธีกรรม เป็นสภาทหารเกณฑ์เหมือนๆ กับยุคเลือกตั้งปี 2500 ปี 2514 ปี 2520 และปี 2535 และครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญที่สมุนเผด็จการร่างขึ้นมาให้ โดยกลุ่มนักร่างรัฐธรรมนูญร่างให้เผด็จการทหารชุดเดิม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม ร่างขึ้นมา “เพื่อตัวเอง” จะได้ครองอำนาจรัฐต่อไป ไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อใด

รัฐบาลเผด็จการอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็เพราะการส่งออกซบเซาหดตัว อุตสาหกรรมเดินเครื่องเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเพราะผู้นำไม่สามารถไปเจรจาการค้ากับประเทศยุโรปและอเมริกาได้ โดนรังเกียจ ไม่อยากคบค้ากับประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร หรือรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากระบอบเผด็จการทหาร

การต่อต้านระบอบเผด็จการของคนรุ่นใหม่จะมีเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และโลกออนไลน์ แม้ว่ากองบรรณาธิการสื่อกระแสหลักจะยังชื่นชมยินดีกับระบอบเผด็จการที่สร้างความสงบชั่วคราวระยะสั้นได้ แม้ว่ากำลังสะสมความไม่สงบสุขระยะยาว

อย่างไรเสียในระยะยาว การพัฒนาการเมืองก็ต้องเกิดขึ้น การได้อำนาจรัฐมาด้วยปากกระบอกปืน การทวงคืนอำนาจรัฐก็ต้องเกิดขึ้นนอกสภา เพราะรัฐสภาถูกเกาะกุมโดยอำนาจเผด็จการ

เศรษฐกิจและการเมืองปีนี้จึงเป็นภาคต่อจากปีกลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image