ปฏิรูปไม่ไปไหน : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ฝ่ายสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2560 ปลื้มอกปลื้มใจ ชื่นชมนักหนาว่าเป็นฉบับปราบโกงและปฏิรูปประเทศ ปรากฏว่าใช้บังคับได้เพียงปีเดียว สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไข

จะแก้อย่างไร สำเร็จหรือไม่ หรือกลายเป็นชนวนความขัดแย้งถึงขั้นยุบสภา หรือรถถังออกมาวิ่งกลางถนนอีกรอบ ต้องติดตามกันต่อไป

บทที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ทำให้เกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศถึง 13 ด้าน เสนอแผนปฏิรูปประเทศประกาศเป็นทางการครบทุกด้านเรียบร้อยแล้ว

แต่เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ซึ่งเป็นธงนำจัดทำเสร็จและประกาศภายหลังแผนปฏิรูป ทำให้ต้องปรับปรุงแผนปฏิรูปทุกแผนกันใหม่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีล่าสุด วันที่ 3 ธันวาคม 2562

Advertisement

กระบวนการปรับปรุงจะใช้เวลานานเท่าไหร่ การปฏิบัติตามแผนแม่บทและแผนปฏิรูปจะเป็น
จริงเมื่อไหร่ก็ตาม คำถามสาธารณะที่เกิดขึ้นมาตลอดคือ การปฏิรูปคืบหน้าไปถึงไหน และสิ่งที่ภาครัฐเห็นว่าเป็นการปฏิรูปนั้น สาระความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถึงระดับที่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปจริงหรือไม่ หรือยังเป็นแค่ภารกิจปกติของส่วนราชการต่างๆ ที่ต้องทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีแผนปฏิรูปหรือไม่ก็ตาม เป็นงานระดับรูทีนของส่วนราชการ ว่างั้นเถอะ

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้มีแตกต่างกันออกไป ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าคืบหน้าระดับหนึ่ง ฝ่ายคัดค้านก็สวนกลับว่าไม่เห็นคืบหน้าอะไร เท่าไหร่ สะท้อนจากเสียงของชาวบ้านร้านตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ ไม่มีส่วนร่วมเท่าที่ควร

ภายใต้ความเห็นต่างที่ว่า กลุ่มที่น่าเป็นตัวชี้วัดได้ส่วนหนึ่ง คือเสียงสะท้อนจากวุฒิสมาชิก ซึ่งมีหน้าที่ติดตามการปฏิรูปในทุกด้าน ทั้งในและนอกที่ประชุม

Advertisement

วุฒิฯคนดังคนหนึ่งที่สะท้อนคิดถึงเรื่องนี้ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กตรงไปตรงมา ทุกครั้งที่สภาพัฒน์มารายงานต่อสภาก็จะมีข้อมูลว่ากำลังดำเนินการ ซึ่งความจริงคือยังไม่ได้ทำอะไร หรือยังไม่มีอะไรคืบหน้าจากหน่วยงาน

“มาวันนี้นโยบายรัฐบาลเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อต้นเดือนธันวาคม มองไปมองมาเหมือนการซื้อเวลา หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ นายไม่สั่งก็ไม่ขับเคลื่อน ไม่มีงบ ไม่ให้งบก็ไม่ต้องทำอะไร บางหน่วยเสนอโครงการแผนงานตามแนวทางการปฏิรูปก็ถูกลดและตัดงบประมาณโดย ส.ส. สภาพการเมืองที่มีแต่การประลองกำลัง เพลี่ยงพล้ำไปมา ประชาชนจึงไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องราวดีๆ เช่นนี้”

ครับ ผมอ้างถึงข้อความจากเพจของคุณหญิง แม้เป็นเพียงเสียงเดียวก็ตาม ความเป็นจริงที่แท้เป็นอย่างไร ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่มีมุมมองไปในแนวทางเดียวกันนี้หรือไม่ ตรวจสอบประเมินได้ไม่ยากเลย

ที่ผ่านมาเหตุที่การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปไม่คืบหน้า หรือคืบหน้าน้อยมาก ฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยหลักจะเป็นส่วนราชการต่างๆ กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูป

ประเด็นนี้เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าสภาพัตน์ หรือส่วนราชการต่างๆ ก็ตามล้วนเป็นฝ่ายประจำ เป็นหน่วยปฏิบัติ ต้องดำเนินการตามแนวทางนโยบาย คำสั่งของฝ่ายนโยบาย

จําเลยหลักสำคัญที่ทำให้แผนปฏิรูปต่างๆ ล่าช้า ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงอยู่ที่ส่วนบน ส่วนหัว ฝ่ายการเมือง ไม่เอาจริง ไม่ทำจริง อย่างที่ปากพูด หรือไม่ก็ดีแต่สั่ง บอกแล้ว ย้ำแล้ว สั่งแล้ว ไปคิดกันมา อะไรทำนองนั้น

สิ่งยืนยันประการหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือ ไม่ปรากฏชัดเจนว่า พรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาลมีคณะทำงานศึกษา ติดตาม ผลักดันเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องเป็นราว

สะท้อนจากการบริหารนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ไม่ได้ยกเอาการปฏิรูปตามแผนด้านนั้นๆ ขึ้นมาเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วน กระตือรือร้นผลักดันให้หน่วยราชการในสังกัดเร่งรัดดำเนินการจนเห็นเด่นชัดเป็นพิเศษ ต่างจากนโยบายทั่วไปที่เขียนไว้กว้างๆ

เมื่อส่วนบนเรื่อยๆ มาเรียงๆ ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีโฟกัส ปฏิรูปก็ไปไม่ถึงไหน เท่านั้นเอง

ยิ่งปฏิรูปบางด้านเกิดบรรยากาศเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรแตะ อาทิ ปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น ความหวังการปฏิรูปจึงยิ่งเลือนรางไปทุกที

ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจฯ ก็ว่ากันไป แต่ปฏิรูปทหาร ปฏิรูปกองทัพ แหะๆๆ

ทั้งๆ ที่เคยมีข้อเสนอไว้ตั้งแต่คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 3 ข้อ

หนึ่งในนั้น คือ ทหารควรมุ่งเน้นปฏิบัติภารกิจหลัก โดยลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการโดยตรงของกองทัพลง โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาททางการเมือง ยังห่างไกลความเป็นจริง มาจนถึงวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image